Review – Linksys Velop AC3900 ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Mesh ความเร็วสูง และแอปที่ใช้งานง่ายมากๆ

Linksys Velop AC3900 – แม้ว่า modem ของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงตามบ้านในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ตแบบ ADSL หรือ FTTX หรือจะ DOCSIS ก็ตาม มักจะเป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง modem และ router ที่กระจายสัญญาณ WiFi ในตัวด้วยก็ตาม แต่ด้วยการเป็นอุปกรณ์แบบออลอินวัน

ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานในบางจุดอาจจะไม่เทียบเท่ากับอุปกรณ์ที่ออกแบบมาทำหน้าที่เฉพาะทาง และที่สำคัญ พวกอุปกรณ์แบบออลอินวันมักจะพบปัญหาเมื่อต้องใช้งานในที่อยู่อาศัยที่มีหลายห้อง หลายชั้น เนื่องจากความเข้มของสัญญาณ WiFi ไม่มากพอที่จะทะลุกำแพงมาหาผู้ใช้งาน

ซึ่งที่ผ่านมา วิธีแก้ไขปัญหาก็เช่น การซื้อ access point มาเป็นตัวรับและช่วยกระจายสัญญาณในแต่ละจุด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือเรื่องของการตั้งค่า ที่ผู้ใช้อาจต้องมีความเข้าใจในด้านเน็ตเวิร์คอยู่บ้าง หรืออาจต้องหาคู่มือ วิธีการตั้งค่าอย่างละเอียดที่ตรงกับรุ่นของอุปกรณ์ที่ตนเองใช้อีกต่างหาก ทำให้การตั้งค่า access point หรือ bridge connection ทำได้ยาก

แต่ในปัจจุบัน ผู้ผลิตอุปกรณ์เน็ตเวิร์คหลายรายเริ่มนำเทคโนโลยี Mesh มาใส่ในผลิตภัณฑ์ของตน ทำให้ออกมาเป็น access point ที่มีความอัจฉริยะยิ่งขึ้น ทั้งในด้านของการตั้งค่าที่ง่ายดาย ความสามารถในการตั้งค่าและควบคุมผ่านมือถือ รวมถึงความสามารถในการจัดการสัญญาณ WiFi ด้วยตนเอง

อย่างรายของ Linksys หนึ่งในผู้นำด้านอุปกรณ์เน็ตเวิร์คก็มีผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน อย่างชิ้นที่เรารีวิวในครั้งนี้ครับ นั่นคือ Linksys Velop AC3900 ที่ได้รับการออกแบบมาสำหรับการใช้งานภายในบ้านอย่างแท้จริง ด้วยรูปร่างหน้าตาที่ลงตัวกับการจัดวางในแทบทุกมุมภายในบ้าน และยังสามารถใช้งานได้ง่ายอีกด้วย

โดยรูปทรงก็จะเป็นลักษณะทรงกระบอกมีเหลี่ยม 4 ด้าน ความสูงประมาณ 5.5″ ใกล้เคียงกับสมาร์ทโฟนในยุคปัจจุบัน วัสุดภายนอกทำจากพลาสติกที่มีความแข็งแรง ทำให้สามารถนำไปวางบนโต๊ะทำงาน หรือพื้นที่ต่าง ๆ ในห้องได้แบบลงตัว

โดยตัวของ Linksys Velop AC3900 ที่เรารีวิวในบทความนี้ จะเป็นรุ่นที่มีโหนดมาในกล่องด้วยกัน 3 โหนด (ตามภาพด้านบน) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรุ่นที่มี 1 หรือ 2 หรือ 3 โหนด ก็มีสเปคและข้อมูลด้านเทคนิคที่น่าสนใจเหมือนกันดังนี้

  • แต่ละโหนดรองรับการเชื่อมต่อได้ความเร็วสูงสุดตามมาตรฐาน 802.11ac (AC1300 แบบ 867+400 Mbps) รองรับการเชื่อมต่อแบบ MU-MIMO
  • สามารถกระจายสัญญาณ WiFi ทั้ง 2.4 และ 5 GHz ได้พร้อมกัน
  • รองรับ Bluetooth 4.1 สำหรับใช้ในการตั้งค่าผ่านสมาร์ทโฟน
  • ชิปประมวลผลภายในมีความเร็ว 716 MHz แรม 256 MB
  • แต่ละโหนดมีพอร์ตแลนแบบ Gigabit 2 ช่อง (LAN และ WAN) และช่องเสียบสายอะแดปเตอร์
  • รองรับการใช้งานในบ้าน หรืออพาร์ทเมนท์ที่มี 3-4 ห้อง ครอบคลุมพื้นที่ได้ประมาณ 420 ตารางเมตร
  • ราคา Linksys Velop AC3900 แบบ 1 โหนดอยู่ที่ 4,990 บาท
  • ราคา Linksys Velop AC3900 แบบ 2 โหนดอยู่ที่ 8,990 บาท
  • ราคา Linksys Velop AC3900 แบบ 3 โหนดอยู่ที่ 11,990 บาท

สำหรับหลักในการเลือกซื้อแพ็คตามจำนวนโหนดที่เหมาะสมนั้น ง่ายสุดเลยคือดูจำนวนห้อง และพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณที่ต้องการครับ

  • แพ็ค 1 โหนด: ใช้แค่ห้องเดียว หรือใช้ในคอนโด พื้นที่ครอบคลุมสัญญาณประมาณ 140 ตารางเมตร
  • แพ็ค 2 โหนด: ใช้ในบ้านขนาด 2-3 ห้องนอน พื้นที่ครอบคลุมสัญญาณประมาณ 280 ตารางเมตร
  • แพ็ค 3 โหนด: ใช้แค่บ้านขนาด 3-4 ห้องนอน พื้นที่ครอบคลุมสัญญาณประมาณ 420 ตารางเมตร

ด้านบนของ Linksys Velop AC3900 จะเป็นช่องสำหรับระบายความร้อน ส่วนจุดใหญ่สีเทาเข้มตรงมุม ภายในจะมีไฟ LED ที่ใช้บ่งบอกสถานะการทำงานของแต่ละโหนดครับ ตัวอย่างของการแสดงไฟสถานะก็เช่น

  • ไฟสีน้ำเงินกระพริบ: ระหว่างบูทหลังเปิดทำงาน
  • ไฟสีน้ำเงินนิ่ง: ระบบทำงานปกติ
  • ไฟสีม่วง: พร้อมสำหรับการตั้งค่า เพื่อการใช้งานครั้งแรก
  • ไฟสีแดง: ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต
  • ไฟสีแดงกระพริบ: ไม่สามารถเชื่อมต่อกับโหนดอื่นได้ (ออกนอกระยะครอบคลุมของสัญญาณ)
  • ไฟสีเหลือง: สัญญาณอินเตอร์เน็ตอ่อน

พอร์ตเชื่อมต่อในแต่ละโหนดของ Linksys Velop AC3900 ก็จะมีเหมือนกันหมด นั่นคือมีพอร์ตแลนแบบ Gigabit มาให้ 2 ช่อง โดยแต่ละช่องสามารถตรวจจับได้อัตโนมัติว่าเป็นการเชื่อมต่อแบบ LAN หรือแบบ WAN (ในกรณีที่ใช้เป็นโหนด master ต่อเข้ากับโมเด็ม) ส่วนด้านล่างก็จะเป็นช่องเสียบสายจากอะแดปเตอร์ครับ โดยรุ่น AC3900 นี้ ไม่รองรับการเชื่อมต่อในลักษณะของ PoE นะครับ

พลิกมาด้านล่างก็จะพบกับขอบยางติดอยู่ทั้ง 4 ด้านเพื่อกันลื่น ภายในก็มีสวิตช์เปิด/ปิด ปุ่มรีเซ็ต รวมถึงมีชื่อพร้อมรหัสเชื่อมต่อ WiFi ที่กระจายมาจากตัวโหนดด้วย โดยจะใช้ในการเชื่อมต่อกับโหนด master ครั้งแรกเท่านั้น เมื่อตั้งค่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้ก็สามารถเปลี่ยนชื่อ SSID และรหัสในภายหลังได้

อะแดปเตอร์ที่ให้มาในกล่องก็มีขนาดใหญ่กว่าอะแดปเตอร์ของมือถือเล็กน้อย มีการจ่ายไฟที่ 12V 1A ตัวหัวปลั๊กสามารถเลือกจากหัวปลั๊กตัวผู้ที่มีให้เลือกในกล่องได้หลากหลายแบบ จะใช้แบบขาแบน ขากลมใหญ่ ขากลมเล็ก รวมถึงขาแบบ UK ได้ตามต้องการเลย ซึ่งในกล่องก็จะมีแยกเป็นชุดต่อโหนดให้ครบถ้วน นอกจากนี้ยังมีสายแลนมาให้อีก 1 เส้น ซึ่งเพียงพอแล้ว เนื่องจากสายแลนจะใช้เฉพาะเชื่อมต่อโหนด master เข้ากับโมเด็มอินเตอร์เน็ตเท่านั้น

ซึ่งลักษณะการเชื่อมต่อจะเป็นตามภาพด้านบนครับ โดยมีโหนด Velop ตัวซ้ายสุดทำหน้าที่เป็น master ที่ใช้สายแลนเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต ส่วนโหนดอื่น ๆ จะใช้การเชื่อมต่อกันและกันผ่าน WiFi โดยสิ่งที่ทำให้ Linksys Velop AC3900 ต่างจากการใช้ access point ธรรมดาทั่วไปก็คือเทคโนโลยี Mesh ที่ทำให้แต่ละโหนดสามารถตรวจสอบสถานะของการเชื่อมต่อ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้เอง อย่างในภาพด้านบนเป็นภาพที่แสดงให้เห็นว่าแม้โหนดบนสุดจะหยุดทำงานไป แต่ผู้ใช้ก็ยังสามารถใช้งานอินเตอร์เน็ตได้อย่างต่อเนื่องผ่านทางอีกโหนดทางขวา (ถ้าอยู่ในระยะการทำงาน) ซึ่งจะปรับการทำงานให้สอดคล้องกับสถานะการเชื่อมต่อได้ทันทีเมื่อโหนดบนหลุดไป

นอกจากนี้แต่ละโหนดของ Linksys Velop AC3900 ยังสามารถปรับการใช้ช่องสัญญาณ WiFi ที่เหมาะสมได้เอง โดยแต่ละโหนดจะพยายามเลือกช่องที่มีความหนาแน่นของสัญญาณอื่น ๆ ในบริเวณเดียวกันต่ำ เพื่อให้สามารถรับส่งข้อมูลได้เต็มประสิทธิภาพที่สุด โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องมานั่งสแกนและตั้งค่าเองเลย ซึ่งน่าจะช่วยลดปัญหาของสัญญาณชนกันจนกระทบกับความเร็วของ WiFi ได้เป็นอย่างดี

 

การตั้งค่าการใช้งานครั้งแรกผ่านแอปพลิเคชัน Linksys

ในปัจจุบัน ผู้ผลิตนิยมใส่ตัวเลือกของการตั้งค่าอุปกรณ์เน็ตเวิร์คผ่านทางแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนมาให้ ส่วน Linksys Velop AC3900 นี้ จะใช้การตั้งค่าผ่านแอปพลิเคชันเป็นวิธีหลักเลยครับ โดยรองรับการใช้งานทั้งบน iOS และ Android ตามลิงค์ของแต่ละ OS ตามนี้เลย

  1. เมื่อเปิดแอปขึ้นมาก็จะมีให้ล็อกอินบัญชี Linksys ก่อนเลย (สามารถข้ามได้) เมื่อจัดการเรื่องบัญชีผู้ใช้งานได้แล้ว ก็กดที่หัวข้อ Launch setup เพื่อตั้งค่าอุปกรณ์ใหม่ได้เลย
  2. เลือกประเภทของอุปกรณ์ที่ต้องการตั้งค่า อย่างในรีวิว Linksys Velop AC3900 นี้ ก็ให้เลือก Velop Whole Home WiFi
  3. เลือกประเภทของชุดอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ใช้อยู่ตอนนี้ ระหว่าง [modem+router แยกกัน] กับ [อุปกรณ์แบบออลอินวัน ที่ทำหน้าที่เป็นทั้ง modem และ router ในตัว] อย่างในการรีวิวนี้ ผมใช้การต่อในแบบแรกครับ
  4. เตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ ตัวโหนด Linksys Velop AC3900 สายแลน และก็อะแดปเตอร์ จากนั้นก็เสียบปลั๊ก เสียบสายแลนจากโหนดไปยังชุดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตจากในข้อ 3 ได้เลย ซึ่งผมเลือกต่อโหนดเข้ากับพอร์ตแลนของ modem โดยตรง

5. รอให้ตัวโหนดบูทเสร็จ โดยรอให้จากไฟสีน้ำเงินกระพริบ เปลี่ยนเป็นสีม่วงนิ่ง ๆ ที่แสดงว่าตัวโหนดพร้อมสำหรับการตั้งค่าแล้วแล้ว เมื่อเปลี่ยนเป็นไฟสีม่วง ก็ให้กดที่ปุ่ม The Light is Purple ได้ทันที

6. เมื่อกดแล้ว ตัวแอปจะค้นหาโหนดในระยะใกล้เคียง หากพบ ก็จะมีข้อความแจ้งว่า Found a node! เพื่อเตรียมสำหรับการตั้งค่าในลำดับถัดไป

7. ตัวแอปจะแนะนำให้ผู้ใช้ปิดและเปิด modem ใหม่อีกครั้ง เพื่อทำการรีเฟรชการเชื่อมต่อไปยัง ISP ให้ได้ค่าใหม่ที่มีความแม่นยำกับการตั้งค่าในขณะนั้นที่สุด

8. หากไม่พบปัญหาใด ๆ แอปพลิเคชันจะจัดการตั้งค่าโหนด master ให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรครับ แนะนำว่าหาอย่างอื่นมาทำระหว่างรอได้เลย

 

หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการตั้งค่าทั้งหมดแล้ว ตัวโหนดแรกที่เป็นโหนด master ก็จะพร้อมใช้งานได้ทันที สามารถเชื่อมต่อดีไวซ์อื่น ๆ เพื่อใช้งานอินเตอร์เน็ตได้เลย โดยใช้ชื่อ SSID และรหัสผ่านจากฐานของโหนดที่ใช้งาน

ด้านของแอปพลิเคชัน Linksys ก็จะมีลักษณะเป็นแบบแดชบอร์ด โดยหน้าแรกจะแสดงให้เห็นภาพรวมของการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตว่าเป็นอย่างไร มีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับโหนดอยู่กี่ชิ้น สามารถตั้งชื่อ SSID และรหัสผ่านใหม่เองได้ อย่างของผมก็เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Linksys Velop ไปซะ รวมถึงยังมีเมนูเปิดการเชื่อมต่อให้กับ guest เมนูจำกัดการใช้งานของผู้ใช้มาให้ในหน้าแรกเลย

ส่วนเมนูกา่รตั้งค่า การตรวจสอบสถานะต่าง ๆ จะนำไปซ่อนอยู่ในแถบเมนูแบบแฮมเบอร์เกอร์ทางมุมซ้ายบนครับ โดยเมนูที่น่าสนใจก็ได้แก่

  • เมนู Velop Administration: ใช้สำหรับอัพเดตเฟิร์มแวร์ ดูสถานะของแต่ละโหนดที่เปิดทำงานอยู่ในวงเดียวกัน
  • เมนู Devices: ใช้สำหรับตรวจสอบว่ามีดีไวซ์ใดบ้างที่เชื่อมต่อกับโหนด Velop
  • เมนูสำหรับตั้งค่า IP ภายใน, port, MAC address และค่าอื่น ๆ แบบเดียวกับในอุปกรณ์เน็ตเวิร์คทั่วไป

สำหรับการติดตั้งโหนดเพิ่มเข้าไปในวง ก็สามารถทำได้จากเมนู Set Up a New Product จากในเมนูด้านล่างสุดของแถบเมนูเช่นเดียวกัน โดยในการตั้งค่ารอบนี้ จะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากการตั้งค่าโหนด master พอสมควร โดยคราวนี้แอปจะค้นหาโหนดผ่านทาง Bluetooth แทน เมื่อพบแล้ว และยืนยันว่าเป็นโหนดที่ต้องการ แอปพลิเคชันก็จะจัดการตั้งค่าโหนดใหม่ให้เชื่อมต่อเข้ากับวงของโหนด master โดยอัตโนมัติ เมื่อตั้งค่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว โหนดใหม่ก็จะใช้ชื่อ SSID และรหัสผ่านชุดเดียวกับโหนด master เลย ทำให้ดีไวซ์สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเน็ตเวิร์คได้แบบไร้รอยต่อ โดยไม่ต้องไปกรอกรหัสผ่านเมื่อเชื่อมต่อโหนดใหม่ เนื่องจากระบบจะจัดการเชื่อมทุกโหนดให้เป็นเสมือนเป็นโหนดเดียวกันหมด

ด้านการทดสอบประสิทธิภาพ ผมทดสอบโดยใช้มือถือเป็น Google Pixel 2 XL ที่รองรับ WiFi 802.11ac ความเร็วของแพ็คเกจอินเตอร์เน็ตที่ 150/50 Mbps ผลของความเร็วที่ได้จากทั้งในแอป Linksys เอง และจากแอป Speedtest ก็เรียกได้ว่ามาแรงทะลุแพ็คเกจเลยทีเดียว ดังนั้นคงแทบไม่ต้องห่วงเรื่องความเร็วในการใช้งานเลยครับ เทียบชั้น router ระดับไฮเอนด์สำหรับการใช้งานทั่วไปได้สบาย

Linksys Velop AC3900 เป็นอีกหนึ่งโซลูชันสำหรับทดแทน router แบบเดิม ๆ ที่มีข้อจำกัดในด้านของการตั้งค่าที่วุ่นวาย ด้วยเทคโนโลยีการเชื่อมต่อแบบ Mesh ที่ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างโหนดด้วยกันเป็นไปได้อย่างราบรื่นไร้รอยต่อ รวมถึงมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานได้ตามสถานะการเชื่อมต่อภายในวงโหนดได้อัตโนมัติ ช่วยทลายขีดจำกัดของการใช้งานภายในที่พักอาศัยที่มีการแบ่งเป็นหลายห้องได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ยังมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม ดูมีสไตล์ และกะทัดรด ทำให้สามารถจัดวางได้ในแทบทุกมุมของบ้าน เสมือนเป็นอุปกรณ์ตกแต่งบ้านอีกชิ้นได้เลย

 

ข้อดี

  • ตั้งค่าการใช้งานได้ง่ายผ่านแอปบนมือถือ
  • เทคโนโลยี Mesh ช่วยให้แต่ละโหนดสามารถปรับการทำงาน การเชื่อมต่อได้อย่างอัจฉริยะ
  • ประสิทธิภาพการทำงานอยู่ในระดับที่มั่นใจได้
  • ฟังก์ชันการตั้งค่าเน็ตเวิร์คยังคงให้มาอย่างครบถ้วน

ข้อสังเกต

  • ก่อนซื้อ ต้องพิจารณาเลือกจำนวนโหนดที่เหมาะสมกับที่พักอาศัยก่อน

from:https://notebookspec.com/review-linksys-velop-ac3900-2019/470972/