รีวิว Kindle Oasis 2 เครื่องอ่านอีบุ๊กสุดหรูที่พร้อมลงน้ำแล้ว

ถ้าจะพูดถึงเครื่องอ่านอีบุ๊ก คนจำนวนไม่น้อยก็น่าจะนึกถึงเครื่องตระกูลคินเดิลของอเมซอน ซึ่งปัจจุบันอเมซอนแบ่งเครื่องอ่านอีบุ๊กของตนเองออกเป็นสามซีรีส์ เรียงตามลำดับราคาไล่ตั้งแต่ รุ่น Kindle (basic) รุ่น 8, Paperwhite ไปจนถึง Oasis ซึ่งถือเป็นรุ่นท็อปในสาย

พอดีช่วงกลางกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสสั่งซื้อ Kindle Oasis 2 ซึ่งเครื่องที่สั่งเป็นรุ่น certified refurbish แบบ Wi-Fi only ความจุ 32 GB พร้อมโฆษณาราคา 210 เหรียญสหรัฐ (ปกติ 280 เหรียญสหรัฐ) และพอดีผมมี Kindle Voyage อยู่ด้วย ดังนั้นในการรีวิวการใช้งานอาจจะมีการเปรียบเทียบกัน เผื่อใครจะได้เห็นภาพมากขึ้น

คำเตือน ภาพประกอบเยอะครับ

ตัวเครื่อง

alt="Kindle Oasis 2"

ลักษณะเด่นของ Kindle Oasis 2 คือ หน้าจอใหญ่ 7 นิ้ว จอภาพด้านหน้าแบนราบเสมอกันเป็นกระจกชิ้นเดียวตั้งแต่จอภาพไปถึงขอบเครื่อง (flush display) ลักษณะเครื่องใกล้เคียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าไม่มีโลโก้ใดๆ

alt="Voyage วางคู่เทียบกับ Oasis 2"

เปรียบเทียบระหว่าง Kindle Voyage กับ Kindle Oasis 2 ที่เป็น flush display ทั้งคู่

alt="รูปถ่ายด้านซ้ายเครื่อง ขอบบาง"

ด้านซ้ายแบนบาง ขอบข้างเครื่องเรียบปราศจากปุ่มและช่องเสียบใดๆ

alt="รูปที่ซูมไปที่รอยต่อระหว่างชิ้นหน้า flash glass panel กับตัวถังอะลูมิเนียม"

รอยต่อกระจอจอภาพกับบอดี้โลหะแนบสนิท ความโค้งที่ขอบเครื่องเวลาลูบแล้วรู้สึกมีเหลียมนิดๆ แต่ไม่ถึงขั้นคมบาดมือ

alt="IMG_20180813_165638"

ด้านล่าง มีไฟแสดงสถานะการชาร์ตและช่อง micro USB เท่านั้น ไม่มีช่องเสียบหูฟังแต่อย่างใด

alt="ถ่ายให้เห็นทั้งด้านหลัง"

ด้านหลัง Kindle Oasis 2 เป็นอะลูมิเนียมอโนไดซ์ทั้งชิ้น ให้ความรู้สึกพรีเมี่ยมสวยงาม ไม่ทิ้งรอยนิ้วมือ บอดี้ยังคงเอกลักษณ์ตระกูล Oasis ที่มี “สัน” ที่หนาอยู่ด้านหนึ่ง ไม่หนาเท่ากันทั้งเครื่อง และที่สำคัญ Kindle Oasis 2 ไม่ใช้ปกที่ชาร์จไฟได้ จึงไม่มี connector ที่สันแล้ว โดยรวมก็ทำให้เครื่องดูสวยขึ้น

ในแง่น้ำหนักเครื่อง Kindle Oasis 2 หนัก 194 กรัม ซึ่งหนักที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มเครื่องที่ขายในปัจจุบัน

alt="ตารางน้ำหนักเครื่องคินเดิล"

เครื่องถูกออกแบบมามี “สัน” แม้จะดูแปลกตาไปหน่อย แต่หลังจากใช้งานไปสักพักก็รู้สึกว่าเป็นการออกแบบที่ฉลาด ทำให้ศูนย์ถ่วงจะลงมาที่ใกล้ “สัน” ไม่เหมือนเครื่องอื่นที่ศูนย์ถ่วงจะอยู่ตรงกลางจอ เวลาถือมือเดียวน้ำหนักเครื่องจะลงมาที่มือตรงๆ ไม่รู้สึกเหมือนต้องงัดทานน้ำหนักเครื่องตลอดเวลาที่ถืออ่าน ทำให้ถืออ่านได้นานๆ

หน้าจอ

Kindle Oasis 2 เป็นเครื่องอ่านอีบุ๊กรุ่นแรกจากคินเดิลที่หลุดจากข้อจำกัดจอ 6 นิ้วมาเป็น 7 นิ้ว (ถ้าไม่นับ DX ที่เลิกขายไปหลายปีก่อน) ทำให้มีพื้นที่การแสดงผลเพิ่มขึ้น สามารถแสดงเนื้อหาในหน้าได้เยอะขึ้น ไม่ต้องพลิกหน้าบ่อยๆ หรือสามารถปรับฟอนต์ให้ตัวใหญ่ขึ้นโดยไม่ลดจำนวนคำที่อ่านได้ในแต่ละหน้า

alt="เทียบหน้าจอ KV (ซ้าย) Oasis 2 (ขวา) เปิดเอกสารเดียวกัน reading setting เดียวกัน, Bookerly font size 3"

ข้างบนเป็นรูปเปรียบเทียบระหว่าง Kindle Voyage กับ Kindle Oasis 2 สังเกตว่า บน Kindle Voyage ย่อหน้าแรกจัดหน้ามาเป็นห้าบรรทัดครึ่งและทั้งหน้าแสดงเนื้อหาได้ถึงเพียงสองในสามของย่อหน้าที่สอง แต่บน Kindle Oasis 2 แสดงย่อหน้าแรกได้ในห้าบรรทัดเศษและทั้งหน้าแสดงเนื้อหาเลยไปถึงย่อหน้าที่สามด้วยซ้ำ

alt="ถ่ายคู่กับ KV (ซ้าย) Oasis 2 (ขวา) เปิดเอกสารเดียวกัน reading setting เดียวกัน, Bookerly font size 4/3, auto brightness off, brightness level 10/24"

Front light

ฟีเจอร์ front light ของคินเดิลทำให้สามารถอ่านได้ในที่แสงน้อยโดยไม่ต้องเปิดไฟในห้อง การทำงานคือจะใช้ LED ฉายแสงในชั้นนำแสงใต้จอภาพ ให้สว่างเวลาอ่านในที่แสงสว่างน้อย เช่น ในห้องนอน รวมถึงทำให้พื้นหลังดูขาวขึ้น สำหรับ Kindle Oasis 2 ใช้ LED มากถึง 12 ดวง ทำให้แสงสว่างกระจายตัวเนียนทั้งจอภาพ

alt="Kindle Oasis 2 แสงสว่าง 9/24 ภายในห้องมืดสนิท"

ภาพบนถ่ายในห้องมืด ปรับแสงสว่างไว้ที่ระดับ 9 ปิด auto-brightness ไม่สังเกตเห็นกรวยแสงหรือเงามืดแต่อย่างใด

alt="Kindle Oasis 2 ถ่ายในที่มืด ปิด auto-brightness เร่งความสว่างสูงสุด 24"

ภาพด้านบน คือเร่งแสงสว่างสุด 24 ภายในห้องมืดสนิท จริงๆสว่างมาก

alt="ถ่ายคู่กับ KV (ซ้าย) Oasis 2 (ขวา) เปิดเอกสารเดียวกัน reading setting เดียวกัน, Bookerly font size 4, auto brightness off, brightness level 10/24"

เทียบความสว่างให้เห็นระหว่าง Kindle Voyage กับ Kindle Oasis 2 ในแสงห้องทำงานปกติ

alt="เทียบอุณหภูมิสีระหว่าง Kindle Voyage กับ Kindle Oasis 2 ในห้องมืด"

ด้านบนเป็นการเปิดเทียบแสงภายในห้องมืดสนิทเพื่อเทียบอุณหภูมิสี จะเห็นว่า Kindle Voyage ด้านซ้ายมือจะออกฟ้า ส่วนทาง Kindle Oasis 2 ออกจะเหลืองนิดๆ

alt="KV-KOA2-zoomed-2"

ภาพนี้ซูมตัดตัวหนังสือมาเทียบระหว่าง Kindle Voyage (บน) และ Kindle Oasis 2 (ล่าง) จากภาพด้านบน จะเห็นว่า Kindle Voyage ด้านบนจะมืดกว่า ในขณะที่ Kindle Oasis 2 ออกจะสว่างกว่า

Page Turn Buttons

คินเดิลก็เคยมีมีปุ่มจริงๆสำหรับเปลี่ยนหน้าตั้งแต่สมัยคินเดิลรุ่นแรก แต่พอมาช่วงปี 2011-2014 อเมซอนเริ่มนำจอสัมผัสมาใช้งานจึงมีการตัดแผงคีย์บอร์ดและปุ่มเปลี่ยนหน้าออก หลังจากปี 2014 นับตั้งแต่นั้นเครื่องคินเดิลรุ่นต่อมาก็ไม่มีปุ่มจริงๆให้ใช้ในการพลิกหน้าอีก จนกระทั่ง Kindle Oasis รุ่นแรก

alt="รูปถ่าย Page Turn Buttons ระยะใกล้ ให้เห็นว่านูนมากน้อยขนาดไหน"

ใน Kindle Oasis 2 ก็มีปุ่มจริงสำหรับเปลี่ยนหน้า เป็นปุ่มพลาสติกแข็งสองอันขนาดเท่ากันอยู่ฝั่งขวาของจอภาพ ปุ่มนี้ไม่ได้ไวต่อการสัมผัส เวลาถือเครื่องสามารถพักนิ้วหัวแม่มือบนปุ่มนี้ได้ ถ้าต้องการจะเปลี่ยนหน้าก็แค่ออกแรง ”กด” เพียงเล็กน้อยก็พอ ไม่ต้องยกนิ้วไปปัดหน้าจอเพื่อเปลี่ยนหน้า ทำให้สามารถใช้งานเครื่องด้วยมือข้างเดียวอย่างมั่นคง

alt="Kindle Oasis 2 ขณะหมุนเปลี่ยนมือ"

ตัวเครื่องมี accelerometer ทำให้สามารถใช้งานได้ทั้งคนถนัดซ้าย-ขวา เมื่อหมุนเครื่องเพื่อสลับมือถือ เครื่องจะรับรู้และทำให้มั่นใจว่า ปุ่ม “ข้างบน” จะพลิกหน้าไปหน้าถัดไปเสมอ ไม่ว่าถือด้วยมือข้างไหน แต่ถ้าไม่ถนัด เราจะปรับการทำงานของปุ่มให้สลับกันได้ในหน้าจอ settings

alt="หน้าจอสลับการทำงานของปุ่มเปลี่ยนหน้า"

Reading in Water

เครื่อง Kindle Oasis 2 ออกแบบให้กันน้ำ (waterproof) กันน้ำหกใส่และแช่ในน้ำได้ แต่สิ่งที่ควรทราบคือ หน้าจอสัมผัสจะใช้งานไม่ได้ใต้น้ำ เหมือนบรรดาสมาร์ทโฟนที่กันน้ำได้ เพราะน้ำจะรบกวนการทำงานของจอสัมผัส แนะนำให้ปิดการทำงาน touch screen ก่อนลงน้ำ แล้วใช้ปุ่มเปลี่ยนหน้าเอา

ถ้าลงน้ำทะเล, ลงสระว่ายน้ำ หรือห้วยหนองคลองบึงใดๆ เมื่อขึ้นมาแล้ว แนะนำให้นำเครื่องขึ้นมาล้างด้วยน้ำเปล่า อย่าปล่อยทิ้งไว้นานเกินความจำเป็น โดยเพราะถ้าเจอความเค็มของเกลือซึ่งอาจจะกัดกร่อนซีลกันน้ำได้ อันนั้นก็ตัวใครตัวมัน

Invert Black and White

แม้ว่าคินเดิลจะมี front light เพื่อช่วยให้อ่านหนังสือในที่แสงน้อยๆได้ แต่ถ้าอ่านในที่มืด จะพบว่าเราสามารถได้ลดแสง front light จะทำได้ถึงระดับหนึ่ง เพราะถ้าต่ำมากเกินไป สายตาเราจะเรามองไม่เห็นรายละเอียด จะเห็นตัวอักษรเป็นก้อนๆ ก็ต้องเร่งแสงกลับขึ้นมาอยู่ดี

แต่ถ้าทำให้พื้นหลังเป็นสีดำแล้วตัวหนังสือสีขาว น่าจะทำให้อ่านง่าย มีแสงสว่างน้อยลง

alt="IMG_20180817_234149-cropped"

เจ้า Kindle Oasis 2 มาพร้อมความสามารถทำงานกลับสี (Invert Black and White) ซึ่งทำให้ลดปริมาณแสงสว่างที่เข้าตาเวลาอ่านตอนกลางคืน เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้ถึงขั้นดำสนิท (สังเกตจากสีดำที่เป็นกรอบเครื่อง) มันมีแสงเรืองออกมาอยู่บ้าง แต่โดยรวมก็สามารถทำให้สว่างน้อยลงโดยที่ยังคงความสามารถในการอ่านไว้ได้

ส่วนตัวแล้วเข้าใจว่ามันทำงานที่ระดับฮาร์ดแวร์ ไม่ได้ที่ระดับ rendering engine เพราะเวลาจับหน้าจอเมื่อทำงานในโหมด Invert Black and White ภาพที่ได้ยังเหมือนปกติ ไม่ได้เป็นภาพกลับสี ถ้าต้องการเห็นความแตกต่างได้เมื่อใช้กล้องถ่ายหน้าจอจริงๆ เท่านั้น

โดยส่วนตัวก็ชอบอยู่เหมือนกัน รู้สึกสบายตาดี เวลาอ่านตอนกลางคืน

ซอฟท์แวร์

ซอฟท์แวร์รุ่นที่รีวิวคือรุ่น 5.9.7 ที่เพิ่งออกมาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมาโดยจะรีวิวบนซอฟท์แวร์จากโรงงานปกติ ไม่มีการปรับแต่งคอนฟิคไฟล์หรือแฮกเสริมใดๆ

ถ้าเคยใช้เครื่องคินเดิลอายุยังไม่เกินสามสี่ปี น่าจะไม่ต้องปรับตัวมากเวลามาใช้ Kindle Oasis 2 เพราะอเมซอนนั้นใช้ซอฟท์แวร์รุ่นเดียวกัน ฟีเจอร์การใช้งานจะคล้ายๆ ดังนั้น การรีวิวจะเน้นหนักฟีเจอร์เด่นที่มีเฉพาะบน Kindle Oasis 2 เป็นหลัก (หรือแล้วแต่ใจคนรีวิว?)

alt="screenshot_2018_08_13T19_00_48+0800"

หน้าโฮม หน้าจอแบ่งเป็น 3 ส่วน มีส่วน My Library – แสดงหนังสือสามเล่มสุดท้ายที่อ่าน, ด้านขวาจะเป็น My Reading List เป็นรายชื่อหนังสือที่เราเคยใส่ใน “Wish List” ของอเมซอน หรือ “Want to List” ใน Goodreads, ส่วนรายการข้างล่างจะเป็นรายการหนังสือที่อเมซอนที่คิดว่าเราจะสนใจ (Recommended For You) ส่วนล่างสุดก็โฆษณา

alt="screenshot_2018_08_13T14_58_20+0800"

พอกดเข้ามาที่ My Library – แสดงรายชื่อหนังสือ, หนังสือเสียง, ฯลฯ โดยสามารถแสดงแสดงปกหรือจะเป็นรายการก็ได้ สามารถเปลี่ยนหน้าโดยการใช้ปุ่มเปลี่ยนหน้าหรือปัดหน้าจอ (swipe)

แถบเมนูด้านบน มี Home, Back, Settings, GoodRead, Store ส่วนแถบบนสุด แสดงระดับแบตคร่าวๆ

PDF Viewer

เช่นเดิมครับ สำหรับคนที่อยากจะเอาเครื่องนี้มาใช้อ่าน PDF ก็คงบอกได้ว่า ทำได้น่าประทับใจขึ้น ปัจจัยหลักน่าจะมาจากซีพียูที่เร็วขึ้นและหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น รวมถึง ส่วนสำหรับฟีเจอร์สำคัญที่มีเหมือนกับรุ่นก่อนๆ ก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรองรับสารบัญ (table of contents), ลิงก์ภายในเอกสาร, สามารถปรับความเข้ม (contrast), ซูมเอกสาร (pinch-zoom), ฯลฯ

alt="PDF Viewer settings"

alt="สารบัญบน PDF Viewer"

สำหรับกรณีจะเอามาใช้อ่านเท็กซ์ ถึงแม้จอภาพจะมีความละเอียดสูง 1680 x 1264 แต่หน้าจอ 7 นิ้ว ก็กว้างเพียง 10.7 ซม. ต่อให้ตัดขอบหรือเร่งให้ตัวหนาขึ้น ตัวหนังสืออาจจะจัดว่าเล็ก อาจจะต้องเพ่งมากหน่อย

แต่ถ้าเราปรับ orientation เพื่อตะแคงจออ่าน ทำให้พื้นที่แสดงผลด้านกว้างกลายเป็น 1680 หรือราว 14.2 ซม. ก็กว้างขึ้น 32% อ่านตัวหนังสือสบายตามากขึ้นไม่ต้องเพ่ง

alt="เท็กซ์ในโหมดแนวนอน"

โดยความเห็นส่วนตัว แม้ว่า Kindle Oasis 2 จะพัฒนาขึ้นในแง่การอ่าน PDF แต่ในความเป็นจริง ก็ขอให้มองว่าฟีเจอร์การอ่าน PDF บน Kindle Oasis 2 ถือว่าเป็นผลพลอยได้ หากต้องการจะอ่านเอกสาร PDF อย่างเป็นจริงเป็นจัง ก็ยังยืนยันว่าแนะนำให้หาอุปกรณ์ Android tablet หรือ iPad ที่หน้าจอ 9 นิ้วขึ้นไป จะให้ประสบการณ์การอ่าน PDF ที่สะดวกสบายกว่ามาก

การ์ตูน

ปกติหน้าจอเครื่องคินเดิลมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น (manga) หรือการ์ตูนฝรั่ง (comic) เวลาดูในหน้าจอเล็กขนาดนั้นก็จะมีปัญหาว่าตัวหนังสือจะเล็กมาก อ่านลำบาก

คินเดิลออกข้อกำหนดของอีบุ๊กที่สนับสนุนฟีเจอร์ Panel View ที่ทำให้จอเล็กไม่ใช่ปัญหาในการอ่านนิยายภาพ เราแค่แตะสองครั้งติดกัน เครื่องจะซูมเข้าไปที่แต่ละกรอบ เต็มจอภาพ เรียกว่าตัวหนังสือเยอะขนาดไหนก็อ่านได้แน่ๆ

alt="หน้าแนะนำ Panel View"

ดังนั้นเวลาอ่าน ลำดับจะเป็น เปิดมาจะซูมออกให้เห็นทั้งหน้า พอกดเปลี่ยนหน้า เครื่องก็จะซูมเจาะไปที่ละกรอบ โดยไล่ลำดับการอ่านอย่างถูกต้องทุกๆกรอบจนจบหน้า แล้วจะขึ้นหน้าใหม่ โดยที่ไม่ต้องคอยซูมและแพนแต่ละหน้าด้วยตัวเอง กดเปลี่ยนหน้ารัวๆได้เลย

alt="ลำดับการอ่าน กรณีมี Panel View"

แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่ว่าทุกเล่มจะมี Panel View เพราะทางผู้ผลิตจะต้องออกแรงเพิ่ม ใส่รายละเอียดรูปซูมของแต่ละกรอบ เท่าที่สำรวจในตลาดเบื้องต้นเห็นแต่จะมีแค่ Marvel ที่ทำ Panel View มาให้ ส่วนมังงะญี่ปุ่นที่ขายนี่เหมือนไม่มีใครทำเลย

เท่าที่ลองใช้งาน ปัญหาหลักที่เจอในการใช้งานเพราะจอ 7 นิ้ว ถึงแม้จะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังเล็กไปอยู่สำหรับงานลักษณะนี้ ปกติการ์ตูนบ้านเรารูปเล่มขนาดใกล้เคียงจอ 8-9 นิ้ว ทำให้การ์ตูนที่ดูบน Kindle Oasis 2 มันออกจะเล็กไปนิดหน่อย การเปิดตัวเลือกตัดขอบ (Crop Margins) ก็อาจจะทำให้ภาพใหญ่ขึ้น แต่ปัญหาร้ายแรงคือบทพูด การอ่านมังงะเต็มจอบทพูดเยอะๆ ตัวหนังสือมันจะเล็กและบาง ทำให้อ่านยากต้องเพ่งไม่ค่อยสบายตาสักเท่าไร

ถ้าสำนักพิมพ์ไม่ทำฟีเจอร์ Panel View ลงมาด้วย การใช้งานบน Kindle Oasis 2 ก็จะลำบากสักหน่อย เราก็จะมีแค่สองทางเลือก

  • หนึ่งคือ ซูมเข้าออกหรือแพนด้วยมือ ซึ่งคล่องตัว แต่ไม่สะดวกเท่าไร
  • สอง พยายามใช้ฟีเจอร์ Virtual Panel โดยคินเดิลจะแบ่งจอเป็นกริด 4 (2×2) หรือ 6 (2×3) แล้วเครื่องจะซูมและแพนตามกริดนี้ แต่เนื่องจาก Virtual Panel แบ่งโดยไม่มีอิงข้อมูลการจัดวางกรอบในหน้า (เพราะถ้ามี ผู้ผลิตก็คงทำ Panel View ไปแล้ว) ทำให้บ่อยครั้งกรอบมันอยู่คร่อม virtual panel เวลาอ่านทำให้คอยถอยไปถอยมา ดูๆไปเหมือนเป็นพวกย้ำคิดย้ำทำ น่ารำคาญมาก

แต่ถ้าใช้เงินแก้ปัญหาได้ แนะนำให้แท็บเบล็ตจอใหญ่ 9-10 นิ้ว แล้วโหลดแอพ Kindle for Android/iOS แล้วโหลดการ์ตูนที่ซื้อมาอ่านทั้งหน้าแบบไม่ต้องซูม ไม่ต้องเพ่ง น่าจะสบายใจกว่า

Sideload

ก็ยังบอกได้ว่าเหมือนเดิมคือไม่แนะนำเลย กล่าวคือไม่รองรับ CBZ, ZIP, CBR, RAR (ไม่ลิสต์ขึ้นมา ใช้งานไม่ได้เลย) และแม้ Kindle Oasis 2 ก็ยังรองรับการดูรูปภาพได้ แต่ฟีเจอร์การดูรูปภาพยังอยู่ในระดับแย่มาก ไม่มีการพัฒนาขึ้นเลย (เป็นฟีเจอร์ลับ เครื่องจะดูรูปได้ภายใต้โฟลเดอร์ images เท่านั้น และสามารถวางโฟลเดอร์ได้ลึกอีกแค่ชั้นเดียว เป็นชื่อ album ภายในใส่รูป) และที่สำคัญคือยังไม่จำลำดับรูปที่เปิดในแต่ละ album

ถ้ามีลูกอึดสักหน่อยก็สามารถไปต่อได้ โดยต้องอาศัยโปรแกรมเสริมอย่างเช่น KCC เพื่อแปลงไฟล์ไปเป็นไฟล์ฟอร์แมตที่เครื่องรองรับก่อน (mobi/KF8) จึงจะใช้งานได้บน Kindle Oasis นี้ แต่ถึงพยายามขนาดนั้นก็จะไปเจอปัญหาลักษณะ Virtual Panel อยู่ดี (หน้าจอเล็ก, ต้องซูม/แพน หน้าจอด้วยมือ, ปรับความเข้มไม่ได้, บังคับให้แสดงหน้าเดียวตามแนวนอนไม่ได้)

ซึ่งถ้าชีวิตมันจะยากเบอร์นั้น แนะนำให้แก้ปัญหาแบบคนมีเงิน หา Android/iOS Tablet จอใหญ่หน่อยเพื่อจะได้อ่านได้ทั้งหน้าไม่ต้องคอยเลื่อนไปเลื่อนมา และหาแอพที่อ่านไฟล์ CBZ, CBR ได้ตรงๆ บน ชีวิตน่าจะดีขึ้นมาก

ภาษาไทย

alt="Thai PDF"

เมื่อทดสอบกับเนื้อหาที่ทำขึ้นเฉพาะ พบว่าฟอนต์ที่มากับเครื่องแค่แสดงภาษาไทยได้ แสดงตัวเอียงได้ แต่ทำตัวหนาไม่ได้ รวมถึงการแสดงอักขระไม่สมบูรณ์ มีการตัดบนตัดล่างตัดขวา ตำแหน่งสระมีปัญหา

alt="PDF settings"

ถ้าเราโหลดฟอนต์ที่รองรับภาษาไทยเข้าไป ชีวิตก็ดูจะดีขึ้นทันที ตัวเอียง ตัวหนา มาครบ ไม่โดนตัดหัวตัดท้าย แต่เหมือนยังมีปัญหาสระไม่หลบตัวหนังสือ (ปา ป่า บา บ้า) ส่วนเรื่องตัดคำภาษาไทยก็คงต้องทำใจกันต่อไป

alt="Thai PDF with custom fonts"

หนังสือเสียง

หลังจากห่างหายเรื่องการรองรับฟีเจอร์เสียงออกไปทั้งหมด (ตัดลำโพง, ช่องเสียบหูฟัง, ตัดฟีเจอร์ Text-to-Speech รวมถึงฟีเจอร์เล่นหนังสือเสียง) ในที่สุดอเมซอนเพิ่งกลับมาทำให้คินเดิลรองรับฟีเจอร์หนังสือเสียงอีกครั้งในรุ่น Kindle Oasis 2

alt="หน้า Library เฉพาะหนังสือเสียง"

แต่เนื่องจาก Kindle Oasis 2 ไม่มีช่องเสียบหูฟังหรือลำโพงในตัว ดังนั้นเวลาจะฟังต้องฟังผ่านหูฟังหรือลำโพงที่เชื่อมต่อด้วย bluetooth เท่านั้น

การใช้งานไม่ยาก ในหน้า Library จะมีแสดงรายชื่อหนังสือเสียงที่เราซื้อมาในคลังหนังสือของเรา สามารถกดเพื่อเริ่มฟังหนังสือเสียงได้ทันที

alt="หน้าจอหนังสือเสียง"

โดยเมื่อเริ่มต้นจะต้องรอให้โหลดอย่างน้อยถึง 5% หรือถึงโหลดไปถึงจุดที่จะฟังก็พร้อมจะเริ่มฟังได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องรอให้โหลดจนเสร็จทั้งเล่มก่อน ซึ่งอาจใช้เวลานาน ขึ้นกับขนาดหนังสือเสียงและความเร็ว Wi-Fi ที่เราใช้

จากหน้าจอฟังหนังสือเสียง เราสามารถข้ามไปยังบทต่างๆ, ใส่ bookmark, ปรับความเร็วในการอ่านเป็นขั้นๆ ต่ำสุด 0.5x ไปจนถึง 3x, ย้อนหลังหรือเดินหน้า 30 วินาที (เผื่อสมาธิแตก หลุดข้อความสำคัญ หรือต้องการฟังการออกเสียงชื่อตัวละคร,สถานที่ ซ้ำอีกครั้ง), ปรับระดับเสียงผ่านหน้าจอ (เนื่องจากเครื่องคินเดิลไม่มีปุ่มจริงให้ปรับระดับเสียง แต่ส่วนมากปัจจุบันลำโพงหรือหูฟังฟังเพลง bluetooth ส่วนใหญ่มักจะมีปุ่มปรับเสียงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้ปุ่มตรงนี้ เว้นแต่หูฟังที่ไม่มีปุ่มปรับระดับเสียง เช่น AirPods หรือ Jabra Eclipse จึงต้องอาศัยช่องทางนี้ในการปรับ ซึ่งก็ถือยังดีกว่าไม่มีปุ่มให้ปรับเสียงเลย)

จากที่ทดสอบเบื้องต้น พบว่าหนังสือเสียงบน Kindle Oasis 2 ใช้พื้นที่เฉลี่ย 14 MiB ต่อชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าไฟล์เพลง MP3 ถึงหกเท่า (เทียบกับเพลง MP3 ที่บิตเรทที่ 192 kbps ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 90 MiB ต่อชั่วโมง)

alt="ตารางเทียบขนาดไฟล์หนังสือเสียง"

จะว่ากันตามตรง แม้ว่าคินเดิลเองมีพื้นที่เก็บข้อมูลไม่มากนักเมื่อเทียบกับสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ แต่ขนาดไฟล์หนังสือเสียงมีขนาดโดยเฉลี่ยไม่ใหญ่นัก ดังนั้น Kindle Oasis 2 ที่ความจุเริ่มต้นที่ 8 GiB สมมติว่าหนังสือเสียงเฉลี่ยเล่มละ 10 ชั่วโมง ก็น่าจะรองรับหนังสือเสียงได้ 40 เล่มเป็นอย่างน้อย เรียกว่าฟังได้ยาวๆ

alt="หน้า Library แสดงหนังสือเสียงที่มีอีบุ๊กด้วย"

สำหรับหนังสืออีบุ๊กที่เราซื้อไว้และเราซื้อหนังสือเสียงคู่กันไว้ (สังเกตจะมีไอคอนหนังสือฟังที่ปก) เราสามารถสลับโหมดระหว่างการอ่านและการฟังได้ตลอดเวลา โดยการกดปุ่มรูปหนังสือที่มุมล่างขวาของจอภาพ โดยคินเดิลจะพาเราไปหน้าหนังสือที่ต่อจากตำแหน่งที่เราฟังอยู่พอดี (Whispersync for Voice)

น่าเสียดายที่ปัจจุบัน Kindle Oasis 2 ยังไม่รองรับการอ่านอีบุ๊กและฟังหนังสือเสียงไปพร้อมๆกัน (Immersion Reading) อย่างที่ทำได้บน Android, iOS เรียกได้ว่าชีวิตต้องเลือก อย่ารักพี่เสียดายน้อง ถ้าจะฟังก็ฟังอย่างเดียว อ่านไม่ได้ T^T ซึ่งน่าเสียดายสำหรับ Kindle รุ่นท็อปไม่สามารถทำได้

ข้อเสียของการฟังหนังสือเสียงคือ มันเผาแบตมากเหลือเกิน ปกติแล้วอเมซอนไม่ใส่แบตใหญ่ๆสำหรับคินเดิล เพราะ E-Ink ใช้พลังงานน้อยมากรวมถึงมีระบบปฏิบัติการได้ปรับแต่งให้สงวนพลังงานให้มากที่สุด เครื่องจะได้เบา ถือมือเดียวได้นานๆ แต่พอเป็น bluetooth มันใช้แบตมาก

ผมทดสอบ Kindle Oasis 2 เล่นหนังสือเสียง “Astrophysics for People in a Hurry” โดยเข้า Airplane Mode ปิดปก วางหูฟังใต้เครื่อง ตกใช้กินแบต 11.0 % ต่อชั่วโมง ดังนั้นหมายความว่าอย่างมาก Kindle Oasis 2 จะเล่นหนังสือเสียงได้ไม่เกิน 9 ชั่วโมง ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ซึ่งอาจจะไม่จบเล่มด้วยซ้ำ แต่ถ้าเทียบกับอ่านอีบุ๊กอย่างเดียว จะอ่านได้ราว 21 ชั่วโมงอิงจากโฆษณาของอเมซอน

VoiceView

เครื่องคินเดิลยุคแรกๆ ต่างมีลำโพงในตัวและมีฟีเจอร์อ่านออกเสียง (text-to-speech) โดยสามารถอ่านออกเสียงอีบุ๊กที่ซื้อมาได้รวมถึงสามารถเล่นหนังสือเสียงที่ซื้อมาได้บนเครื่องโดยตรง แต่หลังจากหลังจากปี 2011 อเมซอนก็กลับลำเดินหน้าตัดฟีเจอร์เรื่องเสียงทิ้ง ตัดช่องเสียบหูฟัง ตัดลำโพงออก ตัดฟีเจอร์อ่านออกเสียงออก (Text-to-Speech) ทำให้เครื่องคินเดิลรุ่นต่อมารองรับเฉพาะการอ่านอีบุ๊กอย่างเดียว ไม่สามารถอ่านออกเสียงและไม่สามารถเล่นหนังสือเสียงได้อีก

เพิ่งมาในปี 2017 ที่ทางอเมซอนเปิดตัว Kindle Oasis 2 ที่ใส่ฟีเจอร์เสียงในตัวอีกครั้ง แต่รอบนี้ก็มาแปลก คือ ไม่ได้มาเป็นฟีเจอร์ TTS แต่มาเป็นฟีเจอร์ VoiceView ซึ่งวางตัวเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยผู้ใช้ที่พิการทางสายตาหรือมีปัญหาในการมองเห็นให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ได้ คล้ายๆ screen reader โดยจะอ่านทั้งหน้าจอรวมถึงอ่านอีบุ๊กให้เราฟังได้ด้วย และเพราะ Kindle Oasis 2 ไม่มีช่องเสียบหูฟัง ไม่มีลำโพง ดังนั้นจะใช้งานฟีเจอร์ด้านเสียง เราก็ต้องใช้งานผ่านลำโพงหรือหูฟัง bluetooth

สำหรับในแง่ TTS เวลาอ่านอีบุ๊กนั้น คุณภาพเสียงที่ได้ก็เรียกว่าพอใช้งานได้ เสียงมีเสียงเดียวเลือกไม่ได้ มีตัวเลือกให้ปรับแต่งได้น้อยมาก

alt="VoiceView settings"

แต่สำหรับคนที่คาดหวังว่าจะได้ฟีเจอร์ TTS กลับมานั้น โดยส่วนตัวก็ขอบอกว่า ให้คิดใหม่ ฟีเจอร์การอ่านออกเสียงมันต้องไปกับ VoiceView ซึ่งอึดอัดมาก ถ้าเราไม่ใช่ผู้มีปัญหาทางสายตาแล้ว ไม่แนะนำให้เปิดใช้จะดีกว่า เพราะมันจะเปลี่ยนการใช้งาน UI อย่างสิ้นเชิง เรียกว่าต้องเรียนรู้ปรับตัวใหม่หมด ยกตัวอย่าง เช่น

  • ปลดล็อกหน้าจอ: ใช้สองนิ้วปัดจากซ้ายไปขวา
  • อ่านหนังสือ: ใช้นิ้วเดียวปัดเป็นตัวแอล
  • แตะแช่กลายเป็นการเปลี่ยนโฟกัส (เมนู, ปุ่ม, ตัวเลือกต่างๆ, กล่องข้อความ)
  • แตะสองครั้งเพื่อกดเลือกสิ่งที่โฟกัสไว้ (สลับ toggle ในเมนู, กดปุ่มในกรอบโต้ตอบ, ฯลฯ)
  • แตะสองครั้งเพื่อแสดงแถบเครื่องมือ

เท่าที่ลองพยายามใช้ ครั้งแรกคืองุนงงมาก ไม่รู้ว่าจะเรียกเมนู เปลี่ยนหน้า จะให้อ่านออกเสียงหนังสืออีบุ๊กอย่างไร หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างปลดล็อกหน้าจอ หรือจะปิด VoiceView ก็ช่างลำบาก พบว่าน่าหงุดหงิดมากจนรู้สึกไม่คุ้มที่จะเปิดใช้

หมายเหตุ: ถ้าใช้งาน VoiceView แล้วมีเหตุให้ต้อง reset เครื่อง ขอเตือนไว้ว่า กระบวนการล้างเครื่องจะลบข้อมูลไฟล์เสียงออกไปด้วยจะทำให้ใช้งาน VoiceView ไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะใช้งานฟีเจอร์นี้หลังจากล้างเครื่องต้องไปโหลดตัวติดตั้งไฟล์เสียงมาติดตั้งในเครื่องจึงจะใช้งานได้อีกครั้ง

สิ่งละอันพันละน้อย

  • ถ้าตอนลงทะเบียน (register) แล้วพบว่าระบบขึ้นว่า login ไม่สำเร็จ และมั่นใจว่าใส่รหัสไม่ผิดพลาดด้วยแล้ว อย่าเพิ่งตกใจ อเมซอนเริ่มใช้งาน Two-Step Verification ให้ลองตรวจสอบอีเมล์ อเมซอนอาจส่ง One Time Password เป็นเลข 6 หลักมาให้ ให้ล็อกอินอีกครั้ง แต่ใช้เลข 6 หลักนี้แทนรหัสผ่าน
  • คิดดีๆ ก่อนปลดการลงทะเบียน (deregister): ด้วยเหตุผลใดๆก็แล้วแต่ ถ้าเราปลดบัญชีคินเดิลบน Kindle Oasis 2 เครื่องจะลบอีบุ๊ก,หนังสือเสียง,พจนานุกรม,รูปปกหนังสือในระบบ รวมไปจนถึงไฟล์ที่ sideload ลงมาทั้งหมดสิ้น
  • ถ้าไม่ได้ใช้งานสักพัก (ไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง) เครื่องจะเข้า sleep mode แล้วเวลาเปิดปกขึ้นมา ระบบจะใช้เวลาอีกสัก 1-2 วินาทีเพื่อตื่น (Waking up …) ซึ่งจะต้องรอ ก่อนที่เราจะใช้งานจอเพื่อปลดล็อกหน้าจอได้ ซึ่งแม้มันจะไม่นาน แต่รู้สึกน่าหงุดหงิด เท่าที่เช็คข้อมูล Kindle Oasis รุ่นแรกก็เป็นเหมือนกัน
  • ซอฟท์แวร์ไม่ค่อยเสถียร ระหว่างการทดสอบสองสัปดาห์ เจอแฮงก์ รีบู๊ต ด้วยตัวเองอยู่บ้างประปราย ซึ่งรู้สึกว่าแทบไม่เคยเจอบนเครื่องเก่าที่ใช้ซอฟท์แวร์รุ่นเดียวกัน แต่อาจจะเพราะว่าเป็นการลองทุกฟีเจอร์อย่างเต็มที่ก็เป็นได้

สเป็ค

หน้าจอ: E-Ink Carta ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 1680 x 1264 ที่ 300 dpi แสดงผลแบบ gray scale 16 ระดับ

แสงในตัว (front light): มี LED ให้แสง 12 ตัว พร้อม auto-brightness (light sensor)

เซนเซอร์: มีเซนเซอร์แม่เหล็ก (hall effect sensor) รองรับปกที่ช่วยเปิดปิดเครื่องอัตโนมัติ (auto sleep/wake), มี accelerometer

ขนาด: กว้าง 14.1 สูง 15.9 ซม. และ หนา 0.34-0.83 ซม.

น้ำหนัก: 194 กรัม

พื้นที่เก็บข้อมูล: รุ่นเล็ก 8 GB เหลือใช้งานประมาณ 6 GB สำหรับรุ่น 32 GB เหลือให้ใช้งานประมาณ 27.29 GB

แบตเตอรี่: แบบเปลี่ยนไม่ได้ 3.7V ความจุ 1,000 mAh (3.70 Wh)

ซีพียู: NXP i.MX7D dual-core Cortex A7 @1GHz

แรม: 512 MB

Wi-Fi: รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11b/g/n ที่ 2.4 GHz รองรับมาตรฐาน WEP, WPA, WPA2

Bluetooth: รองรับ Bluetooth 4.1 (A2DP และ AVRCP)

กันน้ำ: มาตรฐาน IPX8 – น้ำจืดลึกไม่เกิน 2 เมตร ได้ถึง 60 นาที

สี: Graphite, Champagne Gold

alt="ตารางเปรียบเทียบฟีเจอร์ของคินเดิลรุ่นปัจจุบัน"

ความรู้สึกหลังใช้งาน

ชอบ

  • จอใหญ่ 7″ พื้นที่มากขึ้น บรรทัดยาวขึ้น อ่านง่ายขึ้น ไม่ต้องกวาดตาขึ้นบรรทัดใหม่บ่อยๆ รวมถึงมีบรรทัดมากกว่าในหน้าเดียว
  • ซีพียูแรง ทำงานฉับไว พลิกหน้าเร็วกว่าเดิม
  • แสง front light เนียนกริบทั่วจอ ไม่เจอเงามืดเลย
  • มีโหมด Invert Black and White ที่ลดแสงสว่างเวลาอ่านกลางคืนได้อีก
  • พื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น ตัวเล็กสุด 8 GB ก็เรียกว่าน่าจะพอจะใส่อีบุ๊กที่ซื้อมาจากอเมซอนได้ทุกเล่ม ไม่ต้องง้อเน็ต ย่ิ่ง 32 GB นี่ไม่ต้องกลัวเต็ม
  • รองรับหนังสือเสียง (Audible)
  • กันน้ำได้

ไม่ชอบ

  • ตัวหนังสือซีด ตัวหนังสือ/พื้นหลังสีดำรู้สึกเหมือนเทาเข้มๆมากกว่าดำ ยิ่งเทียบกับเครื่องเก่ายิ่งเห็นชัด
  • เครื่องกว้างขึ้นไม่สามารถใส่ลงกระเป๋าหลังกางเกงยีนส์ได้อีกต่อไป
  • บางคนอาจไม่ชอบสัมผัสที่ขอบเครื่องเท่าไหร่ แต่ถ้าใช้เงินแก้ปัญหา ซื้อปกมาใช้ ก็จะเลี่ยงไม่เจอปัญหานี้
  • บอดี้อะลูมิเนียม เวลาถือเครื่องเปล่าๆ ในห้องแอร์อาจเย็นมือ และแผ่นหลังเรียบลื่น ถ้าถือบนรถเมล์,รถไฟฟา เวลาโดนสะกิดเบาๆ อาจมีหลุดมือ แนะนำหาปกแบบที่คลุมทั้งแผ่นหลัง (shell case) จะดีกว่า อีกทั้งป้องกันรอยขูดขีดและกันเครื่องบุบเวลาตกกระแทกได้อีกด้วย
  • ไม่รองรับการอ่านอีบุ๊กกับฟังหนังสือเสียงพร้อมกัน (immersion reading)
  • เป็นเรือธงราคาแพงแต่อายุแบตกลับน้อยที่สุดในรุ่นปัจจุบัน คือถ้าซื้อมาอ่านอีบุ๊กอย่างเดียวก็ไม่แย่มากขนาดนั้น แต่สำหรับรุ่นเรือธงแล้วควรจะทำได้ดีกว่ารุ่นอื่นๆ ยิ่งแต่ถ้าใช้อ่านหนังสือเสียงฟังทันไม่จบเล่มด้วยซ้ำไป
  • การอ่านออกเสียงยังคงเป็น VoiceView สำหรับผู้มีปัญหาการทางมองเห็นเสียมากกว่า ไม่ใช่ฟีเจอร์ Text to Speech ที่แท้จริง และเสียงที่ใช้ยังไม่เนียน
  • เวลา deregister จะโดนล้างเนื้อหาที่อยู่ในเครื่องออกไปหมดสิ้น รวมถึงที่ sideload ไว้ด้วย

สรุป

โดยรวมแล้ว Kindle Oasis 2 ก็ถือเป็นพัฒนาการต่อเนื่องของเครื่องอ่านอีบุ๊กตระกูลคินเดิล หน้าจอใหญ่ มีรูปลักษณ์ที่โฉบเฉี่ยวทันสมัย จอละเอียดคมชัด แสง front light ที่สว่างเนียน ซีพียูแรงทำงานฉับไว กันน้ำ พื้นที่เก็บข้อมูลเยอะ รองรับหนังสือเสียง สำหรับคนที่ต้องการประสบการณ์การใช้งานที่ดี Kindle Oasis 2 ก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการพิจารณา

อุปสรรคสำคัญคือเรื่องราคาที่สูง ด้วยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 250 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,400 บาท) เมื่อเทียบกับ Paperwhite รุ่นสามที่ยังจำหน่ายในราคาเริ่มต้นเพียง 120 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4,000 บาท) ซึ่งรองรับฟีเจอร์พื้นฐานการอ่านอีบุ๊กเหมือนๆกัน รวมถึงมีแสงในตัว ทำให้การซื้อ Kindle Oasis 2 อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่คุ้มค่าเท่าไรนักเมื่อเทียบกับฟีเจอร์ที่ได้

สำหรับคนที่ไม่เคยมีคินเดิลแล้วอยากจะซื้อเครื่องคินเดิลมือหนึ่ง ก็ยังไม่แนะนำให้ซื้อ Kindle Oasis 2 เป็นเครื่องแรก ด้วยงบประมาณที่สูงไปสักหน่อยในการลองผิดลองถูก อาจจะลองซื้อรุ่น Kindle Paperwhite 3 แล้วถ้ามั่นใจว่ามาถูกทางแล้ว ค่อยอัพเกรดไป Kindle Oasis 2

แต่ถ้าใครมีเครื่องอ่านอีบุ๊กตระกูลคินเดิลอยู่แล้ว แล้วอยากจะมีประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าเดิม ไม่มีปัญหาเรื่องงบประมาณ การเลือกซื้อเครื่องรุ่นท็อปอย่าง Kindle Oasis 2 ก็น่าจะไม่ทำให้คุณผิดหวังด้วยประการทั้งปวง

from:https://www.blognone.com/node/104835