รีวิว Dell XPS 13 (2018) อัลตร้าบุ๊คจอพรีเมียม ที่ราคาก็พรีเมียมด้วย

นับตั้งแต่การเปิดตัว XPS รุ่นหน้าจอเกือบไร้ขอบในปี 2015 ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ XPS ทาง Dell ก็แทบคงดีไซน์หลักเอาไว้ตลอดและปรับปรุงย่อยเป็นหลัก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของรุ่นปี 2018 นี้ถึงแม้จะยังคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่ก็ค่อนข้างเห็นได้ชัดจากทั้งดีไซน์และสีใหม่ ไปจนถึงพอร์ทที่เปลี่ยนเป็น USB-C ทั้งหมด

Dell XPS 13 รุ่นปีนี้จะใช้รหัสรุ่น 9370 โดยรุ่นที่ถูกนำเข้ามาขายในไทยมี 3 รุ่นย่อย จากทั้งหมด 4 รุ่น โดยรุ่นที่ Dell ประเทศไทยไม่ได้เอาเข้ามาขายคือรุ่นล่างสุดที่ใช้ Core i5-8250U แรม 4GB SSD 128GB

ส่วนรุ่นที่ Blognone ได้รับมารีวิวเป็นรุ่นท็อป ใช้ซีพียู i7-8550U แรม16GB SSD 512GB หน้าจอทัชสกรีนความละเอียด 4K UHD (3840 x 2160) ส่วนสีที่ได้มาเป็นสีดำ ฝาหลัง Platinum

alt="Dell XPS 13"

ดีไซน์และตัวเครื่อง

ดีไซน์ภายนอกหากมองผ่านๆ แทบจะไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก ฝาหลังยังคงเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งโทนสี Platinum ค่อนข้างคล้ายคลึงกับสีของ MacBook Air / MacBook Pro รุ่นเก่า ให้ความรู้สึกค่อนข้างพรีเมียม

alt="Dell XPS 13"

ด้านข้างของตัวเครื่องเป็นจุดที่แตกต่างจากรุ่นเก่า คือถูกออกแบบใหม่ให้มีความบางมากขึ้น แต่ยังคงทรงลิ่มไว้เช่นเดิม ส่วนปัจจัยที่ทำให้เครื่องสามารถบางลงได้ก็มาจากพอร์ทด้านข้างที่เปลี่ยนเป็น USB-C ทั้งหมด และทุกพอร์ทรองรับการชาร์จไฟ โดยด้านซ้ายเป็น Thunderbolt 3 สองพอร์ท ส่วนด้านขวาเป็น 3.5 มม., USB 3.1 และ microSD

alt="Dell XPS 13"

alt="Dell XPS 13"

ด้านท้องเครื่องยังคงดีไซน์แบบเดิม มีรูระบาดอากาศให้ด้วย (ไม่รวมช่องระบายอากาศที่บริเวณข้อพับหน้าจอ

alt="Dell XPS 13"

ด้านในตัวเครื่องในส่วนของสีดำนั้นยังคงใช้วัสดุเดิมคือคาร์บอนไฟเบอร์ ป้องกันรอยขีดข่วน (วัสดุใหม่จะเป็นรุ่นสีขาวที่ชื่อ crystalline silica ซึ่ง Dell ระบุว่าของขาด ดีมานด์ทั่วโลกสูงกว่าซัพพลาย ไม่รู้ของจะเข้าไทยเมื่อไหร่) เช่นเดียวกับคีย์บอร์ดที่เป็นแบบ chiclet ฟูลไซส์ มาพร้อมไฟ backlit ปรับได้สองระดับ

alt="Dell XPS 13"

ทัชแพดเป็น Precision Touchpad ปัญหาคือขนาดของทัชแพดที่ส่วนตัวรู้สึกว่าค่อนข้างเล็กไป ทำให้พื้นที่ในการกดและลากไม่เพียงพอ

alt="Dell XPS 13"

กล้องเว็บแคมถูกย้ายเอามาไว้ด้านล่างตรงกลาง จากเดิมที่อยู่มุมซ้ายล่าง ทำให้ถึงแม้มุมจะยังคงเป็นมุมเงย แต่ยังเงยในองศาที่พอเหมาะและดูเป็นธรรมชาติมากกว่าอยู่มุมซ้ายเช่นเดิม

alt="Dell XPS 13"

หน้าจอ Infinity Display

หนึ่งในปัญหาและความรู้สึกไม่เข้าใจส่วนตัวเมื่อใช้งานแล็บท็อปที่ไม่ใช่ 2-in-1 หรือพับได้ 180 องศาแต่มาพร้อมฟีเจอร์ทัชสกรีนคือจะมีมาให้ทำไม ถึงแม้ Windows 10 จะถูกออกแบบมาให้รองรับทัชสกรีน แต่ด้วย XPS เครื่องนี้พับไม่ได้ ก็แทบจะหา use case ของทัชสกรีนเลย

alt="Dell XPS 13"

ส่วนหน้าจอ Infinity Display ความละเอียด 4K ยังคงเป็นจุดเด่นของ XPS 13 เช่นเดิม ภาพคม สดใส สามารถสู้จอ Retina Display บน MacBook Pro ได้อย่างไม่เขินเลย ดู Netflix ที่รองรับ HDR ได้เต็มๆ ที่สำคัญคือสามารถสู้แสงแดดได้ดี เล่นกลางแจ้งก็ยังเห็นหน้าจออยู่

alt="Dell XPS 13"

การใช้งานและแบตเตอรี่

ปัญหาเดียวที่พบเจอจาก Dell XPS 13 เครื่องนี้คือพอร์ทที่เป็น USB-C ทั้งหมด โดย Dell แถมมาให้แค่สายแปลง USB-C to USB-A อันเดียว ทำให้หากไม่ได้ใช้ MacBook หรือมีพอร์ทแปลงอยู่แล้วต้องเสียเงินหาเพิ่มเติม

ส่วนแบตเตอรี่จากที่ทดลองใช้มา อยู่ที่ราวๆ 10 ชั่วโมง ใกล้เคียงกับที่ Dell เคลมเอาไว้ตอนเปิดตัว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความสว่างของหน้าจอที่เป็นปัจจัยสำคัญในการกินแบตเตอรี่ หากลดความสว่างลงก็ช่วยเพิ่มชั่วโมงการใช้งานได้ระดับหนึ่ง

alt="Dell XPS 13"

สรุป

ถือว่ายังคงระดับการเป็นอัลตร้าบุ๊คสายวินโดวส์ ที่เน้นความสวยงามของหน้าจอและการออกแบบไว้เอาเช่นเดิม อย่างไรก็ตามปัญหาของ Dell XPS 13 (2018) คือพอร์ท USB-C และราคาที่ค่อนข้างสูง โดยรุ่นต่ำสุดก็ปาเข้าไป 59,990 บาท แล้ว ขณะที่รุ่นท็อปที่ผมรีวิวราคาอยู่ที่ 79,990 บาท ซึ่งราคาอาจเป็นปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้หลายๆ คนลังเลก็ได้

alt="Dell XPS 13"

ข้อดี

  • หน้าจอ Infinity Edge ยังคงเป็นไม้ตายของ XPS ทั้งความละเอียด สวยงาม สีสันสดใส
  • งานประกอบสวยงาม หรูหรา พรีเมียมเป็นอัลตร้าบุ๊คที่โชว์ได้

ข้อเสีย

  • พอร์ท USB-C หากจะซื้อมาใช้ เตรียมเงินซื้อพอร์ทแปลง
  • ทัชแพ็ดเล็กเกินไป (ปัญหาส่วนตัว)
  • ราคาที่ค่อนข้างสูง แถม Dell ประเทศไทยไม่เอารุ่นล่างสุดมาขาย
Topics: 

from:https://www.blognone.com/node/100503