คลังเก็บป้ายกำกับ: ขยะพลาสติก

ครั้งแรกของไทย! กับนวัตกรรมของ GC Group เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ระดับ Food Grade การันตีความปลอดภัยโดย อย.

พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เรียกสั้นๆ ว่าพลาสติกระดับฟู้ดเกรด (Food Grade)  คือพลาสติกที่สามารถสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัยไม่มีสิ่งปนเปื้อนติดไปกับอาหาร ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่า พลาสติกรีไซเคิลก็สามารถนำมาผลิตให้เป็นพลาสติกระดับฟู้ดเกรดได้ และสามารถนำมาใช้ได้จริงแล้ว แต่ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ก่อนการนำมาใช้จริง  ซึ่งกว่าจะได้รับการรับรอง นั้น สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่กระบวนการการผลิตที่ต้องมีมาตรฐานระดับสูง เพื่อให้ได้พลาสติกรีไซเคิลที่ สะอาด ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และ แอลพลา กรุ๊ป (ALPLA Group) จึงร่วมกันสร้างสร้างสรรค์เม็ดพลาสติกรีไซเคิล (PCR PET หรือ Post Consumer Recycled PET) ภายใต้แบรนด์ InnoEco เพื่อใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ความพิเศษคือเป็นการผลิตจากพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนในประเทศไทย 100% และได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade มาตรฐานระดับสากล ตอบโจทย์การลดก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero และได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เป็นเจ้าแรกในไทย

เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ได้รับการผลิตจากโรงงาน ENVICCO สามารถใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่มได้อย่างปลอดภัย ไร้สิ่งเจือปน ปลอดสารเคมีตกค้าง เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า อาหารและเครื่องดื่มที่ใส่ในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ผลิตโดย ENVICCO จะปลอดภัยอย่างแท้จริง

คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อให้สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต้องได้รับมาตรฐานระดับ Food Grade ซึ่งโรงงาน ENVICCO ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: US FDA) ถือว่ามาตรฐานระดับสากลแน่นอน และครั้งนี้ได้รับการรับรองจาก อย. ยิ่งตอกย้ำคุณภาพว่าเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ มีคุณสมบัติพิเศษที่สะอาด ปลอดภัย ไร้สิ่งเจือปน ปลอดสารเคมีตกค้าง ทำให้ผู้บริโภคทุกคนมั่นใจได้ว่า สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแน่นอน

กุนเทอร์ เลห์เนอร์ ประธาน แอลพลา กรุ๊ป (ALPLA Group) กล่าวว่า นี่เป็นการสร้างวงจรการรีไซเคิลพลาสติกแบบ Bottle-to-Bottle ด้วยการแปรสภาพขวดพลาสติกใช้แล้วให้หมุนเวียนเป็นขวดใหม่ที่สะอาดปลอดภัย และใช้บรรจุเครื่องดื่มเพื่อบริโภคในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการพิสูจน์ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและแปรรูปบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเม็ดพลาสติก PCR ไปพร้อมกับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียผ่านการใช้ทรัพยากรได้อย่างเหมาะสม

envicco

สำหรับ ENVICCO เป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากยุโรป มีระบบควบคุมคุณภาพตลอดกระบวนการผลิต มีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล 45,000 ตัน/ปี ภายใต้แบรนด์ InnoEco แบ่งเป็นเม็ดพลาสติก ชนิด PCR PET จำนวน 30,000 ตัน/ปี และ เม็ดพลาสติก ชนิด PCR HDPE จำนวน 15,000 ตัน/ปี ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณภาพสูงสม่ำเสมอ โดยใน 1 ปีสามารถช่วยลดขยะพลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนในประเทศได้ถึง 60,000 ตัน/ปี และช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่าการปลูกป่า 78,000 ไร่ หรือปลูกต้นไม้ใหญ่มากกว่า 8 ล้านต้น

GC และ แอลพลา กรุ๊ป แสดงให้เห็นถึงความต้องการช่วยโลก ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพื่อเดินหน้าตามแนวทาง Net Zero พร้อมกับให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในระดับสูงสุด การดำเนินงานนี้ถือเป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นที่ GC Group ต้องการทำให้ “ดีขึ้นเพื่อคุณ ดีขึ้นเพื่อโลก” อย่างแท้จริง

#ดีขึ้นเพื่อคุณดีขึ้นเพื่อโลก #GCChemistryForBetterLiving #เคมีที่เข้าถึงทุกความสุข

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ครั้งแรกของไทย! กับนวัตกรรมของ GC Group เม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง ระดับ Food Grade การันตีความปลอดภัยโดย อย. first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/gc-pcr-pet-innoeco/

ขยะพลาสติกไทย ติดอันดับ 12 ของโลก ปริมาณ 4.8 ล้านตันต่อปี หลักๆ จากความนิยม Food Delivery

k research
ภาพจาก Shutterstock
  • ขยะพลาสติก กำลังเป็นปัญหาที่หนักขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากการจัดการที่ไม่ถูกต้องในการำกจัด เช่น การเผา หรือฝังกลบ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยทั่วโลกมีการปล่อยขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน และไทยอยู่อันดับ 12 ยิ่งบริการ Food Delivery และ Online Shopping เพิ่มขึ้น ขยะพลาสติกยิ่งสูง
  • ไทย พยายามลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว เปลี่ยนใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายในปี พ.ศ.2565 และตั้งเป้าขยะพลาสติก 7 ชนิดนำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ.2570 ขณะที่การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Assembly: UNEA) เพิ่งบรรลุข้อมติเพื่อจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมขยะพลาสติกซึ่งจะจัดทำร่างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2567
  • ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกจะต้องเจอกับมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมการผลิตและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องมีหลักการจัดการพลาสติกตลอด Life Cycle ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต การใช้งานและการจัดการหลังการใช้งานเสร็จแล้ว
k research
ภาพจาก Shutterstock

ขยะพลาสติกมาพร้อมกับ Food Delivery และ Online Shopping

พลาสติกนับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ถุงพลาสติก ขวดน้ำ หลอด ของเล่น จาน บรรจุภัณฑ์ใส่อาหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ส่งผลให้การใช้พลาสติกนั้นก่อให้เกิดปริมาณขยะมหาศาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการศึกษาของ Ocean Conservancy พบว่าในปี 2016 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 242 ล้านตัน โดยประเทศที่มีขยะพลาสติกมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ สหรัฐอเมริกา (34 ล้านตัน) สหภาพยุโรป (30 ล้านตัน) อินเดีย (26 ล้านตัน)

ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12 (4.8 ล้านตัน) แต่พลาสติกที่มีการใช้ทั่วไปนั้นไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตนเองจึงมีการจัดการโดยการเผาหรือฝังกลบซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำ ดิน อากาศได้ โดยจากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 3,440 ตัน/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปี พ.ศ. 2562 ถึงร้อยละ 62 ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้บริการ Food delivery และ Online Shopping ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นพลาสติกที่ Recycle ได้เพียง 19% นอกนั้นเป็นพลาสติกปนเปื้อน

k research
ภาพจาก Shutterstock

ลด เลิก ใช้พลาสติก 7 ชนิด นำกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100%

ประเทศไทยเองมีความพยายามเข้ามาจัดการปัญหาขยะพลาสติดแบบใช้ครั้งเดียวโดยรัฐบาลได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561-2573) ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิดได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีด (ภายในปี พ.ศ. 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี พ.ศ. 2565) โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังตั้งเป้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 

นอกจากนี้ในเวทีระดับนานาชาติเอง ณ การประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Assembly: UNEA) สมัยที่ 5 ช่วง 2 (UNEA 5.2) ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ 193 ประเทศเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย ได้บรรลุข้อมติ End Plastic Pollution Resolution เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเพื่อการเจรจา (Intergovernmental negotiating committee: INC) จัดทำร่างกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการมลพิษจากพลาสติกและจัดการขยะทางทะเล โดยมีเป้าหมายในการจัดการพลาสติกทั้งวงจรชีวิต รวมถึงให้มีมาตรการการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีและด้านการเงินซึ่งจะส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยร่างกฎหมายระหว่างประเทศดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) โดยมี 175 ประเทศให้การสนับสนุนรวมถึงประเทศไทย

k research
ภาพจาก Shutterstock

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติก ต้องปรับตัวโดยเร็ว

ในปี พ.ศ. 2563 อุตสาหกรรมพลาสติกของประเทศไทยมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.4 ของ GDP ในจำนวนดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกมีมูลค่า 8.5 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในอนาคตผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกจะเผชิญกับมาตรการและกฎระเบียบเพื่อควบคุมผลิตภัณฑ์และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ผู้ประกอบการควรเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยหลักการการจัดการพลาสติกตลอดวงจรชีวิต (Life Cycle) ตั้งแต่การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการออกแบบและการผลิต โดยการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Design) ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค และการจัดการพลาสติกหลังการบริโภค

นอกจากนี้สามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีอยู่ ได้แก่ นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมภายใต้ BCG Model ซึ่งกิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 5 – 8 ปี

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ขยะพลาสติกไทย ติดอันดับ 12 ของโลก ปริมาณ 4.8 ล้านตันต่อปี หลักๆ จากความนิยม Food Delivery first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/plastic-pollution/

แก้ปัญหาขยะล้น จีนสั่งค้าปลีกทั่วประเทศ รายงานการใช้ “พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง”

รัฐบาลจีนโดยกระทรวงพาณิชย์เตรียมสร้างระบบให้ค้าปลีกทั่วประเทศรายงานว่ามีการใช้พลาสติกไปในจำนวนเท่าไร ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ปัญหาการจัดการขยะที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในจีน 

ภาพจาก Shutterstock

นอกจากนี้ การที่บริการประเภท food delivery เติบโตขึ้น ก็ทำให้มีการใช้พลาสติกในจำนวนมากขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ได้มีการสั่งแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและภาชนะเครื่องครัวที่ทำจากพลาสติกในหลายเมืองใหญ่ การแบนดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในปีนี้ ขณะเดียวกัน การใช้หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็จะถูกแบนทั่วประเทศด้วย

ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ในเรื่องการจัดการขยะนี้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนกันยายน มีการเรียกอัตราค่าปรับเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า สำหรับคนที่ไม่ทำตามกฎนี้ ซึ่ง Wang Wang ประธาน China Scrap Plastic Association กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอรส์ว่าการแบนดังกล่าวน่าจะแก้ปัญหาในด้านการลดมลพิษจากพลาสติกที่มองเห็นได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่พยายามกำจัดของเสีย

เดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีนก็ออกแผนโรดแมป 5 ปีสำหรับการกำจัดขยะด้วย นโยบายดังกล่าวต้องการให้ทั่วประเทศการแบนการใช้ถุงพลาสติกในปี 2022 มีการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งลดลง 30% ในร้านอาหาร ซึ่งจีนก็ประสบปัญหากับการจัดการของเสียหรือขยะที่เกิดขึ้นจากประชาชนราว 1.4 พันล้านคน จีนไม่ได้เป็นเพียงประเทศที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกแต่ยังเป็นประเทศที่ทิ้งขยะรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย

ภาพจาก Shutterstock

ก่อนหน้านี้ ปลายปี 2019 มีการรายงานถึงสถานที่ฝังกลบขยะขนาดใหญ่ที่สุดของจีนที่ชื่อว่า Jiangcungou (เจียงซุนโกว) มีขนาดราวสนามฟุตบอล 100 แห่ง ก่อสร้างขึ้นในปี 1994 ถูกออกแบบไว้ให้ทิ้งขยะได้ยาวนาน 50 ปี หรือยาวไปจนถึงปี 2044 สามารถรองรับขยะของพลเมืองจีนได้กว่า 8 ล้านคน ขนาดกว้างราว 700,000 ตารางเมตร ลึกราว 150 เมตร และยังบรรจุได้กว่า 34 ล้านตารางเมตร 

สถานที่ฝังกลบขยะ Jiangcungou ถูกอออกแบบมาให้ทิ้งขยะได้ 2,500 ตันต่อวัน แต่ในความเป็นจริงกลับมีการทิ้งขยะมากถึง 10,000 ตันต่อวัน ทำให้สถานที่ฝังกลบขยะที่คาดว่าจะรองรับได้ราว 50 ปีถูกขยะทับถมเร็วกว่าที่คาด เร็วไปกว่า 25 ปี สถานที่ฝังกลบแห่งนี้ก็ขยะเต็มเสียแล้ว 

ทั้งนี้ China National Resources Recycling Association ระบุว่า ปี 2019 ประเทศจีนผลิตพลาสติกราว 63 ล้านตัน และมีการรีไซเคิลราว 30% และผลิตพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สามารถเสื่อมสลายได้ตามธรรมชาติราว 20 ล้านตันซึ่งรวมถุงพลาสติกสำหรับชอปปิงด้วยอีกราว 3 ล้านตัน  

ที่มา – BBC (1), (2), Daily Mail

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/massive-waste-problem-in-china/

รู้จักกับ Adidas Parley Collection เมื่อรองเท้า-ชุดกีฬา ผลิตจากขยะพลาสติกรีไซเคิล 75%

การปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเล ยังคงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่าจับตามมอง และยังไม่สามารถหาวิธีที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดไปได้โดยเร็ว เพราะปริมาณขยะพลาสติกในแต่ละปีมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่าภายในระยะเวลา 30 ปีข้างหน้า ปริมาณขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล จะมีจำนวนมากกว่าปลาเสียอีก นอกจากนี้กว่า 90% ของนกทะเล มีการกินขยะพลาสติกในรูปแบบต่างๆ เข้าไป ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล มีอันตรายทั้งต่อสัตว์ และคน

Adidas ก็เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ให้ความสนใจกับปัญหาขยะพลาสติกในทะเลนี้ด้วยการนำเอาขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเล มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล แล้วทำเป็นอุปกรณ์กีฬาใหม่อีกครั้ง โดยร่วมกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่าง Parley for the Oceans ตั้งแต่ปี 2015

เมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา Adidas สามารถผลิตรองเท้าที่ทำมาจากขยะพลาสติกในทะเลที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 11 ล้านคู่ มากกว่าปี 2018 ถึงสองเท่า และช่วยลดขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลไปได้แล้ว 2,810 ตัน

รองเท้าที่ผลิตจากขยะพลาสติกรีไซเคิล ใน Collection Parley ภาพจาก adidas.co.th/en/parley

กระบวนการการนำขยะพลาสติกที่อยู่ในทะเลมาใช้จะเริ่มต้นจาก Parley และองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกัน จะเป็นผู้เก็บขยะพลาสติกมาส่งให้กับ Adidas และ Adidas จะคัดเลือกพลาสติก PET มาผ่านกระบวนการรีไซเคิล ส่วนพลาสติกอื่นๆ ที่ไม่สามารถใช้งานได้ ก็จะถูกคัดแยกออกไป แล้วนำไปรีไซเคิลแบบปกติแทน

ส่วนขยะพลาสติกที่ใช้งานได้ จะผ่านการทำความสะอาด และทำให้แห้ง จากนั้นจะนำไปตัดให้เป็นขนาดเล็กๆ และหลอมละลายจนกลายเป็นวัสดุคล้าย Polyester ซึ่งในปัจจุบันอุปกรณ์กีฬาใน Collection Parley จะผลิตจากขยะพลาสติกรีไซเคิล 75% โดยมีคุณภาพเทียบเท่ากับอุปกรณ์กีฬารุ่นอื่นๆ ที่ผลิตจากพลาสติกใหม่ โดยเฉพาะรองเท้าที่ต้องมีความสบายในการสวมใส่เท่าเดิม ซึ่งการผลิตอุปกรณ์กีฬาจากขยะพลาสติกรีไซเคิลนี้จะช่วยลดการใช้น้ำ และสารเคมีในกระบวนการผลิตด้วย

เตรียมใช้พลาสติกรีไซเคิล 100%

เป้าหมายของ Adidas ไม่ได้หยุดที่การใช้พลาสติกรีไซเคิลเฉพาะอุปกรณ์กีฬา Collection Parley เท่านั้น เพราะ Adidas ต้องการตั้งเป้าหมายเปลี่ยนไปใช้ Polyester จากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด ภายในปี 2024 โดยในขณะนี้อุปกรณ์กีฬาประเภทเครื่องแต่งกาย ใช้ Polyester รีไซเคิลแล้วประมาณ 40%

อย่างไรก็ตามการใช้อุปกรณ์กีฬาที่ผลิตจากขยะพลาสติกรีไซเคิล ก็ยังไม่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้ 100% เพราะการซักอุปกรณ์กีฬาที่ทำจาก Polyester จะทำให้เกิด Microfiber ที่สามารถปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อมผ่านน้ำที่ใช้ซักได้

ที่มา – Business Insider

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/adidas-parley-collection-from-recycle-ocean-waste/

ไอเดียเด็ด! นำขยะพลาสติกมาแลกของ แถมแก้ปัญหาความยากจน

รักษ์โลกพ่วงกับการแก้ปัญหาความยากจน เป็นไอเดียที่ลงตัวมากๆ เมื่อเฮงเค็ล ผู้ดำเนินธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติเยอรมัน เปิดแคมเปญขยะจากพลาสติกมาแลกผลิตภัณฑ์ภายในร้าน 

แนวโน้มกลุ่มผู้ประกอบการในเดือนธันวาคม 2563 ให้ความสำคัญกับการรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนให้กับโลก หนึ่งในการทำตลาดที่น่าสนใจและมีแนวโน้มว่าจะทำเพิ่มขึ้น การขับเคลื่อนแคมเปญให้ผู้ซื้อสามารถนำขยะพลาสติกมาแลกซื้อผลิตภัณฑ์ได้

โดยเป็นไอเดียของบริษัทเฮงเค็ล ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ที่นำร่องทำไปแล้ว และนับว่าเป็นแคมเปญการตลาดที่สร้างความยั่งยืนให้กับโลก โดยจากการดำเนินการมา สามารถลดการทิ้งขยะพลาสติกในมหาสมุทร และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ยากจน โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีโครงสร้างการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้เฮงเค็ล ได้ร่วมมือกับองค์กรธุรกิจเพื่อสังคมอย่างพลาสติกแบงก์ เมื่อปี 2560 โดยศูนย์รับซื้อพลาสติกทั้ง 3 แห่งที่สร้างขึ้นใหม่ในเฮติได้รวบรวมพลาสติกแล้วมากกว่า 35 ตัน นอกจากนี้เฮงเค็ลยังนำ “โซเชียลพลาสติก” (Social Plastic) ที่เก็บได้เหล่านั้นมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตบรรจุภัณฑ์เป็นครั้งแรก

จากกลยุทธ์ในการใช้บรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน เฮงเค็ลได้ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเฮงเค็ลจะใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือนำกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ให้ได้ 100% ภายในปี 2568

สรุป

ธุรกิจหลากหลายออกมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนแคมเปญลดการใช้ถุงพลาสติก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา แต่ในส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนาการนำขยะมาแลกการซื้อผลิตภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งลดปัญหาด้านความยากจน โมเดลนี้ไม่จำเป็นต้องใช้ในประเทศด้อยพัฒนาก็ได้ และจะเป็นวิธีที่ช่วยกันบริหารจัดการขยะจากพลาสติกได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะการรีไซเคิล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/henkel-gogreen/