คลังเก็บป้ายกำกับ: แมว

น้องหมาน้องแมวก็ร้อนเป็น: บริษัทญี่ปุ่นผลิตเสื้อติดพัดลมพกพาได้ ช่วยน้องๆ คลายร้อน

ช่วงที่อากาศร้อนสุดกู่ ผู้คนก็อาจใช้เครื่องปรับอากาศหรือพัดลมช่วยบรรเทาได้ แต่สำหรับสัตว์เลี้ยงแสนรักที่มีขนเต็มตัวหนาแน่น เวลาที่พวกเขาร้อน พวกเขาบอกเราไม่ได้ ได้แต่สื่อสารกับเราผ่านพฤติกรรม จะดีกว่าไหมถ้ามีเสื้อติดพัดลมพกพาให้เขาสวมใส่เพื่อคลายร้อน

portable fan clothes for pets

ล่าสุด บริษัทญี่ปุ่นหาทางออก แก้ปัญหาช่วยสัตว์เลี้ยงคลายร้อนด้วยการประดิษฐ์เสื้อที่ติดพัดลมไว้กับตัว โดยบริษัทเสื้อผ้าแบรนด์ Sweet Mommy ที่เน้นผลิตเสื้อผ้าให้สำหรับแม่และเด็กเข้ามารุกตลาดสัตว์เลี้ยงด้วย หวังช่วยให้สัตว์เลี้ยงคลายร้อนต่อสู้กับอากาศที่ไม่เป็นใจ ด้วยการผลิตเสื้อผ้าที่ติดพัดลมพกพาและบรรจุแบตเตอรี่น้ำหนัก 85 กรัม

ด้าน Rei Uzawa ประธานบริษัทเสื้อผ้าระบุว่า พัดลมถูกออกแบบมาสำหรับน้องหมาและน้องแมวที่ประสบปัญหากับภาวะอากาศร้อน หลังจากที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาคลื่นความร้อนยาวนานกว่าปกติในช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา อากาศร้อนราว 35 องศาเซลเซียสยาวนานติดต่อกัน 9 วัน Uzawa กล่าวว่า เธอเห็นน้องหมาพันธุ์ชิวาว่าของเขามีอาการเหนื่อยอ่อนจากอากาศร้อนมากจนทำให้เธอเกิดแรงจูงใจที่จะผลิตเสื้อติดพัดลมคลายร้อนให้สัตว์เลี้ยง

แม้ว่าญี่ปุ่นกำลังเข้าใกล้ฤดูฝนแล้ว แต่อากาศที่ร้อนยาวนานเช่นที่เคยมีมานั้นทำให้เธอคิดว่าในวันที่มีอากาศร้อนเราควรพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ตลาด เธอบอกว่าตั้งแต่ผลิตเสื้อติดพัดลมพกพาแบบนี้และเปิดตัวสินค้าในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีคนออเดอร์ไปแล้วกว่า 100 ชิ้น สำหรับเสื้อติดพัดลมสำหรับน้องหมาน้องแมวนี้มี 5 ขนาดขายด้วยราคา 9,900 เยน หรือประมาณ 107 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3,863 บาท

ด้าน Mami Kumamoto ผู้เลี้ยงน้องหมาขนาดเล็กอย่างพุดเดิลและทอร์เรียบอกว่า เธอมักจะใช้เจลเก็บความเย็นมาช่วยให้น้องหมาของเธอคลายร้อนได้ เธอบอกว่าเมื่อมีเสื้อติดพัดลมพกพาแล้วน่าจะทำให้เธอพาน้องหมาเดินเล่นในช่วงอากาศร้อนได้ดีขึ้น

ที่มา – ABC News, Guardian

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post น้องหมาน้องแมวก็ร้อนเป็น: บริษัทญี่ปุ่นผลิตเสื้อติดพัดลมพกพาได้ ช่วยน้องๆ คลายร้อน first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/japan-company-create-portable-fan-clothes-for-pets/

แพงแค่ไหนก็พร้อมจ่าย เพราะใจรัก! เทรนด์โคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงกำลังมาแรง

ยุคสมัยนี้ อะไรก็เป็นไปได้! หลังจากที่มีการโคลนนิ่งแกะที่ชื่อดอลลี่ (Dolly) ตัวแรกของโลกสำเร็จ จากนั้นมาก็เริ่มมีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด เทรนด์ตอนนี้ก็คือการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงแสนรัก เพื่อบรรเทาความคิดถึงของเจ้าของ

pet-cloning

John Mendola อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เป็นอีกรายหนึ่งที่หันมาโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงด้วย หลังจากที่เขาพบว่าน้องหมาของเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งที่ทำให้เสียชีวิตได้ เขาจึงตัดสินใจทำการโคลนนิ่ง สายพันธุ์ที่โคลนนิ่งคือ Shih Apso ซึ่ง Mendola ตั้งชื่อเธอว่า Princess เลี้ยงดูอยู่ราว 10 ปีก่อนจะพบว่าเป็นโรคมะเร็ง เขาจึงไปที่ Viagen Pets and Equine ซึ่งเป็นบริษัทแห่งแรกและแห่งเดียวในสหรัฐที่รับทำโคลนนิ่งแมว หมาเพื่อการค้า

Mendola เล่าว่า เขารู้กระบวนการทั้งหมด หลังจากดูสารคดีของเกาหลีใต้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเทศในเอเชียคือผู้นำในเรื่องนี้ ผลิตหมาโคลนนิ่งเป็นตัวแรกในปี 2005 โดยทาง Viagen นำชิ้นเนื้อหรือเนื้อเยื่อตัวอย่างของเจ้า Princess มาเก็บไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 2017 มีการโคลนนิ่งไว้สองตัว เขาตั้งชื่อให้ว่า Princess Ariel และ Princess Jasmine ตามหนังดิสนีย์ เขาบอกว่าทุกอย่างเหมือนเดิม ทั้งขนและแม้แต่ลักษณะนิสัยบางอย่าง สองตัวที่ถูกโคลนนิ่งใหม่ก็เป็นแบบเดียวกัน

แม้ว่าการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่นำมาถกเถียงกันมาก แต่ความนิยมในการโคลนนิ่งก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายก็สูงตามไปด้วย ทาง Viagen ระบุว่า ตอนนี้การโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทางบริษัทมีการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงนับร้อยตัวแล้วนับตั้งแต่เปิดตัวทำธุรกิจครั้งแรกในปี 2015

ค่าใช้จ่ายในการโคลนนิ่งสุนัขอยู่ที่ 50,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.68 แสนล้านบาท ขณะที่แมวนั้นค่าโคลนนิ่งอยู่ที่ 30,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1 ล้านบาทและโคลนนิ่งม้าอยู่ที่ 85,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 2.85 ล้านบาท แม้ต้นทุนในการทำโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะมีราคาสูงมาก แต่คนดังจำนวนมากก็เผยว่าพวกเขาได้โคลนนิ่งหมาของพวกเขา บ้างก็กำลังตัดสินใจว่าจะทำโคลนนิ่งเช่นกัน

cat
Photo by Minhaz AV on Unsplash

ย้อนกลับไปในปี 2018 Barbra Streisand นักร้อง นักแสดงและผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งวงการฮอลลีวูดก็เปิดเผยว่าเธอใช้บริการ Viagen แล้ว เธอทำโคลนนิ่งลูกหมาสองตัวจากหมาที่เธอรักอีกตัวชื่อ Samantha ไม่ได้มีแค่เธอเท่านั้น ในปีเดียวกันยังมีผู้ทรงอิทธิพลในวงการบันเทิงอย่าง Simon Cowell ก็โคลนนิ่งหมาของเขาเช่นกัน

อย่างไรก็ดี การโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงก็มีเพียงส่วนหนึ่งที่ยมรับ บางส่วนก็ยังไม่เห็นด้วยกับการโคลนนิ่งและกังวลว่าสัตว์เลี้ยงที่ทำโคลนนิ่งออกมาก มีจำนวนมากที่เกิดมาแล้วสุขภาพไม่ดี มีรายงานจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์กระบุว่า ค่าเฉลี่ยที่จะทำโคลนนิ่งสำเร็จอยู่ที่ 20% หมายความว่าจะต้องให้ตัวแม่ผู้ที่จะคลอดสัตว์ตัวที่โคลนนิ่งออกมาได้นั้นต้องใช้ความพยายามหลายครั้ง อีกทั้งการโคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงนั้นไม่สามารถโคลนนิ่งพฤติกรรมของสัตว์ตัวเดิมมาด้วย

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่จากกลุ่มสิทธิสัตว์ก็สนับสนุนและแนะนำให้ผู้คนหาสัตว์เลี้ยงตัวใหม่โดยการรับเลี้ยงสัตว์ที่ถูกทิ้งและต้องการบ้านอยู่ มากกว่าจะหาทางโคลนนิ่งจากตัวเดิมแต่ไม่ได้โคลนนิสัยและพฤติกรรมเดิมกลับมาด้วย

ที่มา – BBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post แพงแค่ไหนก็พร้อมจ่าย เพราะใจรัก! เทรนด์โคลนนิ่งสัตว์เลี้ยงกำลังมาแรง first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cloning-pets-popular/

ถอดวิธีคิดเจ้าของคาเฟ่และโรงแรมแมว: อยู่อย่างไรให้รอด ในวันที่หลายธุรกิจปิดตัว

ในยุคที่โควิดระบาดหนักขนาดนี้ หลายคนต้องถูกลอยแพจากตำแหน่งงานโดยไม่ตั้งใจ บ้างก็ถูกลดเงินเดือน ปรับสภาพไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีสภาวะถดถอย ยุคนี้ แค่คิดจะหยิบจับหรือทำธุรกิจอะไรขึ้นมาสักอย่าง ถือเป็นเรื่องยากแสนยาก ทั้งยากในวิธีคิดเพื่อการก่อตั้งและยากที่จะดำรงอยู่ได้อย่างดี โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ใครๆ ก็ไม่กล้าใช้เงิน เพราะเราต่างไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้จะอยู่กับเราไปอีกยาวนานแค่ไหน ทำได้แค่เพียง ระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างสุดกำลัง

วันนี้ Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจคาเฟ่และโรงแรมแมว ณัฐฤฎา ช้วนรักธรรม (เกม) เจ้าของร้าน Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel เรามาดูกันว่า เธอมีวิธีคิดในการทำธุรกิจช่วงโควิดระบาดอย่างไรบ้าง

Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel

ณัฐฤฎาเล่าให้เราฟังว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจนี้ จากตัวเธอเองที่เป็นคนรักแมว ชอบเลี้ยงแมวและชอบไปเที่ยว ช่วงที่เธอไปเที่ยว เธอก็ต้องเอาแมวของเธอไปฝากตามโรงแรม ตามคลินิก ซึ่งคนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นห่วงสัตว์เลี้ยงที่เปรียบเหมือนลูกของตัวเองและเอาไปฝากในสถานที่ต่างๆ ที่รับดูแล เธอเริ่มจากดูข้อมูลว่าการทำธุรกิจแบบนี้เขาทำอย่างไรกันบ้าง ปกติโรงแรมแมวจะมีเฉพาะตามคลินิก เมื่อไปถึงจะนำสัตว์เลี้ยงไปใส่กรงบ้าง บางแห่งก็ทำพื้นที่ให้กว้างขึ้น มีของเอนเตอร์เทนแมวเหมือนโรงแรมแมว

จากนั้นเธอก็เริ่มคิดทำธุรกิจนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019-2020 เธอคิดว่าอยากทำเพราะชอบและคิดว่าน่าสนใจ ถ้าทำเป็นโรงแรม จะต้องรอคนนำสัตว์เลี้ยงมาฝากและพากลับไป เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรมากกว่าโรงแรมแมว เช่น มีการทำเครื่องดื่ม ทำขนม ทำโรงแรมและคาเฟ่ไว้ในพื้นที่เดียวกัน ตัวเธอเองก็มีแมวเลี้ยงอยู่ก่อนหน้าแล้ว 7 ตัว แมวที่เธอเลี้ยงเริ่มจากการเลี้ยงแมวจรเพราะอยากช่วยเหลือ เธอนำแมววิเชียรมาศ แมวขาวมณี รวมเป็นแมวจร 4 ตัวมาเลี้ยง จากนั้นเธอก็ซื้อแมวพันธุ์มาอีก 2 ตัว และรุ่นพี่ที่รู้จักกันเก็บแมวจรข้างถนนมาอีก 1 ตัวให้เธอช่วยเลี้ยง

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ทำธุรกิจคาเฟ่และโรงแรมแมวเพราะใจรัก ไม่ได้ทำเพราะตามกระแส

จุดตั้งต้นของเธอคือความรักที่มีต่อแมวอยู่เป็นทุนเดิมหรือเรียกได้ว่าเป็นทาสแมวมาก่อน ไม่ได้คิดจะทำธุรกิจเช่นนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม หากเราไปตามคาเฟ่ต่างๆ เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่เลี้ยงแมวพันธุ์ แต่สำหรับเธอไม่ได้เริ่มจากแนวคิดนั้น 

เธอแบ่งโซนสำหรับทำพื้นที่ให้แมวโดยการแบ่งเป็นรูปแบบการดูแลลูกค้า ถ้าเป็นลูกค้าที่เล่นกับแมวจะมีคาเฟ่ชั้นล่างและเอาท์ดออร์เล็กๆ ส่วนด้านบนทำเป็นโรงแรมแมว จัดโซนให้เฉพาะคนเอาแมวมาฝาก มีห้องสำหรับให้แมวอยู่จำนวน 11 ห้อง แยกกันเป็นโซน

คาเฟ่แมว- Cat Slave Cafe' And Cat Hotel
Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

สำหรับในส่วนของ Cat Hotel จะมีขนาดห้องที่หลากหลายด้วยกัน มีห้องแบบ Single Room เรตราคาอยู่ที่ 150 บาท น้องแมวสามารถมาอยู่ได้ 1 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 60x100x90 ซม. ส่วนห้องรูปแบบ Standard Room เรตราค 250 บาท แมวอยู่ได้ 2 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 60x100x1170 ซม.

ส่วนห้องที่เป็นแบบ Family Room เรตราคาอยู่ที่ 350 บาท แมวอยู่ได้ 4 ตัว ขนาดพื้นที่ 110x120x190 ซม. และห้องแบบ View Room เรตราคาอยู่ที่ 400 บาท แมวอยู่ได้ 4 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 110x120x190 ซม. ทาง Cat Hotel มีทรายแมวไว้ให้และมีอาหารแมวให้ด้วย (ลูกค้าสามารถเอาอาหารสำหรับแมวมาได้ด้วย) ค่าอาหารจะตกวันละ 50 บาท เป็นอาหารเม็ด ส่วนมากลูกค้ามักจะนำอาหารมาเอง เพราะแมวแต่ละตัวก็จะมีความต้องการหลากหลาย มีการทานอาหารที่จำเพาะแล้วแต่การเลี้ยงดู

คนที่เอาแมวมาฝาก จะต้องมีสมุดสุขภาพแมว ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้มีอาการป่วยอยู่เดิม มีเอกสารให้เซ็นยินยอมว่ากรณีที่แมวป่วยหรือเสียชีวิต ทางคาเฟ่และโรงแรมแมวจะไม่ได้รับผิดชอบในส่วนนี้ แต่ทางร้านจะแจ้งข้อมูลกับลูกค้าเสมอว่า ถ้าแมวของเขาป่วยขณะที่มาอยู่ที่คาเฟ่หรืออยู่ในโรงแรมแมว ทางร้านก็จะพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ โดยลูกค้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง  

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ณัฐฤฎาพูดถึงการนำแมวไปฝากของผู้คนส่วนใหญ่ มักจะแมวพันธุ์มาฝากอยู่แล้ว ส่วนมากแมวไทยก็เลี้ยงกึ่งปิดกึ่งปล่อย ทางร้านก็จะประเมินอยู่เสมอว่าเขาจะเอาแมวมาทิ้งที่ร้านหรือไม่ มีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชน มีการ add Line เพื่อส่งภาพความเป็นอยู่ของน้องแมวให้ลูกค้าดูทุกวันทั้งเช้าและเย็น ว่าลูกเขาทำอะไร มีกิจกรรมอะไร ส่งความคืบหน้าทุกวัน

ปัจจุบันทาง Cat Slave Cafe’s And Cat Hotel เปิดให้บริการในส่วนของคาเฟ่ แต่ยังปิดในส่วนของโรงแรมอยู่ เพราะยังต้องเฝ้าระวังเรื่องโควิดระบาดอยู่ ตอนนี้ขายเครื่องดื่มในไลน์แมน https://wongn.ai/q8bny ขายในหมู่บ้าน ขายตามกลุ่มคนชุมชนแถวนี้ ยังไม่ได้ใช้เงินทำการตลาดด้านนี้มากนัก เรียกว่า ทำร้าน ทำธุรกิจแบบซ้อมเปิดไปก่อน “ตอนนี้ก็ซ้อมขายไปก่อน ขายได้นิดหน่อยก็ดีกว่าปิดไปเลย อย่างน้อยก็มีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ก็ยังไม่คุ้มทุน”

สำหรับเมนูเครื่องดื่มก็มีทั้งชา กาแฟ โกโก้ อิตาเลียนทั่วไป หลังจากนี้ถ้าสามารถเปิดร้านและโรงแรมได้เต็มรูปแบบก็จะมีการเพิ่มเมนูของทานเล่น นักเกต เฟรนส์ฟราย อาจจะมีเมนูหนักๆ บ้าง เช่น ขนมจีนแกงเขียวหวาน อาหารคาววันละหนึ่งอย่าง

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

เลือกลงทุนในยุคนี้ มีวิธีคิดอย่างไร

ณัฐฤฎาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าโควิดระบาดลุกลามหนักขนาดนี้ ด้วยการจัดการไม่ดี ทำให้ล้มเหลวไปหมด ตอนที่คิดลงทุนยังไม่หนักขนาดนี้ และสิ่งที่ทำไม่ได้บูด ไม่ได้เสีย ไม่พัง ถึงเปิดตอนนี้ไม่ได้ ก็ยังเก็บไว้เปิดในอนาคตได้ แม้ตอนนี้จะรู้สึกเหนื่อยอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าทำไปก่อน 

อีกทั้งสถานที่ก็เป็นบ้านของตัวเองอายุ 30 ปีแล้ว เธอเลือกทุบทิ้งบางส่วนและรีโนเวต พื้นทำใหม่ หลังคาทำใหม่หมดเลย ต่อเติมบ้าง โครงสร้างเดิม ทำใหม่ราว 1 ล้านเศษ ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์ ทำใหม่หมดใช้ระยะเวลานาน 1 ปี และก็เลือก reference ให้ช่างปรับตามรวมทั้งวัสดุใช้ในบ้าน เป็นบ้านตัวเอง หลังโควิดระบาดอย่างหนักก็ทำให้ผู้คนเดินทางไม่ได้ ก็ยังไม่เปิดโรงแรมให้แมวพัก

ณัฐฤฎา ช้วนรักธรรม (เกม) เจ้าของร้าน Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel

สำหรับข้อคิดในการทำธุรกิจยุคนี้ ณัฐฤฎากล่าวว่า ทำธุรกิจยุคนี้ต้องใช้ความอดทนมากๆ เพราะสถานการณ์ก็ยากลำบากอย่างที่รับรู้กัน ดังนั้น ถ้าคนที่ทำธุรกิจตามกระแส ส่วนมากก็จะปิดตัวลงไปก่อน แต่ถ้าคนที่ทำเพราะใจรัก หรือมี passion เกี่ยวกับสิ่งที่อยากทำ คิดว่าน่าจะอดทนทำมันต่อไปได้ดีกว่า ในกรณีนี้ไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจที่ที่ทุนหนา เพราะถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่สายป่านยาวจะทำอย่างไรก็ย่อมสะดวกกว่ากลุ่มอื่น

ความได้เปรียบทางธุรกิจที่ณัฐฤฎามอง เธอบอกว่า เธอไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ เพราะฉะนั้น ธุรกิจหลักๆ ที่จะเปิดในยุคนี้ที่ต้องคำนึงถึงค่าเช่าสถานที่ หรือแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน เหล่านี้ ถ้าสามารถทำได้เองก็จะช่วยลดต้นทุนที่ไม่เป็นจำเป็นลง สิ่งที่เราทำได้เอง เราจะตั้งใจทำมากกว่าพนักงานที่เราจ้างรายวันแน่นอน ทั้งเรื่องคุณภาพและบริการต่างๆ

ส่วนเรื่องทำเล เธอก็มองว่าเป็นทำเลที่ได้เปรียบ แต่หน้าร้านของรายอื่นๆ ก็อาจจะฝ่าวิกฤตไปได้บ้างถ้าหันมาพึ่งออนไลน์เช่น ช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ เช่น บริการเดลิเวอรี่ แม้ว่าอาจจะต้องเสียค่า GP ให้บริษัทที่ทำเดลิเวอรี่ด้านนี้ ก็ยังดีกว่าไม่มียอดขายเข้ามาเลย การเพิ่มช่องทางดังกล่าวช่วยเพิ่มกระแสเงินสดเข้ามาในระบบได้บ้าง สุดท้ายแล้ว เธอคิดว่า ทุกคนที่เริ่มทำธุรกิจก็คงไม่อยากปิดกิจการไป

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ดังนั้น ก็ต้องสู้ สู้ด้วยตัวเองก่อน ทุกวันนี้ เราพึ่งใครไม่ได้ ไม่มีนโยบายอะไรมารองรับหรือเยียวยาเจ้าของธุรกิจได้เลย ไม่ได้นับเฉพาะธุรกิจร้านค้าเล็กๆแบบนี้ ธุรกิจขนาดกลางก็ยังสู้ไม่ไหวเช่นกัน สุดท้ายเธอก็หวังว่าทุกคนจะผ่านมันไปให้ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ถอดวิธีคิดเจ้าของคาเฟ่และโรงแรมแมว: อยู่อย่างไรให้รอด ในวันที่หลายธุรกิจปิดตัว  first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cat-slave-cafes-and-cat-hotel-how-to-survive-among-covid-19-outbreak/

คุยกับช่างท๊อป เจ้าของธุรกิจอาบน้ำหมา-แมว อาชีพแสนรักที่แลกมาด้วยความเจ็บปวด

วิกฤตโควิดระบาดที่จีนตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ผู้คนต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น กิจกรรมที่ผู้คนมักทำในช่วงที่ต้องอยู่ลำพังหรือถูกล็อคดาวน์จนไม่สามารถไปไหนได้สะดวก ก็จะมีตั้งแต่ปลูกต้นไม้ ทำอาหาร-ขนมทานเอง จนไปถึงการหาสัตว์เลี้ยงมาเลี้ยงเป็นของตัวเอง สัตว์เลี้ยงที่หาง่ายและคนส่วนใหญ่มักจะเลี้ยงก็หนีไม่พ้นหมา แมว ที่ก็มีทั้งสายพันธุ์ท้องถิ่นและต่างประเทศ มีทั้งสัตว์ที่ถูกทิ้งจากเจ้าของคนเดิม หรือเจ้าของคนเดิมเลี้ยงไม่ไหวจนต้องหาคนเลี้ยงต่อ ไปจนถึงการหาซื้อมาไว้ในครอบครองเอง

ธุรกิจอาบน้ำหมาแมวที่อาจถูกคาดการณ์ว่าน่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดระบาดมากนักก็ได้รับผลกระทบเหมือนกับธุรกิจรายอื่นๆ เช่นกัน วันนี้ Brand Inside พาไปคุยกับช่างท๊อป ภานุพงศ์ จงจิตร วัย 36 ปี เจ้าของเพจบ้านช่างท๊อป ด็อกอาร์ท ผู้ทำธุรกิจให้บริการอาบน้ำหมา-แมว ให้บริการตัดขน ตัดเล็บหมา-แมว เขาจะมาเล่าให้เราได้เรียนรู้ธุรกิจอีกแขนงหนึ่งว่า การดำเนินธุรกิจนี้ของเขาเริ่มต้นอย่างไร ทำธุรกิจอย่างไร ได้รับผลกระทบจากโควิดยังไงบ้าง

ก่อนที่เขาจะมาทำงานด้านนี้จริงจัง เริ่มมาจากช่วงปี 2547 เขาเรียนและทำงานร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารในห้าง เขารู้สึกว่าตัวเองทำงานด้านนี้ไม่ค่อยได้เพราะไม่ค่อยถนัดงานบริการอยู่กับคน จากนั้นก็หางานทั่วไปทำ ช่วงนั้นมีรับสมัครอาบน้ำหมาที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ตอนแรกเขาก็คิดว่าเป็นงานง่าย จึงไปสมัคร แม้จะคิดว่าน่าจะทำงานแบบนี้ไม่ได้เพราะมีกลิ่นอบอวล ทั้งกลิ่นฉี่ กลิ่นอึ แต่มีความชอบสัตว์เป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจทำ แม้ช่วงแรกจะคิดว่าทำไม่ได้ ทำนานเข้าก็เริ่มชินและรู้สึกว่าหมาน่ารัก จึงชอบงานนี้ไปโดยปริยาย

หลังจากนั้นก็ทำงานอาบน้ำหมามาโดยตลอด จนคิดว่าจะไม่เปลี่ยนอาชีพแล้ว ตอนนั้นอายุ 18-19 ปี ผ่านไปสองปีก็เริ่มเรียนตัดขน จนได้เป็นช่าง ถือว่ารายได้ค่อนข้างดีกว่าการอาบน้ำหมาแมวค่อนข้างมาก ต่อมาก็เปิดร้านเป็นของตัวเองในช่วงวัย 20 ปีเศษ ตั้งแต่ปี 2550 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงนั้นเป็นช่วงวัยรุ่นก็หมดเงินไปกับการกินเที่ยวมาตลอด ก่อนหน้านั้น เขาก็เที่ยวเยอะ กินเยอะ ติดเหล้า ติดบุหรี่ ไม่มีค่าใช้จ่ายเช่าร้านต่อ จึงปิดกิจการตอนปี 2559 เพราะร้านเจ๊ง 

ธุรกิจตัดขนหมา-แมวไม่ง่าย: เปิดร้านแรกเจ๊ง ก่อนกรุยทางสู่ร้านใหม่กับคลิปไวรัลยอดฮิต

หลังจากปิดร้านตัวเองในช่วงปี 2559 ก็สมัครงานอาบน้ำหมา-แมว กลับไปเป็นลูกจ้างตัดขนหมาตามร้าน ทำจนหมดสัญญาและเก็บตังค์ได้ก้อนหนึ่งประมาณหนึ่งปีก็กลับมาเปิดร้านที่จังหวัดนครศรีธรรมราชช่วงปี 2562 เขาเริ่มซื้อบ้านและเปิดกิจการที่บ้านตัวเอง ลูกค้ามาใช้บริการเรื่อยๆ มาแบบพออยู่ได้

ต่อมา จึงเริ่มมาทำคลิปวิดีโอเพราะมีเวลาอยู่กับงานมากขึ้น ลูกค้าเอาหมา เอาแมวมา เขาบอกว่าหมาแมวเขาเรียบร้อย ไม่ดุ ไม่กัด ช่างท๊อปจึงตั้งใจจะถ่ายคลิปให้ลูกค้าดู ว่าลูกๆ ของพวกเขาอยู่กับช่างแล้วมีนิสัยคนแบบกับที่อยู่กับเจ้าของ ไม่เหมือนอย่างที่เจ้าของบอก ต่อมาก็ส่งคลิปวิดีโอให้เจ้าของเขาดู ลูกค้าบางคนเป็นเพื่อนในเฟสบุค หลังจากนั้นก็ทำคลิปวิดีโอไปเรื่อยๆ พอคลิปสนุก คนก็เริ่มรู้จักเรื่อยๆ ซึ่งก็มีคลิปไวรัลชื่อแมวน้องลูกจันทร์เป็นคลิปที่ทำให้คนรู้จักเพจค่อนข้างมาก

ปกติช่างท๊อปก็เล่นกับหมาอยู่แล้วทั้งชีวิต ตอนที่ทำเพจเฟสบุคก็เพื่อให้ลูกค้าเช็คอินที่ร้าน มีเพจตั้งแต่ปี 2562 ทำให้ไม่ต้องคอยบอกพิกัดร้านว่าอยู่ที่ไหน ทำให้ลูกค้าเดินทางมาใช้บริการง่ายขึ้น พอคลิปไวรัลก็มีลูกค้าเยอะขึ้น ในร้านก็มีช่างเพียงคนเดียว ก่อนโควิดระบาดรับบริการได้ 3-5 ตัวต่อวัน ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ถ้าเป็นช่วงเทศกาล จะมีลูกค้าต่างจังหวัดจองคิวรับบริการค่อนข้างเยอะราว 5-10 ตัว

หลังโควิดระบาด ก็ไม่ได้รับลูกค้าจากต่างจังหวัดเลย ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันโควิดด้วย ถือว่ายอดลูกค้าหายไป 30-40% แต่ก็พออยู่ได้ ส่วนใหญ่ลูกค้าก็มักจะเลี้ยงหมา แมวเหมือนลูก จะพามาอาบน้ำ ตัดขนเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว โควิดก็ทำให้ลูกค้าประจำยังมาอยู่ บางคนที่เป็นลูกค้าก็ตกงาน ขาดรายได้ ทำให้ไม่ได้มาใช้บริการเหมือนเก่า ลูกค้าราว 50% ก็ยังมาใช้บริการอยู่ ทุกอาทิตย์ก็มาตลอด

ที่ร้านช่างท๊อปมีบริการอาบน้ำตัดขนทั้งหมาและแมว เรตราคาสำหรับการอาบน้ำอยู่ที่ 150 บาท อาบน้ำ-ตัดขน 300 บาท ระยะเวลาเว้นว่างสำหรับการตัดขนรอบใหม่ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน หมาจะอาบน้ำ ตัดขนเยอะกว่าแมว แมวมีคนเลี้ยงเยอะ แต่คนพาแมวเข้าร้านจะน้อย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรอาบน้ำ เพราะแมวไม่ชอบน้ำ แต่แมวที่มาอาบน้ำที่ร้านเพราะเป็นสายพันธุ์ต่างประเทศมาอยู่ที่ไทย อากาศทำให้ขนเสีย แมวพื้นถิ่นจะไม่ต้องทำอะไรมากเพราะขนสั้น 

อาชีพที่รัก แต่ต้องแลกมาด้วยบาดแผลและความเจ็บปวด

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ส่วนหมาที่เจ้าของพามาใช้บริการก็มีทุกช่วงวัย ถ้าอยากจะให้สัตว์เลี้ยงเข้าร้านได้ ต้องพาเขาเข้าร้านตั้งแต่เขายังเด็กเขาจะได้คุ้นชินกับบรรยากาศ ถ้าพูดถึงเรื่องอาบน้ำระหว่างหมากับแมว อาบน้ำแมวยากกว่าอาบน้ำหมามาก ช่างท๊อปจะโดนข่วนบ้าง  

อาชีพตัดขน อาบน้ำหมา-แมวนี้จะโดนหมาแมวกัดตลอดชีวิต เป็นความเคยชินของอาชีพ ถ้ามีสัตว์เลี้ยงตัวไหนที่ดุหน่อยช่างท๊อปพบว่า แมวจะมีจังหวะที่ทำให้จับได้บ้าง สามารถจับได้ สัตว์แต่ละตัวจะมีจุดอ่อนของตัวเอง ถ้าแมวดุมาใช้บริการสักสิบครั้ง เราอาจจะให้บริการ อาบน้ำ ตัดขนได้สักเจ็ดครั้ง ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องโทรให้เจ้าของมารับกลับ ถ้าโดนกัดหนักๆ คิดว่าครั้งต่อไปทำได้ ก็จะไม่บอกลูกค้า แต่ถ้าโดนกัดหนักๆ รอบต่อไปทำไม่ได้ก็จะบอกลูกค้า

ช่างท๊อปเล่าว่าถูกกัด ถูกข่วนบ่อย ปกติร้านแต่ละร้านจะรับลูกค้าไม่เหมือนกัน โดยปกติช่างจะรับลูกค้ามาก่อน ทำได้ไม่ได้ค่อยว่ากันอีกที ถ้าเป็นสัตวแพทย์ก็จะมีการวางยาซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หน้าที่นี้สัตวแพทย์ก็จะทำเองอยู่แล้ว เพราะตัดขนค่อนข้างยาก ตอนนี้ที่ร้านก็มีช่างอยู่คนเดียว มีแฟนก็มาช่วยอาบน้ำให้ด้วย

สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ ต้องบอกว่าแม้เจอโควิดก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้าสถานการณ์หนักกว่านี้น่าจะแย่เหมือนกันเพราะจะกระทบลูกค้า ถึงแม้ลูกค้าจะรักลูกของเขาแต่ไม่มีเงินก็ไม่สามารถมาร้านได้ จากเดือนละครั้งก็กลายเป็นสามเดือนครั้ง ถ้าเป็นลูกค้าที่ฐานะดีมากก็จะไม่หายไป

สำหรับต้นทุนที่แพงที่สุดคืออุปกรณ์ทำงานและร่างกายที่หากถูกกัดหนักๆ ก็จะทำงานไม่ได้ กัดหนักๆ มักจะเป็นหมา บางตัวลูกค้าไม่ได้บอกว่าเขาดุ ก็ไม่ทันระวังตัว ถ้าหมาแมวดุ ลูกค้าต้องแจ้งก่อน แต่บางครั้งลูกค้าเขาก็กลัวไม่รับบริการ อาจจะถูกปฏิเสธจากที่อื่นบ้าง เขาจะบอกว่าน้องไม่ดุหรอก จากประสบการณ์ช่างท๊อปเองก็จะรู้ว่าตัวไหนดุ ตัวไหนไม่ดุ บางตัวอาจจะประมาทเอง บางครั้งก็จะระวังตัวป้องกันได้

สำหรับเรื่องทุนสำหรับการทำธุรกิจตัดขนหมา-แมว มีทั้งค่าอุปกรณ์, ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าผ่อนบ้าน, ค่าเช่าร้าน, ค่าเดินทาง, ค่าทีมงาน และที่สำคัญก็ต้องมีค่ารักษาตัวเองเมื่อได้รับความบาดเจ็บทางร่างกายขณะทำงานด้วย

ส่วนสายพันธุ์หมาที่นำมาอาบน้ำบ่อยสุดในร้าน คือหมาพันธุ์ปอมเมเรเนียน, ไซบีเรียน ฮัสกี้ ส่วนแมวก็มีพันธุ์เปอร์เซีย สก็อตติชโฟลด์

ตอนนี้ร้านช่างท๊อป ด็อกอาร์ทเปิดอยู่สองแห่ง ต่างอำเภอกัน สาขาแรกอยู่ในอำเภอเมือง ซอยศรีธรรมโศก 2 แยก 4 จ. นครศรีธรรมราช อีกสาขาหนึ่งอยู่อำเภอสิชล ตำบลสิชล ไม่ห่างจากหาดสิชล 500 เมตร อยู่ใกล้ทะเล (สิชลห่างจากเมือง 70 กก) เป็นอีกสาขาหนึ่งกำลังเตรียมเปิดอยู่ ไม่แน่ใจว่าจะได้เปิดไหม ถ้าสถานการณ์โควิดเบาลงอาจจะได้เปิดสิ้นเดือนกรกฎาคม

วิธีบริหารสองร้านนี้ก็ใช้วิธีอยู่ในเมือง 3 วัน อยู่ทะเล 2 วัน คือสลับที่กัน เวลาทำงานก็รับลูกค้าจองอย่างเดียว ไม่รับลูกค้า walk in เลย เฉพาะแค่ลูกค้าจองก็คิวยาวแล้ว เวลารับบริการมาสักตัวต้องถามรายละเอียดก่อน เช่น ตัดขนอยู่ หมาช็อคคาโต๊ะ ต้องเช็คว่าหมามีโรคประจำตัวไหมเพื่อจะดูว่าเราจะให้บริการเขาอย่างไรได้บ้าง 

ฝากถึงคนรักสัตว์ ก่อนจะเลี้ยงสัตว์ ต้องศึกษานิสัยใจคอก่อน อย่าดูแต่ความน่ารัก

ช่างท๊อปฝากบอกถึงคนรักสัตว์ทั้งหลาย ถ้าจะเลี้ยงหมา เลี้ยงแมวต้องศึกษานิสัยใจคอพวกเขาก่อน พราะพวกเขาถูกทิ้งเยอะ เช่น หมาพันธุ์ไซบีเรียนถูกทิ้งเยอะมาก เพราะเจ้าของไม่รู้จักนิสัยเขา เขาซนมาก และพื้นที่บ้านต้องกว้างมาก

หมาแมวทุกตัวน่ารักหมด ให้ศึกษาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตก่อน อย่าเอาความน่ารักเป็นที่ตั้ง ต้องดูนิสัยและความพร้อมของตัวผู้เลี้ยงด้วย บางทีค่ารักษาเป็นหมื่น เหมือนคนเลี้ยงแมว อยากเลี้ยงแมวขนยาว ขนสวยแต่คนเลี้ยงแพ้ขน ขนแมวร่วงเต็มบ้าน จะเลี้ยงสัตว์อะไร ศึกษาให้ดีก่อนเลี้ยง หมาแมวแต่ละสายพันธุ์ เลี้ยงคนละแบบ พยายามเลี้ยงแมวหมาพื้นถิ่นดีที่สุดเพราะเขาปรับตัวง่ายไม่มีรายละเอียดมาก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post คุยกับช่างท๊อป เจ้าของธุรกิจอาบน้ำหมา-แมว อาชีพแสนรักที่แลกมาด้วยความเจ็บปวด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/dog-grooming-business-with-top-dog-art/

ทาสแมวร้อง.. Samsung ผุดไอเดียแปลงร่างกล่อง TV เป็นบ้านแมวแบบ DIY

กระแสรักษ์โลกเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ได้ให้ความสำคัญ รวมถึง Samsung Electronics  ที่ได้รางวัล  CES 2020 Innovation Awards สำหรับแนวคิดบรรจุภัณฑ์เชิงนิเวศเพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อต้นปีที่ผ่านมา  และล่าสุดก็ผุดไอเดีย eco-packaging สุดเก๋ที่สามารถ DIY กล่อง TV ให้กลายเป็นไอเท็มของใช้ในบ้านแบบน่ารักกรุบกริบได้หลายอย่าง รวมถึงบ้านแมว ที่บอกเลยว่างานนี้โดนใจเหล่าทาสแมวแบบเต็มๆ เลยล่ะ เผลอๆ ยอดขาย TV อาจจะมีพุ่งกระฉูดเพราะพลังเหล่าทาสแมวนี่แหล่ะ

Samsung จะใช้  eco-packaging  ดังกล่าวกับสินค้าในกลุ่ม  Lifestyle TVs  อย่าง The Serif, The Frame และ The Sero  ที่เราสามารถใช้กล่องกระดาษแข็งด้านนอก  DIY  เป็นสิ่งของต่างๆ ที่ใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็น ชั้นวางของ, กล่องใส่หนังสือ และบ้านแมว เรียกได้ว่าซื้อทีวีแล้วไม่ต้องทิ้งกล่องให้มีขยะเพิ่ม แต่ยังได้ของใช้เก๋ๆ มาแต่งบ้านอีกด้วย  โดยการประกอบก็ไม่ยุ่งยากค่ะสามารถดาวน์โหลดคู่มือโดย สแกนรหัส QR บนกล่อง จากนั้นก็ตัดตามรอยประบนกล่องและประกอบตามคู่มือ

บ้านแมวน่ารักๆ ที่บรรดาเหล่าทาสแมวเห็นแล้วแทบอยากเปย์ทีวีใหม่ เพราะอยากได้กล่องมาประกอบให้เหล่าเจ้านายตัวน้อยที่บ้าน

และสำหรับคนที่ชื่นชอบการตกแต่งบ้านก็สามารถเลือกดาวน์โหลดคู่มือมาประกอบชั้นวางหนังสือและชั้นวางของเก๋ๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ไอเดียนี้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคุนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยลดขยะเพิ่มเท่านั้น การที่ได้ใช้เวลาว่างนั่งประกอบข้าวของเครื่องใช้ก็ทำให้เพลิดเพลินด้วยเช่นกัน

 

ที่มา  news.samsung

from:https://droidsans.com/samsung-introduce-eco-packaging-kitten-home-tv-box/

เพื่อความสุขของพนักงาน บริษัทไอทีญี่ปุ่นให้ “เลี้ยงแมว” ในออฟฟิศได้ มีเงินค่าอาหารให้ด้วย

แมว ออฟฟิศ
Photo: Shutterstock

ออฟฟิศญี่ปุ่นอนุญาตให้เลี้ยงแมวได้ มีเงินช่วย 5,000 เยน/เดือน

Ferray Corporation บริษัทไอทีญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในโตเกียวมีนโยบายให้พนักงานเลี้ยงแมวในออฟฟิศได้ โดยทางบริษัทจะมีเงินค่าช่วยเหลือเลี้ยงดูแมว (cat compensation) 5,000 เยน/เดือน หรือประมาณเกือบ 1,500 บาทสำหรับพนักงานที่เลี้ยงแมวในออฟฟศ

สิ่งที่ทำให้บริษัทไอทีแห่งนี้เลี้ยงแมวมาจากเหตุการณ์เมื่อ 19 ปีที่แล้วที่มีพนักงานคนหนึ่งของบริษัทนี้ไปช่วยเหลือแมวแล้วนำกลับมาเลี้ยงในออฟฟิศ และหลังจากนั้นพนักงานคนอื่นๆ ที่เจอแมวแล้วนำกลับมาเลี้ยงในออฟฟิศบ้าง จึงทำให้ออฟฟิศกลายเป็นแหล่งชุมชนของเหล่าบรรดาน้องแมวไปโดยปริยาย

Hidenobu Fukuda ซีอีโอของบริษัทนี้บอกว่า “หลายๆ ครั้ง แมวที่เราเลี้ยงในออฟฟิศก็ซุกซน จนทำให้พวกเราหัวเราะออกมา หรือบางครั้งมันก็สร้างความเสียหายจริงๆ จนทำให้พนักงานต้องหยุดทำงาน แต่ผมคิดว่ามันทำให้พนักงานของเรารู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้น เพราะมีอะไรทำร่วมกันมากกว่าแค่ทำงานเท่านั้น”

  • ลองดูตัวอย่างของแมวในออฟฟิศ Ferray Corporation ด้านล่างนี้
  • #สุขสันต์วันแมวโลก

ที่มา – Soranews24

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/it-company-cat-compensation/

เปิดตำนาน 23 ปี “โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ” และก้าวถัดไปตลาดอาเซียน กับเป้าหมายผู้นำภายใน 5 ปี

จากการเริ่มธุรกิจด้วยใจรัก ผ่านการเซ้งที่ 2 ห้องย่านทองหล่อเมื่อ 23 ปีก่อน เพื่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์ที่เปิด 24 ชม. แห่งแรกของไทย ถึงวันนี้ “โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ” ก็ก้าวมาไกลเกินฝัน และเตรียมมองไกลถึงระดับอาเซียน

เริ่มต้นจาก Passion ส่วนตัวล้วนๆ

ปัจจุบันโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อกลายเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์เอกชนในประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะด้วยเครือข่ายสาขาที่มากถึง 12 แห่ง กับรายได้คาดการณ์ในสิ้นปีนี้ที่ 680 ล้านบาท แต่เชื่อหรือไม่ว่าโรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้เริ่มต้นจาก Passion ในการรักษาสัตว์ และเงินทุนหลักล้านเพื่อเช่าที่ย่านทองหล่อตอนยังไม่เจริญเหมือนวันนี้

สพ.ญ.กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จำกัด เล่าให้ฟังว่า จากที่เปิดคลินิกรักษาสัตว์เล็กๆ มานับสิบปีตั้งแต่จบจากการศึกษา ตัดสินใจมาเปิดโรงพยาบาลสัตว์ เพราะมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงในย่านนั้นมารักษาตลอดเวลา ยิ่งช่วงนั้นไม่มีที่ไหนเปิด 24 ชม. จึงกลายเป็นโอกาสธุรกิจครั้งสำคัญ

สพ.ญ.กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จำกัด

“ตอนนั้นแทบไม่มีเวลา เพราะเราเป็นคลินิกเล็กๆ ใครมาตอนไหนเราก็รับรักษา ทำให้มองว่าการลงเงินเพื่อสร้างโรงพยาบาลสัตว์ที่เปิด 24 ชม. น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ และถ้าถามว่าทำไมต้องทองหล่อ ก็ต้องบอกว่าตนอาศัยอยู่ย่านสุขุมวิท 22 และทองหล่อไม่ไกล แถมเป็นย่านเกิดใหม่ และไปมาสะดวก จึงตัดสินใจลงทุนด้วย Passion ล้วนๆ”

ขยายสาขา-วางมาตรฐาน หลังครบ 10 ปี

ระหว่างที่ให้บริการโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อในช่วงแรก ผลตอบรับก็ค่อนข้างดี เพราะนอกจากเปิดให้บริการ 24 ชม. ด้วยความเป็นคนย่านนั้นทำให้เข้าใจ และสามารถบริการเจ้าของสัตว์เลี้ยงได้ตรงจุด จนกระทั่งตัวชื่อโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อเริ่มกลายเป็นแบรนด์ไปโดยปริยาย และถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น

“เมื่อเรารักษาดี คนก็บอกต่อ พอบอกต่อก็ไปเข้าหูรายการวิทยุ, สื่อมวลชน รวมถึงดารานักแสดง เหมือนเรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องสัตว์เลี้ยงอย่างไม่รู้ตัว และเมื่อประกอบกับรายได้ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ทำให้เราตัดสินใจขยายสาขาครั้งแรกในปี 2547 ที่ลาดพร้าว พร้อมวางมาตรฐานงานบริการให้ชัดเจน หลังเปิดให้บริการเมื่อปี 2537”

สำหรับสาขาแรกที่เปิดอยู่ที่ลาดพร้าว ใช้ชื่อโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อเช่นเดิม แต่การไปเปิดสาขาใหม่ก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะไม่เคยอาศัยอยู่ในย่านนั้น ทำให้ไม่เข้าใจพฤติกรรมเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ต่างกับทองหล่ออย่างชัดเจน ทำให้ต้องลองผิดลองถูกหลายอย่าง จนกระทั่งมาลงตัวเมื่อปีที่ 3 ทำให้หลังจากนี้ก่อนเปิดสาขาจึงศึกษาตัวแปรต่างๆ ก่อน

พฤติกรรมคนยุคใหม่ยอมลงทุนกับสัตว์เลี้ยง

“ตลาดสินค้า และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงค่อยๆ เติบโต และทำให้เราตัดสินใจขยายสาขาตามความเติบโตนี้ จนปัจจุบันมี 12 สาขาเพื่อรองรับความต้องการ ทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด โดยเหตุผลหลักๆ คือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน มีการลงทุนในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ถึงขั้นบางคนก็เลี้ยงเป็นลูกอย่างที่รู้กัน”

ด้านมูลค่าตลาดสินค้า และบริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในไทยปี 2560 ศูนย์หลักทรัพย์กสิกรประเมิณว่า อยู่ราว 29,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10% ทุกปี แบ่งเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง 13,300 ล้านบาท, สินค้าสัตว์เลี้ยง 6,700 ล้านบาท และสถานพยาบาลสัตว์เลี้ยง 9,300 ล้านบาท ที่โตเพราะคนมีลูกน้อย และเริ่มรักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูก

ส่วนทางโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อก็เติบโตในทิศทางเดียวกัน ผ่านสิ้นปีนี้คาดการณ์รายได้ที่ 680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 5.2% ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 600 คน แบ่งเป็นสัตวแพทย์ 150 คน และที่เหลือเป็นบุคลากรด้านอื่นๆ มีเจ้าของนำสัตว์เลี้ยงมารักษาราว 81,000 ตัว/ปี และมีค่าใช้จ่ายตัวละ 15,000 บาท/ปี

ก้าวใหม่ในระดับอาเซียน และตลาดหลักทรัพย์

“ถ้าอ้างอิงจาก Euromonitor จะพบว่าเฉลี่ยแล้วเจ้าของในไทยใช้เงินกับสัตว์เลี้ยง 1,770 บาท/ตัว/ปี แม้จะน้อย แต่มันเติบโตถึง 54% เมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน แสดงให้เห็นว่าตลาดไทยพร้อมแล้วกับสถานพยาบาลสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น ทำให้เราตัดสินใจลงทุน 680 ล้านบาท เพื่อเปิด Thonglor International Pet Hospital

ตัว Thonglor International Pet Hospital จะเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท และมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อมกว่าสาขาอื่นๆ เช่นเครื่อง CT Scan และเครื่อง X-Ray แบบ Realtime รวมถึงบริการห้องพักสำหรับเจ้าของที่ต้องการมาเฝ้าไข้ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงมารักษา แล้วจำเป็นของนอนโรงพยาบาล

ห้องพักสำหรับเจ้าของมาเฝ้าไข้สุนัข ราคาเริ่มต้นคืนละ 2,000 บาท

นอกจากนี้ทางบริษัทยังเตรียมเงินลงทุนอีก 500 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงสาขาเดิม รวมถึขยายสาขาใหม่ทั้งใน และต่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้เจรจากับ AEON PET กลุ่มร้านค้าปลีกสินค้าเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจากญี่ปุ่น เพื่อขยายสาขาไปด้วยกัน จากที่ได้ร่วมกันเปิดโรงพยาบาลภายในสาขาที่เปิดให้บริการในประเทศไทยย่านประดิษฐ์มนูญธรรมแล้ว

“การขยายสาขาจะมีลงทุนเอง, ร่วมกับพาร์ทเนอร์ และ Joint Venture กับโรงพยาบาลสัตว์ในระดับท้องถิ่น แต่การไปต่างประเทศนั้น เรามองแค่ระดับอาเซียนก่อน เพราะย่านนี้ยังมีความรู้ล้าหลังจากไทย 10-20 ปี ถ้าตามแผนเราจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ปี 2563 ก่อนขึ้นเป็นผู้นำในอาเซียน และมีรายได้ 1,500 ล้านบาทในปี 2565”

สรุป

ถึงตอนนี้ “สพ.ญ.กฤติกา” ได้วางมือจากการรักษามา 10 ปี เพื่อให้ความสำคัญกับงานบริหารเต็มตัว และเชื่อว่าด้วยความเป็นเบอร์หนึ่งของโรงพยาบาลสัตว์ในไทย ก็คงไม่ยากที่ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในอาเซียนได้ เพราะขนาดในเมียนมายังไม่มีวัคซีนสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงกษัตริย์จากภูฏานยังนำสัตว์มารักษาที่นี่ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thonglor-asean-pet-hospital/

เมื่อแผนปัจจุบันรักษาไม่หาย ความนิยมนำสัตว์เลี้ยงมารักษาด้วยการ “ฝังเข็ม” จึงเติบโต

สัตว์เลี้ยงไม่ได้เลี้ยงไว้แค่เป็นเพื่อนแก้เหงา เพราะบางคนรักเหมือนเป็นอีกสมาชิกในครอบครัว และเมื่อเขาเป็นอะไรก็พยายามรักษาอย่างเต็มที่ ถ้ารักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้ ก็มีอีกทางเลือกรองรับ นั่นคือการ “ฝังเข็ม” แบบแพทย์แผนจีน

อีกวิธีรักษาที่ทำให้โรคร้ายหายได้

สัตว์เลี้ยงนานาพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นสุนัข หรือแมว ต่างมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอัมพาตบางส่วน ที่อาจจะลามไปถึงเรื่องที่แย่ที่สุดคืออัมพาตทั้งสี่ขาจนสัตว์เลี้ยงแสนรักนั้นเดินไปไหนมาไหนเองไม่ได้

ซึ่งการรักษาอาการดังกล่าวด้วยแพทย์แผนปัจจุบันนั้นอาจไม่ถูกจุด หรือถ้าเป็นสุนัขพันธุ์เล็กก็ไม่สามารถผ่าตัดเพื่อรักษาอาการดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงเกิดการประยุกต์แพทย์แผนจีนมาใช้กับสัตว์เลี้ยง และวิธีรักษาก็ไม่ใช่อื่นไกล นั่นคือการฝังเข็มเหมือนกับที่ใช้ในมนุษย์ เพราะสัตว์ก็มีจุดเชื่อมต่อไปยังส่วนต่างๆ ในร่างกายเช่นกัน

Jin Rishan ชายวัย 53 ปี เจ้าของ Shanghai TCM Neurology and Acupuncture Animal Health Centre เล่าให้ฟังว่า หลังจากให้บริการแพทย์แผนจีนกับสัตว์เลี้ยงมาระยะหนึ่ง ก็เห็นการยอมรับจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีมากขึ้นกับการรักษาแบบนี้ และปัจจุบันก็มีเจ้าของนำสัตว์เลี้ยงมารักษาถึง 20 ตัว/วัน เต็มกำลังที่จะรับได้ และจากนี้ก็น่าจะมีมากขึ้น

ภาพ pixabay.com

อาจดูรุนแรง แต่ได้ผลที่ชัดเจน

สำหรับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มนั้น ขั้นตอนอาจดูรุนแรงไปเล็กน้อย เพราะเริ่มต้นคือเจ้าของต้องนำสัตว์เลี้ยงมาติดตั้งบนแท่นที่มีสายหนังเพื่อรัดไม่ให้ขยับ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจะนำเข็มมาฝังไว้ตามจุดต่างๆ ตามการวินิจฉัยโรคของแพทย์แผนจีน และระหว่างที่ฝังเข็มอยู่ เจ้าของการสามารถยืน หรือลูบหัวเพื่อให้กำลังใจได้

“สุนัขหลายๆ ตัว ได้รับความเจ็บปวดจากปัญหาเรื่องหลัง หรือไม่ก็กระดูกสันหลังมีปัญหา ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไม่สามารถเดินได้ โดยเฉพาะกับพันธุ์ Bulldog, German Shepherd, Collie, Basset Hound และ Shi Tzu ที่พบเจอปัญหาดังกล่าวได้บ่อยมาก”

ทั้งนี้ Michael Xu เจ้าของสุนัขพันธุ์ French Bulldog และนำสัตว์เลี้ยงตัวนี้มารักษาด้วยการฝังเข็ม บอกว่า การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยได้อย่างเห็นได้ชัด เพราะเมื่อทำการรักษาไปเพียง 3 วัน จากที่เป็นอัมพาตทั้งตัว ก็เริ่มขยับอุ้งเท้าหน้าได้เล็กน้อย และพอผ่านไป 7 วันก็เริ่มขยับได้ทั้งสี่ขา ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก

สรุป

เชื่อว่าการรักษาด้วยการฝังเข็มในสัตว์จะเข้ามาในประเทศไทยเร็วๆ นี้แน่ เพราะน่าจะมีหลายปัญหาที่แพทย์แผนปัจจุบันยังรักษาไม่หายขาด และเจ้าของสัตว์เลี้ยงก็ต้องการทางเลือกใหม่ที่เชื่อใจได้ เพราะสัตว์เหล่านี้เมื่อเลี้ยงไปก็จะผูกพันธ์ และที่สุดก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จะให้เป็นอะไรไปก็คงไม่ได้ แต่ถึงอย่างไรก็อยู่ที่ความเชื่อใจของเจ้าของด้วย ว่าไว้ใจกับการรักษาแบบนี้แค่ไหน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

https://www.facebook.com/plugins/page.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fbrandinsideasia&tabs=profile&width=340&height=214&small_header=false&adapt_container_width=true&hide_cover=false&show_facepile=true&appId=129250203765952
from:https://brandinside.asia/vet-acupuncture-in-china/