คลังเก็บป้ายกำกับ: ไตรมาส_3

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 เติบโตช้าลงอยู่ที่ 4.9% เซ่นปมโควิด, พลังงานและอสังหาฯ

เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 เติบโตช้าลงอยู่ที่ 4.9% ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนี้มีหลายเรื่อง นับตั้งแต่เรื่องนโยบายจัดการโควิดระบาดไม่จบ การขาดแคลนพลังงาน ไปจนถึงความเสี่ยงจากแรงกดดันจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้ GDP ของจีนอยู่ที่ 4.9%

เศรษฐกิจของจีนเติบโตชะลอลงนี้ เกิดขึ้นหลังจากจีนใช้มาตรการ zero-tolerance COVID หรือมาตรการจัดการโควิดให้เป็นศูนย์ด้วย สิ่งที่รัฐบาลจีนทำเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิดและเพื่อคุมตัวเลขการติดโควิดให้กลายเป็นศูนย์นี้ มีทั้งการปิดพรมแดน การปล่อยให้คนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศน้อยลงเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในประเทศไม่ให้มีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

นี่คือมาตรการที่จีนทำนับตั้งแต่มีการระบาดครั้งแรก หลังจากคุมโควิดระบาดได้แล้ว จีนยังเดินหน้าใช้นโยบาย zero-tolerance เพื่อจัดการกับโควิดต่อไป ทำให้ผู้คนเริ่มต่อต้านมาตรการดังกล่าวเพราะต้องการให้มีการเดินทางบ้าง อีกทั้งช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ผู้คนนับร้อยที่อาศัยอยู่ใน Yangzhou ต่างออกมาประท้วงหลังมีการล็อคดาวน์พรมแดนยาวนาน 3 สัปดาห์

กอปรกับระบบเดลิเวอรี่ของรัฐบาลมีปัญหา ทำให้คนออกมาประท้วงเพราะไม่ได้รับอาหาร ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสิ่งของจำเป็นจากรัฐบาล แม้สุดท้ายอาหารจะส่งถึงมือชาวบ้านในเมืองนั้นแต่ผักที่ได้ก็กลายเป็นผักเน่า ผู้คนโกรธแค้นที่ระบบเดลิเวอรี่ของรัฐมีปัญหา รวมทั้งล็อคดาวน์อันยาวนานเกินไป

GDP ของจีนไตรมาส 2 เติบโตอยู่ที่ 7.9% แต่ไตรมาส 3 นี้เติบโตชะลอลงอยู่ที่ 4.9% ไม่ได้มาจากนโยบายล็อคดาวน์ที่เข้มข้นมากเกินไปเท่านั้น แต่ยังเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ของ Evergrande ด้วยที่สร้างปัญหาและทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านการชำระหนี้ไปด้วย

ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนทั้งหมดสะท้อนความอ่อนแอลง ซึ่งรวมถึงภาคการผลิตและการใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วย ปัจจัยที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์กังวลในระยะใกล้นี้คือ ราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลต่อบริษัทจัดหาพลังงานไฟฟ้าไปด้วย สัปดาห์ที่ผ่านมาจีนประกาสดัชนีราคาผู้ผลิต (ppi) สำหรับสินค้าผลิตในเดือนกันยายนมีราคาสูงขึ้น 10.7% เทียบจากปีก่อนหน้า เป็นราคาที่สูงที่สุดในรอบ 25 ปี

รัฐบาลจีนคาดว่าเศรษฐกิจจีนปี 2021 นี้จะเติบโตอยู่ที่ 6% ขณะที่ IMF คาดว่าจะอยู่ที่ 8% ส่วน ADB คาดว่าน่าจะโตที่ 8.1% เศรษฐกิจจีนขยายตัว 9.8% ครั้งแรกในรอบ 9 เดือนโดยมีปัจจัยด้านการค้าทั้งการส่งออกและการนำเข้าเป็นตัวขับเคลื่อนทำให้มีอัตราที่เพิ่มขึ้นราว 23% ภาคบริการเติบโตราว 19.3% สำนักงานสถิติระบุว่า GDP เติบโต 0.2% ในไตรมาส 3 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี Fu Lingxuan โฆษกสำนักงานสถิติของจีนระบุว่า พลังงานขาดแคลนชั่วคราวและส่งผลกระทบในระดับที่จีนควบคุมได้ ภาคอสังหาริมทรัพย์ล้วนได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของบริษัท ทั้งเรื่องก่อสร้าง การทำสัญญา วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงเครื่องเรือนตกแต่งบ้านก็ได้รับผลกระทบด้วย

ที่มา – The Diplomat, Nikkei Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 เติบโตช้าลงอยู่ที่ 4.9% เซ่นปมโควิด, พลังงานและอสังหาฯ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/china-economic-growth-rate-q3-in-2021/

CRC พลิกกลับ ผลประกอบการไตรมาส 3 ฟื้นตัวแบบ V-Shape รายได้ใกล้เคียงก่อนโควิด

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC) เผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2563 พลิกฟื้นกลับมาแบบ V-shape สู่ระดับใกล้เคียงก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 (ไตรมาส 1/2563) จากปัจจัยหลัก 5 ประการ ได้แก่

  1. ความสามารถในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้และทำให้เกิดขึ้นได้จริง
  2. ความเป็นผู้นำ (First Mover) ที่ผันตัวจากค้าปลีกออฟไลน์ (Offline Retailer) สู่การเป็นค้าปลีกออมนิแชแนล (Omnichannel Retailer) อย่างเต็มรูปแบบ
  3. องค์กรและทีมงานที่มีความยืดหยุ่น และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
  4. ความสามารถในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านบริการออมนิแชแนล
  5. การดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง และการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งภายใต้ความไม่แน่นอน

ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้ ส่งผลให้รายได้รวมในไตรมาส 3/2563 แตะ 47,573 ล้านบาท เติบโต 15% จากไตรมาสที่แล้ว และคิดเป็น  สัดส่วน 89% เทียบกับรายได้ในไตรมาส 3/2562  และพลิกกลับมาทำกำไร 869 ล้านบาท จากการขาดทุน 2,519 ล้านบาท ในไตรมาสที่แล้ว

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ถึงปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทาย แต่ CRC ก็ยังมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจโดยรวม พลิกจากขาดทุนจนกลับมามีรายได้และกำไรใกล้เคียงกับช่วงก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

พร้อมกันนั้นยังได้มีการทรานส์ฟอร์มห้างสรรพสินค้าในเฟสแรก ปรับโฉม (Rebranding) ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาเมกา บางนา ตามด้วยสาขาอุดรธานี รวมถึงเพิ่มการลงทุนและขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในทุกธุรกิจของ CRC อาทิ การเปิดไทวัสดุ สาขาอมตะนคร ในเดือนสิงหาคม, ศูนย์การค้า GO! บวนมาถ็วต ในเดือนกรกฎาคม และซูเปอร์มาร์เก็ต go! ตามเก่ย ในเดือนสิงหาคม ที่ประเทศเวียดนาม

นอกจากนี้ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา CRC ยังได้รับอนุมัติให้เข้าซื้อกิจการบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือ COL เพื่อเสริมแกร่งกลุ่มธุรกิจฮาร์ดไลน์อีกด้วย

“แม้ยอดขายในไตรมาส 3 ของ CRC จะฟื้นตัวกลับมาแบบ V-shape อย่างเป็นที่น่าพอใจ แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ อาทิ การกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม CRC จะยังคงพัฒนาองค์กรและปรับตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวมมีสภาพคล่องมากขึ้น ร่วมผลักดัน SMEs หลายแสนรายภายใต้แพลตฟอร์ม CRC ให้ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว และสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยยังคงยึดมั่นที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้”

บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเซ็นทรัล รีเทล เป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย และเป็นบริษัทเรือธงด้านค้าปลีก ซึ่งเป็นรากฐานของกลุ่มเซ็นทรัล มีเครือข่ายร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีกที่สำคัญจำนวน 3,831 ร้านค้า (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563) นำเสนอสินค้าหลากหลายประเภท (Multi-category) ผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย (Multi-format) อาทิ ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ, ร้านขายสินค้าเฉพาะทาง, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต, พลาซ่า และการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ในรูปแบบออมนิแชแนล โดยครอบคลุมกลุ่มแฟชั่น ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์, ซูเปอร์สปอร์ต, Central Marketing Group (CMG) และรีนาเชนเต (Rinascente) กลุ่มฮาร์ดไลน์ ได้แก่ ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์, เพาเวอร์บาย, เหงียนคิม และกลุ่มฟู้ด ได้แก่ ท็อปส์ มาร์เก็ต, ท็อปส์ เดลี่, ท็อปส์ พลาซ่า, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, แฟมิลี่มาร์ท, บิ๊กซี/โก! และลานชี มาร์ท ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 เซ็นทรัล รีเทล ครอบคลุมใน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทยที่มีห้างสรรพสินค้า ร้านค้า รวมกัน 1,952 แห่ง ใน 55 จังหวัด พร้อมทั้งยังดำเนินธุรกิจค้าปลีกในประเทศอิตาลี และประเทศเวียดนาม รวมกัน 136 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2563)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/crc-q3-2020/

AIS ไตรมาส 3 ปี 63 รายได้ 41,715 ล้านบาท กำไร 6,764 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากผลกระทบโควิด

AIS รายงานผลประกอบการ ไตรมาส 3/2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 41,715 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า กำไรสุทธิ อยู่ที่ 6,764 ล้านบาท* โดยหากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทำให้กำไรสุทธิทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุน และแม้จะได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตลอดช่วง 9 เดือนแรกของปี ยังคงเดินหน้าลงทุนด้านเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
*ไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16*

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ไตรมาส 3 เอไอเอส มีรายได้รวม 41,715 ล้านบาท ลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

สำหรับธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เอไอเอส ยังคงมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในตลาดที่ 40.9 ล้านเลขหมาย เป็นลูกค้าระบบรายเดือน จำนวน 9.7 ล้านราย เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ จำนวน 235,000 ราย และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 31.2 ล้านราย ลดลง 313,000 ราย โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจต่อเนื่องมายังไตรมาส 3 ส่วนการใช้งานดาต้าเฉลี่ยอยู่ที่ 17.2 กิกะไบต์ต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.3% และสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ 4G ยังเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่องเพิ่มขึ้นเป็น 76% ของฐานลูกค้าทั้งหมด

ส่วนธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้วยจำนวนลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 53,000 ราย ส่งผลให้มีลูกค้ารวม 1.26 ล้านราย และมีรายได้จากธุรกิจเน็ตบ้าน 1,785 ล้านบาท เติบโตขึ้น 21% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่าจะมีลูกค้ารวมไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านรายภายในสิ้นปีนี้

ด้านธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรเติบโตสูงต่อเนื่องจากความต้องการใช้บริการ Cloud, Data Center และ IT Solution ที่เพิ่มขึ้นด้วยความต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และเดินหน้าสร้างโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กรด้วยขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง

ด้วยปัจจัยลบทั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ยังคงส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภาคธุรกิจไทยในภาพรวม ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนตัว และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ทั้งนี้ บริษัทยังคงมุ่งเน้นการบริหารต้นทุนและการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรักษาความสามารถในการทำกำไรสำหรับการเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ เอไอเอส มีกำไรสุทธิ 6,764 ล้านบาท* ลดลง 6.5 % เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ผลกำไรสุทธิทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
*ไม่รวมผลของมาตรฐานบัญชีไทย 16*

ทั้งนี้ เอไอเอสยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีการกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่เพียงพอต่อการลงทุนขยายโครงข่าย ทั้งบริการ 5G และ 4G รวมทั้งค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ซึ่งบริษัทยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานใน 9 เดือนแรกรวม 65,000 ล้านบาท และคงงบลงทุนทั้งปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/ais-q3-2020/