ศึกษากลยุทธ์ขายสินค้า 2 แบรนด์แต่ไส้ในเหมือนกันของ Western Digital อีกยักษ์ใหญ่สินค้า Storage

เวลาเห็นสินค้าแบรนด์ต่างกัน ความรู้สึกของผู้บริโภคย่อมคิดว่าไม่เหมือนกันเป็นธรรมดา แต่มาคราวนี้ Western Digital กลับยอมรับตรงๆ ว่าทำตลาดสินค้า SSD บนแบรนด์ที่ต่างกันคือ WD กับ SanDisk แต่กลับใช้ไส้ในเหมือนกันทั้งหมด

แบรนด์ WD กับ SanDisk ที่ต่างกันแค่แบรนด์ แต่ข้างในเหมือนกันทุกอย่าง

ทำตลาด 2 แบรนด์เพื่อตอบโจทย์แฟนบอย

หลังจาก Western Digital หรือ WD ควบรวมกิจการแบรนด์ SanDisk เมื่อปี 2559 ก็ทำให้ยักษ์ใหญ่สินค้า Hard Disk Drive (HDD) ที่มีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นในระดับ Storage เต็มตัว เพราะมีสินค้าที่ครอบคลุมทั้งการเก็บข้อมูลแบบจานหมุน และแบบแฟรชที่เป็นแผงวงจร

ซึ่งการควบรวมกิจการครั้งนี้ WD ตัดสินใจคงแบรนด์ SanDisk เอาไว้ เพราะมีผู้บริโภคที่ชื่นชอบ และรู้จักแบรนด์นี้อยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้า SD Card และ Memory รู้แบบต่างๆ แต่ในตัวสินค้า Solid Stage Disk หรือ SSD ที่ทั้งสองแบรนด์มีเหมือนกัน ทาง WD ก็ยังทำตลาดแบบแยกกันอยู่ แต่สเปก และวัตถุภายในตัวสินค้ากลับเหมือนกันทั้งหมด

Margaret Koh ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ ของ WD ยอมรับว่า การทำตลาด SSD โดยคงไว้ทั้งแบรนด์ WD กับ Sandisk คือกลยุทธ์ที่ถูกต้อง เพราะทาง WD ค่อนข้างใหม่ในตัวตลาด SSD ส่วน SanDisk ก็เป็นที่รู้จักในตลาดนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการทำสองแบรนด์พร้อมกัน แม้ประสิทธิภาพ และราคาของสินค้านั้นเท่ากันก็น่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้

Margaret Koh ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ประจำภูมิภาคเอเชียใต้ ของ WD

ใส่เทคโนโลยี 3D สร้างความต่างกับคู่แข่ง

“มันขึ้นอยู่ว่าผู้บริโภคชอบแบรนด์ไหน เพราะประสิทธิภาพ และราคามันเท่ากัน แต่ในมุมการตลาด ถ้าเป็นแบรนด์ WD เราจะเน้นไปที่กลุ่มผู้ซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ กับต้องการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องเล็กน้อย ส่วนถ้าแบรนด์ SanDisk จะเน้นที่กลุ่มใช้งานประสิทธิภาพสูง เช่นเกมเมอร์ รวมถึงกลุ่มใช้งาน Memory ต่างๆ อยู่แล้ว เพราะคุ้นเคยกับแบรนด์มากกว่า”

ทั้งนี้ SSD แบรนด์ WD และ SanDisk จะมาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ 3D NAND แบบ 64 Layers เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น โดยราคาของ SSD แบบสล็อต SATA ทั้งแบรนด์ WD และ SanDisk จะเริ่มต้นที่ความจุ 250 GB ราคา 4,290 บาท ส่วนแบบสล็อต M.2 จะมีเพียงแบรนด์ WD เริ่มต้นที่ความจุ 250 GB ราคา 4,390 บาท

Hardisk แบบจานหมุนยังมีความต้องการอยู่

ส่วนตลาดโลก และไทย ภาพรวมยอดขาย SSD นั้นอยู่ในรูปแบบสล็อต SATA ราว 80% ส่วนที่เหลือเป็นสล็อต M.2 เพราะตัว M.2 รองรับแค่คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ เท่านั้น ในทางกลับกันตัว Hard Disk Drive หรือหน่วยเก็บข้อมูลแบบจานหมุน ก็ยังมีความต้องการอยู่ เพราะด้วยราคาที่ถูกกว่า SSD มาก แต่ได้ความจุที่มากกว่า ทำให้ผู้บริโภคนิยมซื้อไปใช้คู่กับ SSD

ภาพ pixabay.com

สรุป

ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเห็นบ่อยนักกับการยอมรับตรงๆ ว่าใช้แบรนด์ต่างกัน แต่ใส้ในทุกอย่างเหมือนกัน เพราะมันก็ดูแปลกๆ ว่าถ้าเหมือนกันขนาดนั้น แล้วทำไม่ไม่ทำแบรนด์เดียวตรงๆ ไปเลย แต่จากคำตอบที่ WD อ้างมาก็ค่อนข้างฟังขึ้น เพราะทั้ง WD และ SanDisk ก็มีแฟนๆ ของสินค้าตัวเองเยอะอยู่ ดังนั้นถ้าไปซื้อสินค้าก็อย่าลืมเช็คให้ดีว่ามีใส้ในเหมือนกันบ้างหรือเปล่า

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/western-digital-two-brand-but-same/