คลังเก็บป้ายกำกับ: ค่าเงินบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงที่สุดในรอบ 9 เดือน! สำนักข่าวต่างประเทศคาด การเมืองไทยอาจไม่เกิดแลนด์สไลด์

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคมก่อนช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทไทยแข็งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 32.65 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงที่สุดในรอบ 9 เดือนนับจากที่เริ่มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2023 หลังภาคท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นเพราะนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศ

ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงต่ำสุดในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว อยู่ที่ 38.50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ นับว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี ก่อนที่จะเริ่มแข็งค่าขึ้น 5.8% ในช่วงต้นปี 2023 นี้แซงหน้าเงินวอนของเกาหลีใต้ เงินรูปีของอินโดนีเซีย และเงินริงกิตของมาเลเซียที่แข็งค่าขึ้นต่ำกว่า 3%

สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาจากที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังจากจีนเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนเริ่มทยอยกันซื้อเงินบาท โดยไทยเป็นประเทศที่ได้รับการค้นหาจากนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุดผ่านทางเว็บไซต์จองตั๋วเดินทางและที่พักอย่าง Agoda และ Trip.com โดยรัฐบาลคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาอย่างน้อย 5 ล้านคนในปีนี้ เทียบกับ 11 ล้านคนในปี 2019

คาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ขณะที่นักลงทุนมองว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอ่อนค่าลงอีกและธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจะผ่อนปรนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้

ส่วนทางด้านหุ้น นายสรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Officer (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยว่า ในอีกไม่กี่วัน เงินหมุนเวียนในตลาดตราสารหนี้จะมีมูลค่า 60,000 ล้านบาท ตลาดหุ้นจะมีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทและจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 8.47% ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมาหลังมีการผ่อนคลายนโยบายป้องกันโควิด-19 คาดว่าหุ้นธุรกิจบริการด้านสุขภาพ การขนส่ง การค้าปลีก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตได้ดีกว่าหุ้นประเภทอื่นๆเพราะค่าใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคได้รับการอุดหนุนผ่านการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐจนถึงเดือนกุมภาพันธ์นี้

JP Morgan บริษัทการเงินและการลงทุนคาดการณ์ว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะขึ้นถึง 1,800 จุด ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์คาดการณ์ต่างกันเล็กน้อยว่าจะอยู่ที่ 1,750 จุด ส่วนดัชนีราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 3.2% อยู่ที่ 1682 ในวันนี้ (23 มกราคม 2023) 

ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกังวลว่าการแข็งตัวของค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ แต่นักวิเคราะห์ของธนาคารไทยพาณิชย์มองว่าการเปิดประเทศของจีนจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องการส่งออกชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ด้านการเมืองอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพราะจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ และอาจจะใช้เวลานานในการจัดตั้งรัฐบาลเพราะมีแนวโน้มว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่ได้รับเสียงข้างมากแบบชนะขาด

นอกจากนี้ สภาพคล่องของตลาดหุ้นอาจจะลดลงจากการกลับมาเก็บภาษี 0.055% จากราคาขายหลักทรัพย์ที่ได้รับการยกเว้นมานาน โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมและจะเพิ่มเป็น 2 เท่า เป็น 0.11% ในปี 2024

ที่มา – Nikkei Asia

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เงินบาทแข็งค่าขึ้นสูงที่สุดในรอบ 9 เดือน! สำนักข่าวต่างประเทศคาด การเมืองไทยอาจไม่เกิดแลนด์สไลด์ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/thai-baht-appreciates-to-a-nine-month-high/

ค่าเงินบาททรุดหนักที่สุดในเอเชีย ฝันร้ายจากเศรษฐกิจย่ำแย่ นักท่องเที่ยวเหลือไม่ถึง 1%

Mizuho Bank รายงาน เงินบาทเป็นสกุลเงินที่ได้รับผลกระทบสูงสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปี 2021 และมูลค่าตกตลอดทั้งปี สวนทางก่อนโควิดระบาด ที่เงินบาทเคยเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย

ค่าเงินบาททรุดหนัก เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ผิดปกติ

สถิติจาก Refinitiv Eikon ระบุว่ามูลค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐร่วงลงมามากกว่า 10% แล้วในปี 2021 ซึ่งทาง Mizuho Bank อธิบายว่าเกิดจาก “เศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่ผิดปกติ”

โดย Refinitiv ระบุว่าเงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคถึงแม้ว่าสกุลอื่นจะอ่อนค่าลงเช่นเดียวกันก็ตาม ตัวอย่างเช่น เงินเยนอ่อนตัวลงประมาณ 7%, ริงกิตมาเลเซียลดลงไป 5% และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนตัวไป 4.43%

Vishnu Varathan หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและกลยุทธ์ของธนาคารมิซูโฮ อธิบายว่า “สถานการณ์ดังกล่าวขัดแย้งกับดุลการค้าที่เป็นบวกและอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำในไทย”

ในปี 2019 ก่อนมีวิกฤตโควิด ได้มีความกังวลจากหลายฝ่ายด้านค่าเงินไทยที่เริ่มแข็งเกินไป ซึ่งจะทำให้การส่งออกแพงขึ้นและน่าดึงดูดน้อยลงในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลลัพท์ที่ไม่ต้องการสำหรับประเทศไทยที่ส่งออกสินค้าจำนวนมาก

เสียหายหนักจากการท่องเที่ยวที่หายไป

Vishnu มองว่านักท่องเที่ยวที่หายไปมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากกว่าผลกระทบจากไวรัสโควิดโดยตรง โดยเฉพาะเมื่อเทียบประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันที่มีสถานการณ์ “ที่น่าหดหู่” มากกว่าจากโควิดสายพันธุ์เดลต้า

ในเดือนพ.ค. ปี 2021 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวเพียง 34,000 คนเท่านั้น เมื่อเทียบกับมากกว่า 39 ล้านคนในปี 2019 ซึ่งไม่ถึง 1% ของยอดก่อนโควิดด้วยซ้ำ

การหายไปของนักท่องเที่ยวส่งผลระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ด้วยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่สูงถึง 11% ของ GDP ของไทยในปี 2019 ความต้องการแลกเงินบาทที่ลดลงเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้มูลค่าสกุลเงินบาทตกลงอีกด้วย

ไทยประสบปัญหาใหญ่ในการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยว

Euben Paracuelles หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจอาเซียนของ Nomura อธิบายว่า การพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวที่มากไปของไทยจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นฟูยาก ด้วยยอดโควิดในประเทศที่ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการทดลองเปิดสถานที่ท่องเที่ยวที่ล้มเหลว เช่น การทดลอง “แซนด์บ็อกซ์” ในภูเก็ตที่นักท่องเที่ยวไม่ต้องกักตัว ซึ่งพบว่ามีผู้ติดเชื้อถึง 27 รายหลังเปิดไปได้เพียง 1 สัปดาห์

Euben มองว่าเป้าหมายในการเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ด้วยรายได้มหาศาลจากการท่องเที่ยวที่รออยู่ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวน่าจะพยายามและฟื้นฟูได้ก่อนเช่นเดียวกัน

สรุป

ผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่หายไปทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมาก แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน นี่อาจจะเป็นข้อดีที่ทำให้การส่งออกของประเทศไทยฟื้นตัวเร็วขึ้นก็เป็นได้

ที่มา – CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ค่าเงินบาททรุดหนักที่สุดในเอเชีย ฝันร้ายจากเศรษฐกิจย่ำแย่ นักท่องเที่ยวเหลือไม่ถึง 1% first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/thai-baht-hit-hardest-2021/

หลักทรัพย์บัวหลวง แนะระยะสั้น ค่าเงินบาท-หุ้นผันผวน รับกระแสโควิด-การเมือง เชื่อระยะยาวยังดี

ช่วงนี้ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงอยู่ในระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับต้นปีที่อยู่ระดับ 29 บาท ทำให้หลายฝ่ายเริ่มสนใจกันว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนตัวลงอีกหรือไม่ ประกอบกับหุ้นไทยเองก็มีความผันผวนพอสมควร Brand Inside จึงต่อสายถึง บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นครั้งนี้

baht covid

สหรัฐแกร่ง ดอลลาร์แข็ง ทำเงินบาทอ่อน

ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง บอกว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง เมื่อเทียบค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ ก็ต้องดูเศรษฐกิจสหรัฐด้วย ซึ่งปัจจุบัน สหรัฐมีการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง และคาดการณ์ว่า พ.ค.นี้ คนสหรัฐอย่างน้อย 90% จะได้รับวัคซีนแล้ว ทำให้การใช้ชีวิต การทำงาน การเดินทาง จะใกล้คงภาวะปกติ ทำให้ความเชื่อมั่นและตัวเลขทางเศรษฐกิจกลับมาอย่างแข็งแกร่ง

ยิ่ง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว ทำให้ Morgan Stanley คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจโตได้ถึง 8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ระดับ 6.2% สวนทางกับประเทศไทย ธปท. ปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจเหลือ 3% นิดๆ ยิ่งมีการระบาดโควิดระลอกใหม่ ทำให้การใช้ชีวิตถูกจำกัดอีกครั้ง กำลังซื้อของคนไทยยังอ่อนแอ และถ้ายังเปิดประเทศไทยไม่ได้ การท่องเที่ยวและส่งออกก็มีอุปสรรค วัคซีนมาช้าและน้อยด้วย

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่เงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นบริษัทส่งออกจะได้รับผลที่ดี ราคาสินค้าถูกลง แต่ข้อจำกัดจากโควิดทำให้ทำการค้าได้ไม่สะดวก ก็ยังเป็นอุปสรรคอยู่ แต่ข้อเสียคือ สินค้านำเข้าราคาจะสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน อาจทำให้ค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้น และเงินเฟ้อก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

stock thai
ภาพจาก Shutterstock

คาดเงินบาทอยู่ระดับ 32 บาท ครึ่งปีหลังแนวโน้มดีขึ้น

ในด้านของเม็ดเงินลงทุน คาดว่าจะยังไม่เข้ามาในทันที ยิ่งใกล้ช่วงสงกรานต์เป็นวันหยุดยาวที่มีโอกาสผันผวนอยู่ เชื่อว่านักลงทุนต่างชาติจะรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพราะค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก จนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนและเปิดประเทศ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่อาจปรับตัวลดลงในระยะสั้นนี้เช่นกัน

มุมมองต่อค่าเงินบาท คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32 บาท จากนั้น ธปท. น่าจะต้องมีมาตรการเข้ามาสร้างเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับเศรษฐกิจและผู้ประการธุรกิจจนเกินไป และคาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าพีคสุดในช่วงปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ซึ่งจะตรงกับแผนของรัฐบาลในการเริ่มเปิดประเทศ ส่งออกดีขึ้น ท่องเที่ยวเริ่มกลับมา และเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเป็นช่วงพีคเช่นเดียวกัน

สำหรับนักลงทุนไทย ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับฐาน โดยหุ้นที่น่าสนใจยังเป็นกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต ส่วนภาคบริการและบริโภค คงต้องรอครึ่งปีหลังแต่สามารถสะสมหุ้นไปได้เรื่อยๆ ในช่วงที่หุ้นอ่อนตัว หุ้นที่แนะนำ เช่น AOT, BTS, BEM, Central, CPN, CPALL, CRC, M, ZEN, AFTERU เป็นต้นฃ

baht covid
ภาพจาก Shutterstock

หัวใจสำคัญคือ วัคซีน ต้องเป็นไปตามแผน

ชัยพร กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือ 2 เดือนจากนี้ วัคซีนต้องเข้ามาตามแผนและต้องมีการเริ่มเปิดประเทศ หากไม่เป็นไปตามกำหนดการที่วางไว้ ทุกอย่างก็จะดีเลย์ออกไป ตลาดครึ่งปีหลังจะไม่ฟื้นตัว เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวและส่งออก

สุดท้าย เชื่อว่า ในระยะสั้นถึงกลางปี ค่าเงินบาทและหุ้นมีความผันผวนตามสถานการณ์โควิดและการเมือง แต่สุดท้ายยังเป็นไปในทิศทางบวกหากวัคซีนมาถึงและมีการเริ่มเปิดประเทศ ดังนั้นการบริหารจัดการของรัฐบาลคือสิ่งสำคัญ ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทย

“สหรัฐและจีน ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแล้ว คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูงมาก ไทยเป็น Supply Chain ต้องได้ประโยชน์นี้ด้วยเช่นกัน อยู่ที่ว่าจะได้ช้าได้เร็ว ได้มากหรือได้น้อยแค่นั้น”

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post หลักทรัพย์บัวหลวง แนะระยะสั้น ค่าเงินบาท-หุ้นผันผวน รับกระแสโควิด-การเมือง เชื่อระยะยาวยังดี first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/baht-stock-in-covid/

ถ้าไม่นับรวมเมียนมา ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่า ย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน

Nikkei Asia รายงาน ค่าเงินบาทไทยย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน ถ้าไม่นับรวมเมียนมา ไตรมาสแรกของปี 2021 ค่าเงินบาทไทยศักยภาพย่ำแย่ที่สุดในบรรดาค่าเงินของประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสมาชิกอาเซียน เป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพราะขาดการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวด้วย ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลง 4% อยู่ที่ 31.24 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ

Thai currency

ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในไตรมาส 4 ปี 2020 ขาดดุลอยู่ที่ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐจากที่ไตรมาส 3 เคยเกินดุลอยู่ที่ 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเกินดุลอยู่ที่ 1.15 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน ปีก่อนหน้า ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขาดดุลนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2014

รายได้ท่องเที่ยวของไทยลดลงราว 742 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันมีเพียง 5% เท่านั้น อันเนื่องมากจากการปิดพรมแดนเพื่อเป็นมาตรการรับมือโควิดระบาด ก่อนหน้านี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยค่อนข้างมีเสถียรภาพสืบเนื่องจากการไหลเข้าของนักท่องเที่ยวด้วยที่ส่งเสริมค่าเงินดังกล่าว

ทั้งนี้ ไทยเริ่มให้มีการกักกันตัวหรือ quarantine โดยลดระยะเวลาลงจาก 14 วันเป็น 10 วันเพื่อทำให้นักท่องเที่ยวไหลเข้ามาประเทศได้ง่ายขึ้นและทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รัฐบาลไทยก็เตรียมทดลองให้มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวที่ภูเก็ต ซึ่งก็ยังมีแต่สถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอนนัก ทั้งผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุนต่างก็ยังไม่มั่นใจในรัฐบาลที่พยายามจะกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น

เศรษฐกิจ
Getty Images

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2020 เงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 7 ปี ซึ่งช่วงเดือนพฤศจิกายน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคลังเคยกล่าวไว้ว่า ธนาคารกลางมีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายเข้ามาดูแลเงินบาทแข็งค่า เช่น ปรับเกณฑ์เพิ่มวงเงินลงทุนให้นักลงทุนรายย่อยได้ไม่เกิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 2 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ขณะที่ในภูมิภาคอาเซียนนั้น ค่าเงินรูเปียห์ขออินโดนีเซียและค่าเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าลง 3.4% และ 3.1% ตามลำดับ ส่วนค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์และค่าเงินเปโซของฟิลิปปินส์อ่อนค่าลงที่ 1% ขณะที่ค่าเงินด่งของเวียดนามยังคงเดิม

ค่าเงินจ๊าดของเมียนมาแทบจะเป็นสกุลที่ค่อนข้างถูกนำมาใช้แลกเปลี่ยนน้อยในภูมิภาค กอปรกับค่าเงินจ๊าดแย่ลง 5.6% นับตั้งแต่ทหารทำรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจและภาคการเงินของเมียนมาถือว่าอยู่ในสถานะที่มีความไม่แน่นอนสูง จึงไม่ถูกนับรวมเพื่อเทียบเคียงกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านรายอื่น

KBANK ธนาคารกสิกรไทย
ภาพจาก Shutterstock

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า เงินบาทไทยอ่อนค่า แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งที่ 31.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าลง สวนทางเงินเหรียญสหรัฐ ที่ได้รับแรงหนุนในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับข่าวการผิดนัดชำระการชำระหนี้การเพิ่มเงินประกันของเฮดจ์ฟันด์รายหนึ่งในสหรัฐฯ ช่วงต้นสัปาดห์ และปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.00-31.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และปัจจัยที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกของ IMF ทิศทางบอนยีลด์สหรัฐฯ และถ้อยแถลงของประธานเฟด

Thai Currency
ภาพจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ที่มา – Nikkei Asia, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ถ้าไม่นับรวมเมียนมา ค่าเงินบาทไทยอ่อนค่า ย่ำแย่ที่สุดในอาเซียน first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/thai-baht-worst-performance-among-asean/

แบงก์ชาติแจง “กังวลค่าเงินบาท” 5 ปีที่ผ่านมา แทรกแซงเงินบาทจนทุนสำรองเพิ่มเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ

ธนาคารแห่งประเทศไทยแจง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 2558 – 2562 เงินทุนสำรองพุ่งเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หากแบงก์ชาติไม่ได้เข้าดูแลเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทก็อาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน 

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงเรื่อง “สถานกรณ์ค่าเงินบาท” ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ชั้น 1 ธปท. สำนักงานใหญ่ โดยระบุว่าภาพรวม ค่าเงินบาที่แข็งค่าขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า)

เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเก็งกำไรระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นความเข้าใจคาดเคลื่อน หากดูตัวเลขจะเห็นว่าการลงทุนของต่างชาติสุทธิทั้งปี 2019 ไหลออกเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง ยังกังวลการแข็งค่าของเงินบาท และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด พร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมถ้าจำเป็น

การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของแบงก์ชาติในการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท แบงก์ชาติจะเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์และขายเงินบาท โดยเงินดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาอยู่ในรูปของเงินสำรองฯ เงินสำรองฯ ก็จะเพิ่มขึ้น หากต้องการชะลอการอ่อนค่า แบงก์ชาติจะขายเงินดอลลาร์ที่อยู่ในเงินสำรองฯ เพื่อซื้อเงินบาท เงินสำรองฯ ก็จะลดลง

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

เงินสำรองปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ไทยมีเงินสำรองฯ เยอะติดอันดับต้นๆของโลก สะท้อนว่าแบงก์ชาติได้มีการเข้าดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดด้วยการซื้อเงินดอลลาร์ต่อเนื่อง ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2558-2562) เงินทุนสำรองฯ เพิ่มขึ้นเกือบ 8 หมื่นล้านดอลลาร์ ถือเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้การค้าขายสินค้าและบริการกับต่างประเทศ หากแบงก์ชาติไม่ได้ดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา เงินทุนสำรองฯ ก็จะไม่เพิ่มขึ้น ค่าเงินบาทก็อาจจะแข็งกว่าระดับปัจจุบัน 

การบริหารการจัดค่าเงินต้องให้เกิดสมดุลในระยะยาว แบงก์ชาติระบุ ถ้าเราเข้าแทรกแซงจนบาทอ่อนกว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เท่ากับเราใช้ค่าเงินเพื่อให้สินค้าของไทยได้เปรียบกับประเทศคู่แข่งชั่วคราว ซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง หากเป็นที่สังเกตจะถูกกีดกันทางการค้าหรือการใช้มาตรการทงภาษีสร้างความเสียหายต่อการส่งออกในระยะยาวได้

ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนนโยบาย QE (Quantitative Easing) นั้น QE คือการทำนโยบายผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ภาคเอกชนในประเทศจำนวนมาก จะส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับตัวสูงขึ้น หากต้องการช่วยให้ SME เกิดสภาพคล่องมากขึ้น รัฐอาจให้ soft loan ผ่านธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและตรงจุดกว่า

ประเทศที่เกินดุลบัญชีสะพัดในระดับสูงใกล้เคียงไทยอย่างไต้หวันและเกาหลี แต่สกุลเงินไม่แข็งค่าเนื่องจากมีเงินไหลออกไปลงทุนต่างประเทศค่อนข้างมาก ช่วยลดแรงกดดันจากเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนใหญ่เป็นการออกไปลงทุนของนักลงทุนสถาบัน เช่น ประกันชีวิต ขณะที่ไทยยังไม่มีการกระจายการลงทุนไปต่างประเทศนัก

ค่าเงินบาทแข็งมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ แบงก์ชาติกล่าว เหรียญอีกด้านหนึ่งที่มีผลต่อเศรษฐกิจด้านการส่งออกแล้ว คือเป็นประโยชน์ต่อเอกชนบางกลุ่ม เช่น ทำให้ต้นทุนนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรถูกลง ประชาชนที่มีหนี้ต่างประเทศจะมีหนี้ลดลง ไทยนำเข้าน้ำมันดิบปีละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ดังนั้น ทุกๆ 1 บาทที่แข็งค่า ช่วยไทยประหยัดต้นทุนประเทศได้ 2 หมื่นล้านบาท

แบงก์ชาติสรุปว่ายังหารือกับภาครัฐเพื่อร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เงินบาทเป็นแค่อาการสะท้อนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ปัญหาเชิงโครงสร้างต้องช่วยแก้ไขทุกภาคส่วน เช่น

  • เพิ่มการนำเข้า ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือลงทุนเครื่องจักร
  • ลดแรงซื้อบาทจากภาคส่งออก
  • สนับสนุนการออกไปลงทุนหลักทรัพย์ในต่างประเทศ

ที่มา – ธนาคารแห่งประเทศไทย (1), (2), (3)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/bank-of-thailand-worry-about-bahts-strength/

แข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี ค่าเงินบาทไทยยังทำสถิติต่อ ล่าสุด 30.33 บาทต่อดอลลาร์แล้ว

ค่าเงินบาทของไทยล่าสุดซื้อขายในตลาดโลกล่าสุดอยู่ที่ 30.33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว แข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 ปี

Thai Currency Exchange
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทไทยล่าสุดยังคงทำสถิติแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 30.330 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักข่าว Bloomberg ได้ออกบทความล่าสุดวันนี้ว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าที่สุดแล้วในรอบ 6 ปี ในปีนี้นั้นค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นๆ ในทวีปเอเชียนั้น แข็งค่าไปแล้วเกือบๆ 7%

สำหรับมุมมมองของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้นั้น ทางคณะกรรมการได้ประเมินว่าค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แม้ว่าในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจะมีการอ่อนค่าตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่หลังจากนั้นค่าเงินบาทก็ได้แข็งค่าขึ้นตามค่าเงินเยนและราคาทองคำซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ

นอกจากนี้ กนง. เริ่มเห็นสัญญาณผลกระทบต่อกำไรและสภาพคล่องของธุรกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ การปรับลดอัตราจ้างงานล่วงเวลา และคณะกรรมการจึงเห็นควรให้ติดตามการปรับตัวดังกล่าวซึ่งหากเกิดขึ้นกระทบในวงกว้างอาจส่งผลต่อกำลังซื้อของครัวเรือนที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออกและส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

ขณะที่มุมมองจากบทวิเคราะห์ธนาคารกสิกรไทย มีมุมมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ โดยเสถียรภาพของไทยที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นจะยังทำให้ค่าเงินบาท เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยของเอเชียในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวน

บทวิเคราะห์ธนาคารกสิกรไทยยังมองเพิ่มว่า แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ ธปท. ที่จะยังล่าช้าเนื่องจาก ช่องว่างของนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีอย่างจำกัดจะสนับสนุนเงินทุนไหลเข้า ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า ขณะที่สัญญาณความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอลงของเศรษฐกิจไทย และแนวโน้มการดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทของ ธปท. จะช่วยลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทลงได้บ้าง

ไม่เพียงแค่นั้นในวันนี้ค่าเงินบาทที่ซื้อขายในตลาดโลกยังได้แตะระดับต่ำสุดของวันอยู่ที่ 30.29 บาทต่อสหรัฐอีกด้วย โดยปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทยังเป็นแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องหามาตรการที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมา ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้แนะนำให้ผู้ประกอบการของไทยทำประกันความเสี่ยงค่าเงินไว้ด้วย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thai-baht-now-appreciation-at-30-330-baht-per-usd-now-6-years-high/

ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทยได้รับผลจากเงินบาทแข็งค่า เริ่มมองประเทศเพื่อนบ้านบ้างแล้ว

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ของไทยในขณะนี้ กลายเป็นว่าทำให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยแบบถูกกฎหมายต่างเริ่มได้รับความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวกสบายเหมือนเดิม

Thai Currency Exchange
ภาพจาก Shutterstock

ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงต้นปี และกลายเป็นค่าเงินที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก ล่าสุดไม่ใช่ส่งผลกระทบแค่เพียงผู้ส่งออกของไทยเท่านั้น แต่ยังได้ส่งผลกระทบกับชาวต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่มีวีซ่าเกษียณอายุแบบถูกกฎหมาย รวมไปถึงชาวต่างชาติที่ทำงานทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมายด้วย

Bloomberg รายงานว่ากลุ่มชาวต่างประเทศที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยเริ่มกล่าวถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น ซึ่งบางรายที่มาเกษียณอายุที่ประเทศไทยเริ่มต้องประหยัดเพิ่มมากกว่าเดิม และยิ่งถ้าหากเป็นผู้เกษียณอายุที่มาจากสหราชอาณาจักรแล้ว ผลกระทบจาก Brexit รวมไปถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยิ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมากกว่าชาวต่างชาติรายอื่นๆ

ในปีที่ผ่านมาไทยมีชาวต่างชาติที่ขอวีซ่าเกษียณอายุมากถึง 80,000 ราย มากกว่าในปี 2014 ประมาณ 30% โดยเงื่อนไขที่ชาวต่างชาติจะสามารถขอวีซ่านี้ได้ที่คือ ต้องมีเงินพักในบัญชีเงินฝากของธนาคารไทยอยู่อย่างน้อย 800,000 บาท หรือไม่ก็ต้องมีรายได้ต่อเดือน 65,000 บาทต่อเดือน โดยชาวอังกฤษมีสัดส่วนในการขอวีซ่าเกษียณอายุมากสุดคือ 16%

ชาวต่างประเทศที่อาศัยหรือแม้แต่กำลังที่จะตัดสินใจเข้ามาอยู่ในประเทศไทยก็เริ่มที่จะมองประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ แทนไทยแล้ว เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งชาวต่างชาติเหล่านี้ต่างเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะตามต่างจังหวัดท่องเที่ยวดังๆ เช่น ภูเก็ต หรือแม้แต่พัทยา

ขณะที่เว็บไซต์ The Thaiger ซึ่งเป็นอีกเว็บไซต์ที่รวบรวมมุมมองของชาวต่างชาติ ก็มีการพูดถึงเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้น รวมไปถึงเรื่องของความยุ่งยากของเอกสาร ตม.30 ยิ่งสร้างความลำบากให้กับชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีการแนะนำความรู้เกี่ยวกับประเทศเวียดนาม ถ้าหากชาวต่างชาติสนใจ

นอกจากนี้รายงานของ Expat Insider ยังได้ออกรายงานล่าสุดว่าประเทศไหนที่เหมาะกับ Expat มากที่สุด กลายเป็นว่าประเทศไทยได้ตกอันดับถึง 7 อันดับ โดยล่าสุดอยู่ที่อันดับที่ 25 จากอันดับทั้งหมด 64 ประเทศ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว เวียดนามนั้นอยู่อันดับที่ 2 ของผลสำรวจ ขณะที่ไทยนั้นอยู่อันดับที่ 15

ราคาตลาดปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบเป็นเงินบาทไทยอยู่ที่ 30.425 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินปอนด์อยู่ที่ 37.531 บาทต่อปอนด์

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/thai-baht-appreciation-makes-effect-to-expat-in-thailand-too/

อยากซื้อทองต้องรู้! นักวิเคราะห์แจงปัญหาโลกครึ่งปีหลัง ดันราคาทองคำทะลุ 21,000 บาท

เมื่อเศรษฐกิจไทยและโลกดูไม่ค่อยดี มีความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ-อิหร่าน ฯลฯ ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันมาเปลี่ยนเงินลงทุนมาเป็น Safe Haven อย่างทองคำจนราคาทะลุบาทละ 20,000 บาทไปแล้ว

ว่าแต่หลังจากนี้ราคาทองจะเป็นอย่างไร?

ก.ค. 62 ทองคำลุ้นแตะบาทละ 21,000 บาท ต้องติดตามปัจจัยรอบโลก

ศูนย์วิจัยทองคำ ระบุว่า ผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มองว่าราคาทองคำแท่งในประเทศช่วงเดือนก.ค.จะเคลื่อนไหวในกรอบบาทละ 20,000-21,000 บาท ในขณะที่ราคาทองคำโลก (Gold Spot) จะอยู่ที่ 1,363-1,458 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์  ส่วนค่าเงินบาทไทยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 30.24–31.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้เดือนก.ค. ราคาทองอาจะปรับลดลงเล็กน้อย เพราะมีการเทขายเพื่อทำกำไร หลังจากเดือน มิ.ย. 2562 ราคาทองคำเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. 2562 แต่ราคาทองคำในเดือนนี้มีโอกาสพุ่งขึ้นไปแตะกรอบบนที่ 1,439 – 1,461 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หากมีสถานการณ์ต่างๆ ทั่วโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ด้านการเคลื่อนไหวราคาทองคำในไตรมาสที่ 3 (ก.ค.-ก.ย.2562) ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำอยู่ที่ 58.18 จุด เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่อยู่ระดับ 47.79 จุด สาเหตุหลักมาจากนักลงทุนมองว่า ความต้องการซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำจะเพิ่มขึ้น เงินทุนไหลออกจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา Brand Inside รวบรวมจากสมาคมค้าทองคำ

ปัจจัยกระทบราคาทองที่ต้องจับตามองในครึ่งปีหลัง 2562

  • นโยบายการเงินและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) นักลงทุนทั่วโลกมองว่า FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในปีนี้ ทำให้นักลงทุนจับตาผลการประชุมในเดือนก.ค.นี้ ซึ่งหาก FED ปรับลดดอกเบี้ยอาจทำให้เงินไหลออกมายังประเทศเกิดใหม่ รวมถึงการเข้าซื้อทองคำ
  • สงครามการค้า โดยเฉพาะการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ที่ทางสหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และต้องจับตาการเจรจาการค้าระหว่างจีนสหรัฐที่แม้มีทีท่าดีขึ้น แต่ยังไม่มีความชัดเจน
  • สถานการณ์การเมืองระหว่างสหรัฐ และอิหร่าน ที่มีความตึงเครียดมากขึ้นหลังจากเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมัน 2 ลำในอ่าวโอมาน
  • Brexit (การที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป) ล่าสุดอังกฤษมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ บอริส จอห์นสัน มาจากพรรคอนุรักษ์นิยม หลายฝ่ายมองว่าอังกฤษจะเข้าสู่ Hard Brexit หรือการออกจาก EU โดยไม่มีการเจรจาหรือเงื่อนไข และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษในระยะสั้น

สรุป

เมื่อโลกมีเรื่องหวั่นไหว ก็ทำให้นักลงทุนหันกลับมาซื้อทองเสมอ ยิ่งตอนนี้สหรัฐฯ อาจจะลดดอกเบี้ยนโยบายเลยทำให้นักลงทุน Search for Yield (แสวงหาผลตอบแทนที่มากขึ้น) เช่น ซื้อหุ้น กองทุน หรือลงทุนอะไรที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันหากปัจจัยเสี่ยงทั่วโลกลดลง นักลงทุนที่นำเงินมาเก็บทองก็อาจจะนำเงินออกมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนเช่นกัน

ที่มา ศูนย์วิจัยทองคำ, สมาคมค้าทองคำ, VOA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/gold-2h-2562/

หรือค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อไป เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คงดอกเบี้ยนโยบาย

ไม่ว่าค่าเงินบาทหรือค่าเงินประเทศใดในโลก มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทั่วโลก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงปัจจัยบวกและปัจจัยลบทั่วโลก

ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างไร?

แบงค์พัน
ธนบัตรไทยมูลค่า 1,000 บาท // ภาพโดย Peter Hellberg from Stockholm, Sweden (Thai baht) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)%5D, via Wikimedia Commons

FED คงดอกเบี้ย แต่เงินบาทมีโอกาศอ่อนค่าต่อเนื่อง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า จากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25-2.50% (ซึ่งคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องมา 3 ครั้งติดต่อกัน) ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย และในระยะสั้น 1 เดือนหลังจากนี้มองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า

ทั้งนี้ค่าเงินบาท (2 พ.ค.2562) เปิดตลาดอ่อนค่าเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ช่วงแรกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโร หลังจากประธาน FED กล่าวหลังการประชุมว่า Fed ยังไม่เห็นเหตุผลที่ปรับจุดยืนดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงเพราะปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

สรุปประเด็นจากการแถลงข่าวของประธาน FED ได้แก่

  • FED ย้ำถึงการใช้ความอดทนในการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดมองว่า FED อาจปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยกรุงศรีฯ มองว่า FED จะคงดอกเบี้ยโนบายตลอดปี 2562
  • FED พึงพอใจกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะขยับสูงขึ้นได้ในอนาคต ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจชะลอตัวลงในไตรมาสแรกปีนี้
  • FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับทุนสำรองส่วนเกิน (Interest Rate on Excess Reserves หรือ IOER) ลงมาที่ 2.35% จากเดิม 2.40% หวังให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้มากขึ้น
  • อย่างไรก็ตามหลังการแถลงข่าวของประธาน FED เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวในลักษณะแบนราบ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกปิดในแดนลบ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบอ่อนค่าเล็กน้อยในช่วง 1 เดือนข้างหน้า เพราะท่าทีของ FED ที่ยังไม่ชัดเจน ความกังวลต่อการชะลอตัวของการค้าโลก และค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเพราะไทยเข้าสู่ฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนกลับไปที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ
แต่มองว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ต้องรอความชัดเจนทางการเมืองในประเทศไทยและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นหลัก

โดยภาพรวมกรุงศรีมองว่าแม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างช้าๆ ในระยะยาว แต่นักลงทุนยังคงลังเลที่จะขายเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่เปราะบาง

ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (วันที่ 2 พ.ค.) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (วันที่ 3 พ.ค.) ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทยในสัปดาห์หน้า

สรุป

ทิศทางค่าเงินบาทยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก ทั้งธนาคารกลางหลักอย่าง FED ธนาคารกลางยุโรป (ECB) นโยบายการเงินของจีน รวมถึงการเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/%e0%b8%ab%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%84%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%87%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%97%e0%b8%88%e0%b8%b0%e0%b8%ad%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%99%e0%b8%84%e0%b9%88/

หรือค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อไป เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (FED) คงดอกเบี้ยนโยบาย

ไม่ว่าค่าเงินบาทหรือค่าเงินประเทศใดในโลก มีการเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ทั่วโลก ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงปัจจัยบวกและปัจจัยลบทั่วโลก

ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อค่าเงินบาทอย่างไร?

แบงค์พัน
ธนบัตรไทยมูลค่า 1,000 บาท // ภาพโดย Peter Hellberg from Stockholm, Sweden (Thai baht) [CC BY-SA 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by-sa/2.0)%5D, via Wikimedia Commons

FED คงดอกเบี้ย แต่เงินบาทมีโอกาศอ่อนค่าต่อเนื่อง

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ระบุว่า จากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25-2.50% (ซึ่งคงดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องมา 3 ครั้งติดต่อกัน) ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย และในระยะสั้น 1 เดือนหลังจากนี้มองว่าค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า

ทั้งนี้ค่าเงินบาท (2 พ.ค.2562) เปิดตลาดอ่อนค่าเล็กน้อยโดยอยู่ที่ 31.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แม้ช่วงแรกค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง แต่กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโร หลังจากประธาน FED กล่าวหลังการประชุมว่า Fed ยังไม่เห็นเหตุผลที่ปรับจุดยืนดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ลดลงเพราะปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น

สรุปประเด็นจากการแถลงข่าวของประธาน FED ได้แก่

  • FED ย้ำถึงการใช้ความอดทนในการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ย ทำให้นักวิเคราะห์ในตลาดมองว่า FED อาจปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ โดยกรุงศรีฯ มองว่า FED จะคงดอกเบี้ยโนบายตลอดปี 2562
  • FED พึงพอใจกับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เช่น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำจะขยับสูงขึ้นได้ในอนาคต ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนของภาคธุรกิจชะลอตัวลงในไตรมาสแรกปีนี้
  • FED ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ธนาคารพาณิชย์สำหรับทุนสำรองส่วนเกิน (Interest Rate on Excess Reserves หรือ IOER) ลงมาที่ 2.35% จากเดิม 2.40% หวังให้สถาบันการเงินปล่อยเงินกู้มากขึ้น
  • อย่างไรก็ตามหลังการแถลงข่าวของประธาน FED เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวในลักษณะแบนราบ ส่วนตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกปิดในแดนลบ

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ค่าเงินบาทจะอยู่ในกรอบอ่อนค่าเล็กน้อยในช่วง 1 เดือนข้างหน้า เพราะท่าทีของ FED ที่ยังไม่ชัดเจน ความกังวลต่อการชะลอตัวของการค้าโลก และค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงเพราะไทยเข้าสู่ฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนกลับไปที่บริษัทแม่ในต่างประเทศ
แต่มองว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ต้องรอความชัดเจนทางการเมืองในประเทศไทยและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่เป็นหลัก

โดยภาพรวมกรุงศรีมองว่าแม้เงินดอลลาร์จะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างช้าๆ ในระยะยาว แต่นักลงทุนยังคงลังเลที่จะขายเงินดอลลาร์ในช่วงนี้ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่เปราะบาง

ปัจจัยที่ต้องจับตามองในระยะต่อไป คือ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (วันที่ 2 พ.ค.) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ (วันที่ 3 พ.ค.) ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของไทยในสัปดาห์หน้า

สรุป

ทิศทางค่าเงินบาทยังขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก ทั้งธนาคารกลางหลักอย่าง FED ธนาคารกลางยุโรป (ECB) นโยบายการเงินของจีน รวมถึงการเคลื่อนไหวของธนาคารแห่งประเทศไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/fed-baht/