ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรงเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์สำเร็จ สื่อสารเป็นประโยคได้

ทีมวิจัยจาก Wyss Center for Bio and Neuroengineering ในสวิสเซอร์แลนด์ประกาศความสำเร็จในการเชื่อมต่อสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ (brain-computer interface – BCI) จนทำให้ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ ALS ระดับไม่สามารถขยับร่างกายใดๆ (completely locked-in) สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้อีกครั้ง

ที่ผ่านมาผู้ป่วย ALS ที่ยังสามารถสื่อสารได้บ้าง มักต้องอาศัยกล้ามเนื้อบางส่วน เช่น การกระพริบตา หรือขยับลูกตา แต่เมื่อผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ การสื่อสารเช่นนั้นก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป

ทีมงานอาศัยการจับสัญญาณสมองและส่งเสียงกลับไปให้ผู้ป่วยได้ยิน โดยทดลองให้ผู้ป่วยควบคุมเสียงทุ้มแหลมได้สำเร็จในวันที่ 86 หลังผ่าตัดติดตั้งเซ็นเซอร์ ฝึกให้สร้างเสียงตามเสียงที่เล่นให้ฟังได้ในวันที่ 98 และสามารถควบคุมจนเลือกตัวอักษรได้ในวันที่ 106

ผลที่ได้ผู้ป่วยสามารถพิมพ์ตัวอักษรได้ 131 ตัวอักษรต่อวัน โดยใช้เวลาอักษรละนาที แต่มีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังของการทดลอง โดยผู้ป่วยสามารถสื่อสารได้มากมาย เช่น ขอให้เปิดเพลงให้ฟัง, ขอให้เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับสื่อสารทิ้งไว้, หรือเลือกอาหารที่ต้องการ, ไปจนถึงชวนลูกชายดูภาพยนตร์

ผู้ป่วยรายนี้ไม่สามารถพูดได้ตั้งแต่ปี 2015 และไม่สามารถสื่อสารผ่านสายตาได้ตั้งแต่ปี 2019 การผ่าตัดใส่ BCI ครั้งนี้ใช้ microelectrode ของบริษัท Blackrock Microsystems เชื่อมต่อเข้ากับส่วนควบคุมร่างกายอ่านสัญญาณ 30,000 ครั้งต่อวินาทีแล้วกรองเอาสัญญาณในช่วง 250-7,500Hz เท่านั้น จากนั้นซอฟต์แวร์จะอ่านค่าและส่งเสียง (neurofeedback) ในช่วง 120-480Hz โดยเปลี่ยนความถี่ทุกๆ 250ms จากนั้นเริ่มฝึกด้วยการถามคำถามแบบใช่/ไม่ใช่ แล้วให้ผู้ป่วยจินตนาการความเคลื่อนไหวจนได้เสียงสูงต่ำที่เป็นคำตอบในที่สุด

ที่มา – Nature, ArsTechnica

No Description

Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/128129