ถอดวิธีคิดเจ้าของคาเฟ่และโรงแรมแมว: อยู่อย่างไรให้รอด ในวันที่หลายธุรกิจปิดตัว

ในยุคที่โควิดระบาดหนักขนาดนี้ หลายคนต้องถูกลอยแพจากตำแหน่งงานโดยไม่ตั้งใจ บ้างก็ถูกลดเงินเดือน ปรับสภาพไปตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีสภาวะถดถอย ยุคนี้ แค่คิดจะหยิบจับหรือทำธุรกิจอะไรขึ้นมาสักอย่าง ถือเป็นเรื่องยากแสนยาก ทั้งยากในวิธีคิดเพื่อการก่อตั้งและยากที่จะดำรงอยู่ได้อย่างดี โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ใครๆ ก็ไม่กล้าใช้เงิน เพราะเราต่างไม่รู้ว่าสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนนี้จะอยู่กับเราไปอีกยาวนานแค่ไหน ทำได้แค่เพียง ระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างสุดกำลัง

วันนี้ Brand Inside ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจคาเฟ่และโรงแรมแมว ณัฐฤฎา ช้วนรักธรรม (เกม) เจ้าของร้าน Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel เรามาดูกันว่า เธอมีวิธีคิดในการทำธุรกิจช่วงโควิดระบาดอย่างไรบ้าง

Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel

ณัฐฤฎาเล่าให้เราฟังว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจนี้ จากตัวเธอเองที่เป็นคนรักแมว ชอบเลี้ยงแมวและชอบไปเที่ยว ช่วงที่เธอไปเที่ยว เธอก็ต้องเอาแมวของเธอไปฝากตามโรงแรม ตามคลินิก ซึ่งคนเลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นห่วงสัตว์เลี้ยงที่เปรียบเหมือนลูกของตัวเองและเอาไปฝากในสถานที่ต่างๆ ที่รับดูแล เธอเริ่มจากดูข้อมูลว่าการทำธุรกิจแบบนี้เขาทำอย่างไรกันบ้าง ปกติโรงแรมแมวจะมีเฉพาะตามคลินิก เมื่อไปถึงจะนำสัตว์เลี้ยงไปใส่กรงบ้าง บางแห่งก็ทำพื้นที่ให้กว้างขึ้น มีของเอนเตอร์เทนแมวเหมือนโรงแรมแมว

จากนั้นเธอก็เริ่มคิดทำธุรกิจนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019-2020 เธอคิดว่าอยากทำเพราะชอบและคิดว่าน่าสนใจ ถ้าทำเป็นโรงแรม จะต้องรอคนนำสัตว์เลี้ยงมาฝากและพากลับไป เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรมากกว่าโรงแรมแมว เช่น มีการทำเครื่องดื่ม ทำขนม ทำโรงแรมและคาเฟ่ไว้ในพื้นที่เดียวกัน ตัวเธอเองก็มีแมวเลี้ยงอยู่ก่อนหน้าแล้ว 7 ตัว แมวที่เธอเลี้ยงเริ่มจากการเลี้ยงแมวจรเพราะอยากช่วยเหลือ เธอนำแมววิเชียรมาศ แมวขาวมณี รวมเป็นแมวจร 4 ตัวมาเลี้ยง จากนั้นเธอก็ซื้อแมวพันธุ์มาอีก 2 ตัว และรุ่นพี่ที่รู้จักกันเก็บแมวจรข้างถนนมาอีก 1 ตัวให้เธอช่วยเลี้ยง

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ทำธุรกิจคาเฟ่และโรงแรมแมวเพราะใจรัก ไม่ได้ทำเพราะตามกระแส

จุดตั้งต้นของเธอคือความรักที่มีต่อแมวอยู่เป็นทุนเดิมหรือเรียกได้ว่าเป็นทาสแมวมาก่อน ไม่ได้คิดจะทำธุรกิจเช่นนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม หากเราไปตามคาเฟ่ต่างๆ เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่เลี้ยงแมวพันธุ์ แต่สำหรับเธอไม่ได้เริ่มจากแนวคิดนั้น 

เธอแบ่งโซนสำหรับทำพื้นที่ให้แมวโดยการแบ่งเป็นรูปแบบการดูแลลูกค้า ถ้าเป็นลูกค้าที่เล่นกับแมวจะมีคาเฟ่ชั้นล่างและเอาท์ดออร์เล็กๆ ส่วนด้านบนทำเป็นโรงแรมแมว จัดโซนให้เฉพาะคนเอาแมวมาฝาก มีห้องสำหรับให้แมวอยู่จำนวน 11 ห้อง แยกกันเป็นโซน

คาเฟ่แมว- Cat Slave Cafe' And Cat Hotel
Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

สำหรับในส่วนของ Cat Hotel จะมีขนาดห้องที่หลากหลายด้วยกัน มีห้องแบบ Single Room เรตราคาอยู่ที่ 150 บาท น้องแมวสามารถมาอยู่ได้ 1 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 60x100x90 ซม. ส่วนห้องรูปแบบ Standard Room เรตราค 250 บาท แมวอยู่ได้ 2 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 60x100x1170 ซม.

ส่วนห้องที่เป็นแบบ Family Room เรตราคาอยู่ที่ 350 บาท แมวอยู่ได้ 4 ตัว ขนาดพื้นที่ 110x120x190 ซม. และห้องแบบ View Room เรตราคาอยู่ที่ 400 บาท แมวอยู่ได้ 4 ตัว ขนาดพื้นที่ราว 110x120x190 ซม. ทาง Cat Hotel มีทรายแมวไว้ให้และมีอาหารแมวให้ด้วย (ลูกค้าสามารถเอาอาหารสำหรับแมวมาได้ด้วย) ค่าอาหารจะตกวันละ 50 บาท เป็นอาหารเม็ด ส่วนมากลูกค้ามักจะนำอาหารมาเอง เพราะแมวแต่ละตัวก็จะมีความต้องการหลากหลาย มีการทานอาหารที่จำเพาะแล้วแต่การเลี้ยงดู

คนที่เอาแมวมาฝาก จะต้องมีสมุดสุขภาพแมว ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ได้มีอาการป่วยอยู่เดิม มีเอกสารให้เซ็นยินยอมว่ากรณีที่แมวป่วยหรือเสียชีวิต ทางคาเฟ่และโรงแรมแมวจะไม่ได้รับผิดชอบในส่วนนี้ แต่ทางร้านจะแจ้งข้อมูลกับลูกค้าเสมอว่า ถ้าแมวของเขาป่วยขณะที่มาอยู่ที่คาเฟ่หรืออยู่ในโรงแรมแมว ทางร้านก็จะพาไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลให้ โดยลูกค้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง  

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ณัฐฤฎาพูดถึงการนำแมวไปฝากของผู้คนส่วนใหญ่ มักจะแมวพันธุ์มาฝากอยู่แล้ว ส่วนมากแมวไทยก็เลี้ยงกึ่งปิดกึ่งปล่อย ทางร้านก็จะประเมินอยู่เสมอว่าเขาจะเอาแมวมาทิ้งที่ร้านหรือไม่ มีการถ่ายสำเนาบัตรประชาชน มีการ add Line เพื่อส่งภาพความเป็นอยู่ของน้องแมวให้ลูกค้าดูทุกวันทั้งเช้าและเย็น ว่าลูกเขาทำอะไร มีกิจกรรมอะไร ส่งความคืบหน้าทุกวัน

ปัจจุบันทาง Cat Slave Cafe’s And Cat Hotel เปิดให้บริการในส่วนของคาเฟ่ แต่ยังปิดในส่วนของโรงแรมอยู่ เพราะยังต้องเฝ้าระวังเรื่องโควิดระบาดอยู่ ตอนนี้ขายเครื่องดื่มในไลน์แมน https://wongn.ai/q8bny ขายในหมู่บ้าน ขายตามกลุ่มคนชุมชนแถวนี้ ยังไม่ได้ใช้เงินทำการตลาดด้านนี้มากนัก เรียกว่า ทำร้าน ทำธุรกิจแบบซ้อมเปิดไปก่อน “ตอนนี้ก็ซ้อมขายไปก่อน ขายได้นิดหน่อยก็ดีกว่าปิดไปเลย อย่างน้อยก็มีรายได้เข้ามาบ้าง แต่ก็ยังไม่คุ้มทุน”

สำหรับเมนูเครื่องดื่มก็มีทั้งชา กาแฟ โกโก้ อิตาเลียนทั่วไป หลังจากนี้ถ้าสามารถเปิดร้านและโรงแรมได้เต็มรูปแบบก็จะมีการเพิ่มเมนูของทานเล่น นักเกต เฟรนส์ฟราย อาจจะมีเมนูหนักๆ บ้าง เช่น ขนมจีนแกงเขียวหวาน อาหารคาววันละหนึ่งอย่าง

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

เลือกลงทุนในยุคนี้ มีวิธีคิดอย่างไร

ณัฐฤฎาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าโควิดระบาดลุกลามหนักขนาดนี้ ด้วยการจัดการไม่ดี ทำให้ล้มเหลวไปหมด ตอนที่คิดลงทุนยังไม่หนักขนาดนี้ และสิ่งที่ทำไม่ได้บูด ไม่ได้เสีย ไม่พัง ถึงเปิดตอนนี้ไม่ได้ ก็ยังเก็บไว้เปิดในอนาคตได้ แม้ตอนนี้จะรู้สึกเหนื่อยอยู่บ้าง แต่ก็ถือว่าทำไปก่อน 

อีกทั้งสถานที่ก็เป็นบ้านของตัวเองอายุ 30 ปีแล้ว เธอเลือกทุบทิ้งบางส่วนและรีโนเวต พื้นทำใหม่ หลังคาทำใหม่หมดเลย ต่อเติมบ้าง โครงสร้างเดิม ทำใหม่ราว 1 ล้านเศษ ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์ ทำใหม่หมดใช้ระยะเวลานาน 1 ปี และก็เลือก reference ให้ช่างปรับตามรวมทั้งวัสดุใช้ในบ้าน เป็นบ้านตัวเอง หลังโควิดระบาดอย่างหนักก็ทำให้ผู้คนเดินทางไม่ได้ ก็ยังไม่เปิดโรงแรมให้แมวพัก

ณัฐฤฎา ช้วนรักธรรม (เกม) เจ้าของร้าน Cat Slave Cafe’s and Cat Hotel

สำหรับข้อคิดในการทำธุรกิจยุคนี้ ณัฐฤฎากล่าวว่า ทำธุรกิจยุคนี้ต้องใช้ความอดทนมากๆ เพราะสถานการณ์ก็ยากลำบากอย่างที่รับรู้กัน ดังนั้น ถ้าคนที่ทำธุรกิจตามกระแส ส่วนมากก็จะปิดตัวลงไปก่อน แต่ถ้าคนที่ทำเพราะใจรัก หรือมี passion เกี่ยวกับสิ่งที่อยากทำ คิดว่าน่าจะอดทนทำมันต่อไปได้ดีกว่า ในกรณีนี้ไม่นับรวมกลุ่มธุรกิจที่ที่ทุนหนา เพราะถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่สายป่านยาวจะทำอย่างไรก็ย่อมสะดวกกว่ากลุ่มอื่น

ความได้เปรียบทางธุรกิจที่ณัฐฤฎามอง เธอบอกว่า เธอไม่ต้องเสียค่าเช่าสถานที่ เพราะฉะนั้น ธุรกิจหลักๆ ที่จะเปิดในยุคนี้ที่ต้องคำนึงถึงค่าเช่าสถานที่ หรือแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน เหล่านี้ ถ้าสามารถทำได้เองก็จะช่วยลดต้นทุนที่ไม่เป็นจำเป็นลง สิ่งที่เราทำได้เอง เราจะตั้งใจทำมากกว่าพนักงานที่เราจ้างรายวันแน่นอน ทั้งเรื่องคุณภาพและบริการต่างๆ

ส่วนเรื่องทำเล เธอก็มองว่าเป็นทำเลที่ได้เปรียบ แต่หน้าร้านของรายอื่นๆ ก็อาจจะฝ่าวิกฤตไปได้บ้างถ้าหันมาพึ่งออนไลน์เช่น ช่องทางจัดจำหน่ายออนไลน์ เช่น บริการเดลิเวอรี่ แม้ว่าอาจจะต้องเสียค่า GP ให้บริษัทที่ทำเดลิเวอรี่ด้านนี้ ก็ยังดีกว่าไม่มียอดขายเข้ามาเลย การเพิ่มช่องทางดังกล่าวช่วยเพิ่มกระแสเงินสดเข้ามาในระบบได้บ้าง สุดท้ายแล้ว เธอคิดว่า ทุกคนที่เริ่มทำธุรกิจก็คงไม่อยากปิดกิจการไป

Cat Slave Cafe’ And Cat Hotel

ดังนั้น ก็ต้องสู้ สู้ด้วยตัวเองก่อน ทุกวันนี้ เราพึ่งใครไม่ได้ ไม่มีนโยบายอะไรมารองรับหรือเยียวยาเจ้าของธุรกิจได้เลย ไม่ได้นับเฉพาะธุรกิจร้านค้าเล็กๆแบบนี้ ธุรกิจขนาดกลางก็ยังสู้ไม่ไหวเช่นกัน สุดท้ายเธอก็หวังว่าทุกคนจะผ่านมันไปให้ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ถอดวิธีคิดเจ้าของคาเฟ่และโรงแรมแมว: อยู่อย่างไรให้รอด ในวันที่หลายธุรกิจปิดตัว  first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cat-slave-cafes-and-cat-hotel-how-to-survive-among-covid-19-outbreak/