ทำไมต้องของหรู?: รู้จักกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนตลาดล่าง

ในช่วงรอบ 1-2 ปีนี้ เราได้เห็นทั้งความพยายามของไมโครซอฟท์ กูเกิล และมอสซิลล่า ในการ “ผลัก” ขอบเขตของราคามือถือโดยเฉลี่ย ต่ำลงไปมากกว่าเดิม และพยายามที่จะให้เป็นสมาร์ทโฟนที่คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งสิ่งที่เราเห็นกัน คือการจับมือกับผู้ผลิตบางรายที่เราอาจจะไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อมาก่อน แต่ผู้ผลิตเหล่านี้กลับมีศักยภาพที่จะผลิตมือถือราคาถูกออกมาให้คนทั่วไปได้ใช้กัน

บทความนี้จะเป็นการแนะนำสั้นๆ เกี่ยวกับผู้ผลิตมือถือตลาดล่างเหล่านี้ โดยจะพยายามหาเหตุผลว่าทำไมโทรศัพท์มือถือจึงมีราคาที่ถูกลง จะมีผลดีอย่างไร และแนะนำผู้เล่นบางรายในตลาดนี้ที่เราอาจจะได้ยินชื่อบ่อยขึ้น นับจากนี้ครับ

ข้อสังเกตบางประการของมือถือราคาถูก

ในทัศนะของผู้เขียน มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สมาร์ทโฟนราคาถูกที่มีประสิทธิภาพต่อราคาดังเช่นในปัจจุบัน เกิดขึ้นได้ด้วยห้าปัจจัยหลักสำคัญ ซึ่งห้าปัจจัยนี้แม้จะแยกออกจากกันได้ แต่ก็มีความเกี่ยวพันและซ้อนทับกันค่อนข้างสูงมาก ซึ่งจะต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กัน ดังนี้

  • สภาพการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เริ่ม “ช้าลง” เราจะเริ่มสังเกตได้ว่าในโทรศัพท์มือถือกลุ่มเรือธง (flagship) ในแต่ละปีและในแต่ละรุ่น เริ่มมีความแตกต่างกันน้อยลงมาก หรือแทบจะไม่มีเลย (ตัวอย่างเช่น Xperia Z2 => Z3 หรือ Galaxy Note 3 => Note 4) เพราะอัตราการพัฒนาเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนในกลุ่มนี้ช้าลงกว่าเดิม (ลองอ่านบทสัมภาษณ์ Hutchison หัวหน้าแผนกออกแบบของ Vertu ประกอบ)
  • สภาพของตลาดสมาร์ทโฟนเปลี่ยนแปลงไป เมื่อพัฒนาการของเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะช้าลง เหตุผลของผู้ซื้อที่จะซื้อเครื่องในกลุ่มเรือธงก็น้อยลง ผลที่ได้คือตลาดเรือธงเริ่มนิ่ง สภาพของตลาดจึงบีบให้ผู้ผลิตต้องแสวงหาตลาดอื่น ซึ่งถ้าไม่จับตลาดหรูไปเลย (แบบที่ BlackBerry ร่วมกับ Porsche Design หรือ ซัมซุงร่วมกับ Montblanc, Swarovski) ก็ลงไปตลาดกลางค่อนล่าง ที่การแข่งขันเริ่มดุเดือดและว่ากันที่เรื่องของ “ราคา” เป็นหลัก
  • ระบบปฏิบัติการ ในแง่นี้หมายรวมไปถึงระบบแวดล้อม (ecosystem) ด้วย โดยสำหรับ iOS ซึ่งถือเป็นระบบปฏิบัติการปิดของตัวเอง ย่อมนำมาพิจารณาไม่ได้ แต่กับ Android, Windows Phone และ Firefox OS ซึ่งตัวระบบปฏิบัติการนั้น “แจกฟรี” สำหรับผู้ผลิต ทำให้ต้นทุนในการผลิตลดลง ไม่ต้องสร้างระบบปฏิบัติการของตัวเองออกมา
  • การแข่งขันในตลาดฮาร์ดแวร์ แต่เดิมเราจะเห็นผู้ผลิตหน่วยประมวลผลหรือชุดประมวลผล (ชิปเซ็ต) เพียงไม่กี่รายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ที่เราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เช่น MediaTek, Rockchip, Allwinner, Spreadtrum หรือแม้กระทั่ง Intel ที่ลงมาในตลาดนี้ (แม้จะช้ากว่ารายอื่นๆ) และใช้ราคาเข้าสู้ (เพราะบุกมาจากตลาดอื่น) ทำให้เกิดการแข่งขันในเชิงราคาขึ้น ชิปเซ็ตจากบริษัทหน้าใหม่เหล่านี้มีราคาที่ถูกลงมาก ขณะที่มีประสิทธิภาพซึ่งพอเพียง หรือในบางครั้งก็มากกว่าเจ้าตลาด ทำให้ราคาโดยเฉลี่ยถูกลง และเป็นแรงกดดันที่ส่งผลให้เจ้าตลาด (อย่างเช่น Qualcomm) ต้องเริ่มหันมากดราคาชิปของตัวเอง
  • การประหยัดจากขนาด (economy of scale) เป็นคำอธิบายกระบวนการในการผลิต ที่อาจจะอธิบายได้ง่ายที่สุดนั่นก็คือ ยิ่งผลิตมาก ต้นทุนในการผลิตก็จะลดลงไปเรื่อยๆ นั่นเอง กล่าวคือ สิ่งที่ผลิตชิ้นแรกย่อมมีต้นทุนที่มากที่สุด พอในชิ้นถัดไป ต้นทุนเหล่านั้นจะถูกหารลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อถึงระดับหนึ่ง (ในเชิงจินตภาพ) ต้นทุนเหล่านั้นก็จะน้อยลงมาก ซึ่งเรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีในการผลิตด้วย ว่าเอื้ออำนวยให้เกิดสภาพแบบนั้นมากน้อยเพียงใด

ห้าปัจจัยหลักดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกาะเกี่ยวและเชื่อมโยงกัน แม้จะไม่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันหมดในครั้งเดียว แต่ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้สมาร์ทโฟนมีราคาที่ถูกลงกว่าเดิม และกลายสภาพเป็นสินค้าอุปโภค (commodity) ที่ทุกๆ คน สามารถหาซื้อหรือสามารถมีได้นั่นเอง ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขของบริษัทวิจัย IDC ที่ระบุว่าในปี 2018 ราคาของสมาร์ทโฟนโดยเฉลี่ยจะมีราคาต่ำลง จากที่ในปีนี้อยู่ที่ระดับ 314 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 10,000 บาท) เหลือ 267 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8,000 บาท) ในปี 2018

สิ่งที่ตามมาจากปรากฏการณ์โทรศัพท์มือถือราคาถูกนี้ คือการเอื้ออำนวยให้เกิดแบรนด์มือถือรายใหม่ๆ ที่ผลิตมือถือมีคุณภาพแต่ราคาถูกลงไปมากในท้องตลาด ซึ่งมักจะเป็นผู้ผลิตในท้องถิ่น

การขึ้นมาของแบรนด์ราคาถูก

ในรอบปีนี้เราอาจได้ยินชื่อแบรนด์มือถือราคาถูกอย่างเช่น Micromax, Lava, Karbonn, Spice หรือ XOLO (กรณีของไทยที่ชัดเจนคือการที่ AIS นำเข้ามือถือ Lava เพื่อมาจัดจำหน่ายโดยเฉพาะ) คำถามคือ แบรนด์เหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

การเกิดขึ้นของ local brand เหล่านี้ (บางค่ายอาจจะเป็น regional brand คือทำตลาดนอกประเทศตัวเองด้วย) มีปัจจัยเรื่องของท้องถิ่นเป็นหลัก ที่ความต้องการบางอย่างอาจจะไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในโทรศัพท์ที่ขายทั่วโลก ตัวอย่างเช่น โทรศัพท์ที่ขายทั่วโลกอาจจะไม่สามารถรับวิทยุหรือทีวีได้ ขณะที่ในท้องถิ่นกลับมีความต้องการโทรศัพท์ที่รับวิทยุหรือทีวีได้ หรือภาษาท้องถิ่นของตัวเองที่ไม่ได้รับการบรรจุลงไปในเครื่องเหล่านี้

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเรื่องการกระจายสินค้าและการตั้งราคาสินค้า ซึ่งแบรนด์ต่างชาติอาจยังทำได้ไม่ดีพอ ส่งผลให้คนในท้องถิ่นอาจจะไม่สามารถเข้าถึงสินค้าที่ต้องการจะซื้อได้อย่างเต็มที่ ตัวอย่างเช่น หากเป็นแบรนด์สากล การวางสินค้าอาจจะต้องกระทำอยู่ในพื้นที่ของร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า ในขณะที่แบรนด์ท้องถิ่นอาจมีรูปแบบที่ยืดหยุ่น ไม่ตายตัวในการวางสินค้า เช่น การวางขายตามร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ส่วนเรื่องของราคาเมื่อเป็นโทรศัพท์มือถือสากลแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมหมายความว่าราคาที่ไม่น่าจะต่างกันมากในแต่ละประเทศ ทำให้คนท้องถิ่นที่อาจไม่มีกำลังทรัพย์ที่มากพอ ไม่สามารถเข้าถึงได้นั่นเอง การเกิดขึ้นของ local brand ย่อมเป็นการเติมเต็มในตลาดที่แบรนด์ระดับนานาชาติอาจจะเข้าไม่ถึง

นั่นแปลว่าศักยภาพของ local brand ย่อมอิงกับกำลังซื้อของตลาดในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย การที่แบรนด์เหล่านี้ผงาดขึ้นในตลาดโลก ย่อมเกิดมาจากฐานกำลังซื้อในประเทศมีจำนวนมหาศาลนั่นเอง (เราจึงเห็นแบรนด์ในประเทศอินเดียหรือจีนได้รับความสนใจมากกว่า)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ local brand เหล่านี้มักอยู่ในกลุ่มประเทศ BRICS หรือกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีพัฒนาการด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว อันประกอบไปด้วย บราซิล (Brazil), รัสเซีย (Russia), อินเดีย (India), จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) ประเทศเหล่านี้มีจำนวนประชากรค่อนข้างมาก ทำให้แบรนด์จากประเทศเหล่านี้ เป็นที่จับตามองจากบรรดาผู้ผลิตระบบปฏิบัติการต่างๆ

แบรนด์ที่อยู่ในตลาดนี้

บทความนี้จะเน้นไปที่แบรนด์/ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนในตลาดของกลุ่มประเทศ BRICS เป็นหลัก โดยเอาแบรนด์ที่เราน่าจะได้ยินชื่อค่อนข้างบ่อยในช่วงนี้มานำเสนอเป็นหลัก ซึ่งหลายยี่ห้อเองก็ผลิตมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการของหลากหลายค่ายกันไป

Xiaomi

Xiaomi (อ่านว่า she-yow-mee) เป็นหนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากจีนที่เราน่าจะได้ยินชื่อบ่อยที่สุดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 โดย Lei Jun นักธุรกิจชาวจีนที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมด้านไอทีของจีน กับ Lin Bin อดีตผู้บริหารของกูเกิลในประเทศจีน

เป้าหมายสำคัญตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง คือสร้างโทรศัพท์มือถือคุณภาพสูงแต่จำหน่ายในราคาต่ำ (เพราะรายได้โดยเฉลี่ยของคนจีนนั้นอยู่ที่ประมาณปีละ 2,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ) รวมถึงสร้างซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาสำหรับคนจีนโดยเฉพาะ

สิ่งที่ทำให้ Xiaomi สามารถประหยัดต้นทุนในการดำเนินการลงไปได้มาก คือการวางจำหน่ายสินค้าบนโลกออนไลน์เท่านั้น ทำให้ประหยัดต้นทุนไปได้ 20-25% และหันไปเน้นกำไรจากอุปกรณ์เสริมกับบริการแทน

ในปัจจุบัน Xiaomi มีผลิตภัณฑ์ของตัวเองออกมามากมาย ทั้งสมาร์ทโฟน, อุปกรณ์ไอทีแบบสวมใส่, Set-top box สำหรับต่อจอโทรทัศน์ และอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก และกำลังเริ่มขยายตลาดออกไปจากตลาดเดิมที่ Xiaomi เคยเข้าไปทำตลาดอยู่ (ตลาดเดิมของ Xiaomi คือ จีน, ไต้หวัน และฮ่องกง)

Meizu

Meizu เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2003 แต่เดิมทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องเล่นเพลง MP3 โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2004 กับ Meizu ME ก่อนที่จะลงมาสู่ตลาดสมาร์ทโฟนครั้งแรกเมื่อปี 2009 กับสมาร์ทโฟน Meizu M8 (ซึ่งมีหน้าตาและซอฟต์แวร์คล้ายกับ iPhone ในช่วงนั้นอย่างมาก) และหลังจากนั้นก็ออกโทรศัพท์ของตัวเองอยู่เรื่อยมา

หลักการของ Meizu คล้ายกับผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือราคาถูกรายอื่นๆ คือเน้นตั้งราคาถูก แล้วใช้วิธีการประหยัดด้วยขนาด (economy of scale) มาทำกำไรให้แทน สำหรับวิธีการวางจำหน่ายนั้นไม่ชัดเจนว่า Meizu ใช้วิธีการใดบ้างนอกเหนือไปจากการขายทางออนไลน์อย่างเดียว

ข้อมูลของ Meizu มีไม่มากเท่ากับ Xiaomi แต่หากดูจากแนวทางการตลาดของ Meizu แล้ว ค่อนข้างชัดเจนว่ามุ่งแข่งขันกับเพื่อนร่วมชาติ Xiaomi อย่างเต็มตัว ปัจจุบันสมาร์ทโฟนของ Meizu ทำตลาดอยู่ในประเทศจีน, ฮ่องกง, อิสราเอล และรัสเซีย เป็นหลัก โดยมีแผนที่จะขยายออกไปยังต่างประเทศ (เช่น ออสเตรเลีย เยอรมนี สเปน สหราชอาณาจักร และ อินเดีย) ในอนาคต

Huawei

Huawei เป็นบริษัทโทรคมนาคม แล้วมาทำตลาดสมาร์ทโฟนราคาถูกในภายหลัง บริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 โดย Ren Zhengfei อดีตเจ้าหน้าที่ทหารของทางการจีน

Huawei เริ่มต้นธุรกิจด้วยการทำ PBX (Private Branch Exchange หรือระบบโทรศัพท์ภายในองค์กร) ก่อนที่จะขยับขยายมาทำธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายในปี 1997 พอถึงช่วงปี 1998-2003 ได้ลงนามร่วมกับทาง IBM ในการให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาบริษัทและจัดโครงสร้างของผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดสมาร์ทโฟนในปี 2009 กับ Huawei U8230 และร่วมมือกับ Google สร้างสมาร์ทโฟนราคาถูกตัวแรกที่ชื่อว่า IDEOS ในปี 2010

ยุทธศาสตร์ของ Huawei ในตลาดสมาร์ทโฟนราคาถูกนั้นค่อนข้างแปลกเล็กน้อย เพราะนอกจากจำหน่ายมือถือในแบรนด์ของตัวเองแล้ว ยังทำหน้าที่ผลิตเครื่อง (white label) ให้กับผู้ให้บริการ/แบรนด์อื่น เอาไปติดยี่ห้อของตัวเองด้วย

กลยุทธ์ทางธุรกิจของ Huawei จะเน้นไปเจาะตลาดในระดับรากหญ้าที่ต่างจังหวัดก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มต้นตีตลาดเข้ามาในพื้นที่เมืองมากขึ้น (ยุทธศาสตร์นี้เราอาจคุ้นชื่อในนามว่า “ป่าล้อมเมือง”) ซึ่งก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้มาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทและประสบความสำเร็จอย่างมากตั้งแต่ปี 1993 ที่ใช้ยุทธศาสตร์ขาย PBX ให้กับเมืองขนาดเล็กทุกเมืองของจีนก่อน

ปัจจุบัน Huawei มีสมาร์ทโฟนในซีรีส์ Ascend เป็นตัวชูโรง โดยมีทุกระดับราคา และในบ้านเราก็เห็นการนำเอามาจำหน่ายอยู่บ้าง ส่วนสมาร์ทโฟนที่ผลิตเครื่องแล้วแปะยี่ห้อคนอื่นนั้นก็พอจะพบเห็นได้บ้าง อย่างเช่น DTAC Cheetah (Huawei Ascend G510) เป็นต้น ล่าสุด Huawei ก็เริ่มหันมาผลิตชิปเพื่อใช้กับโทรศัพท์ของตัวเองแล้ว

Micromax

Micromax เป็นบริษัทอินเดียที่จัดจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และทำธุรกิจซอฟต์แวร์มาก่อน จนกระทั่งในปี 2008 ที่ผู้ก่อตั้งสี่คน (Rajesh Agarwal, Sumeet Arora, Rahul Sharma และ Vikas Jain) ตัดสินใจเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถืออย่างเต็มตัว โดยเริ่มต้นทำโทรศัพท์ฟีเจอร์โฟนที่สามารถอยู่ได้ทั้งเดือนโดยไม่ต้องชาร์จไฟ (เพราะอินเดียขาดแคลนไฟฟ้า) และประสบควมสำเร็จอย่างสูง แล้วเข้าสู่ตลาดแท็บเล็ตในปี 2011 ด้วยแท็บเล็ตซีรีส์ Canvas

จุดเด่นของ Micromax นอกจากราคาถูกและเข้าใจความต้องการของชาวบ้าน ยังเป็นเรื่องกระบวนการผลิต ที่ระยะแรกอาศัยประโยชน์จากนโยบายไม่เก็บภาษีนำเข้าโทรศัพท์มือถือของประเทศอินเดีย Micromax จึงเซ็นสัญญากับผู้ผลิตมือถือจีนให้ผลิตให้ ผลคือต้นทุนที่ต่ำมากในช่วงแรก แต่ช่วงหลัง Micromax ก็เริ่มผลิตโทรศัพท์เองในอินเดียบ้างแล้ว ข้อดีอาจเป็นเรื่องการวางแผนการตลาดที่รวดเร็วขึ้นด้วย (แบรนด์ต่างประเทศอาจใช้เวลาสูงถึง 18 เดือนในการเปิดตัวสินค้าและวางจำหน่าย แต่ Microsmax กลับทำได้ภายในเวลา 1-2 เดือนเท่านั้น)

กลยุทธ์ของ Micromax ในการวางจำหน่ายสินค้าจะคล้ายๆ กับ Huawei เพียงแต่ขยายผลิตภัณฑ์ขึ้นไปจับคนในเมือง

ปัจจุบัน Micromax มีสินค้าที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต จอโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งโมเดมสำหรับอินเตอร์เน็ต 3G แต่ที่มักจะเป็นที่รู้จักหรือคุ้นเคยสำหรับผู้อ่านคือสมาร์ทโฟน โดยปัจจุบันวางจำหน่ายที่ประเทศอินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา เนปาล และรัสเซีย เป็นหลัก ทั้งนี้ Micromax มีทั้งโทรศัพท์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android และ Windows วางจำหน่ายทั้งคู่

Karbonn

Karbonn เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง United Telecoms ซึ่งทำธุรกิจด้านสื่อสารและโทรคมนาคมมายาวนานในฝากองค์กร (ตัวอย่างเช่น เครื่องส่งสัญญาณ และบริการทางซอฟต์แวร์) และ Jaina Marketing & Associates ที่ทำเรื่องของการตลาดเป็นหลัก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 มีเป้าหมายคือทำโทรศัพท์ราคาถูกสำหรับคนอินเดียโดยเฉพาะ โดยมีข้อตกลงทางยุทธศาสตร์กับ MTS ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของอินเดีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Russian Mobile TeleSystem จากรัสเซียอีกทีหนึ่ง

ประวัติของ Karbonn ค่อนข้างที่จะคลุมเครือและไม่ชัดเจนเท่าใดนัก อย่างไรก็ตามตัวบริษัทก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยกลยุทธ์ของ Karbonn คล้ายกับ Micromax คือการว่างจ้างผู้ผลิตจากประเทศอื่น (เช่น จีน) ให้ช่วยผลิตเครื่องทำให้ราคาต่ำลง พร้อมกับช่องทางการจัดจำหน่ายทั่วประเทศที่เข้าถึงคนรากหญ้าได้ดี

ราคาเครื่องของ Karbonn อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ Micromax และสร้างยอดขายได้ดี ปัจจุบัน Karbonn วางจำหน่ายที่อินเดีย, บังคลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา และแถบประเทศตะวันออกกลาง โดยมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็น Windows และ Android

Lava

Lava ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 โดยมีเป้าหมายจำหน่ายโทรศัพท์มือถือให้กับคนชั้นล่าง เช่นเดียวกับ Micromax

โทรศัพท์รุ่นแรกของ Lava เป็นเพียงฟีเจอร์โฟนธรรมดาแต่มีคุณสมบัติที่คนท้องถิ่นต้องการ จากนั้นจึงค่อยเริ่มทำสมาร์ทโฟนราคาถูกของตัวเองขึ้นเพื่อตอบโจทย์คนท้องถิ่น ในปี 2012 Lava ถือเป็นผู้ผลิตเจ้าแรกของอินเดียที่เริ่มนำเอาชิป Intel มาใช้ (มีชื่อรุ่นอย่างเป็นทางการว่า XOLO X900) และเข้าสู่ตลาดแท็บเล็ตในปีเดียวกันนั้นเอง

ประวัติของ Lava นั้นค่อนข้างไม่ชัดเจนและคลุมเครือ แต่บริษัทก็สามารถเติบโตขึ้นได้เรื่อยๆ โดยกลยุทธ์แบบเดียวกับคู่แข่ง คือเน้นขายโทรศัพท์มือถือราคาถูกที่มีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี โดยราคาเครื่องก็ไม่ได้ห่างจากคู่แข่งร่วมชาติเท่าใดนัก

ปัจจุบัน Lava นอกจากจะวางจำหน่ายในประเทศอินเดียแล้ว ยังมีวางจำหน่ายในประเทศอื่นๆ ด้วย (ในประเทศไทยวางจำหน่ายผ่าน AIS)

Spice

Spice ถือเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตโทรศัพท์ของอินเดียที่มีขนาดใหญ่พอสมควร โดยมีบริษัท Smart Global Holdings (เดิมคือ Spice Group) ที่เป็นบริษัทประเภท conglomerate (ลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม) เป็นเจ้าของ

Spice ลงทุนทำตลาดทั้งในอินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เนปาล รวมถึงกลุ่มประเทศในแอฟริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และไทย (ของไทยคือ S Wellcom)

หน่วยธุรกิจของ Spice ที่ผลิตโทรศัพท์นั้นเรียกว่า Spice Mobiles ถือเป็นแผนกหนึ่งของ Spice Mobility กลุ่มกิจการด้านสื่อสารของ Smart Global Holdings อีกทีหนึ่ง เป้าหมายคือจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่มีราคาถูก แต่ประสิทธิภาพการทำงานนั้นเทียบเท่ากับสมาร์ทโฟนที่ดีในท้องตลาด

ปัจจุบัน Spice มีโทรศัพท์มือถือในสายสมาร์ทโฟนเป็นหลัก และถือว่ามีราคาถูก (ใครสนใจลองไปอ่านลองจับ Stellar Power ประกอบได้)และนอกเหนือจากสมาร์ทโฟนแล้ว Spice ยังมี smart watch วางจำหน่ายในชื่อ Smart Pulse ด้วย

อนาคตของสมาร์ทโฟนราคาถูก

อย่างไรก็ตาม ราคาของโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ที่ออกมาอาจจะยังไม่ได้อยู่ในระดับที่ “ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เพราะมีเรื่องของต้นทุนในการออกแบบเครื่อง/แผงวงจร และการจัดการด้านซอฟต์แวร์ ที่เป็นปัญหาสำคัญทำให้หลายๆ เจ้า ยังไม่สามารถกดราคาของโทรศัพท์มือถือลงไปได้ต่ำกว่าที่คิดไว้

ช่องว่างเหล่านี้ ทำให้ไมโครซอฟท์ ในฐานะเจ้าของระบบปฏิบัติการ Windows Phone, กูเกิล ในฐานะผู้ร่วมพัฒนา Android และ มอซซิลล่า ในฐานะเจ้าของระบบปฏิบัติการ Firefox OS จึงมีโครงการในการลดต้นทุนของผู้ผลิตเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด โดยใช้หลักการเดียวกัน คือการที่บริษัท/มูลนิธิ (ในฐานะผู้ผลิตระบบปฏิบัติการ) ร่วมมือกับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ออกแบบพิมพ์เขียว (reference design) ให้กับผู้ผลิตมือถือเหล่านี้นำไปผลิต และดูแลด้านซอฟต์แวร์ไปในเวลาเดียวกัน ผลที่ได้คือค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ที่ลดลงกว่าเดิม (อาจจะรวมถึงข้อตกลงพิเศษในการใช้ชิปที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดด้วย) และย่อมหมายถึงว่าสามารถกดราคาลงไปได้ถูกกว่าเดิมด้วย

อ้างอิง

  • บทความจาก Businessweek
  • บทความจาก Gizmodo
  • บทความจาก Gizmochina
  • บทความจาก The Conversation
  • บทความจาก India Times
  • บทความจาก Phone Arena
  • ข่าวแจกสื่อจาก Intel
  • บทสัมภาษณ์ผู้ก่อตั้ง Lava จาก Telecom Talk
  • เว็บไซต์ของ Spice
  • บทความจาก Rediff
  • บทความจาก Business Today
  • บทความจาก Oizoioi
  • Thumbnail ประกอบบทความจาก doolnews.com
Special Report, Mobile

from:http://www.blognone.com/node/60941