คลังเก็บป้ายกำกับ: NETWORK_ASSURANCE

TTT 2022 Reinforce: ขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพด้วย Network Modernization โดย HPE Aruba

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ต่างๆ ได้ทำให้ธุรกิจนั้นต้องเปลี่ยนแปลงตนเองอย่างรวดเร็ว มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการทำงานรูปแบบใหม่อย่าง Remote Working และ Hybrid Working ซึ่งทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลให้ธุรกิจนั้นต้องวางแผนใหม่สำหรับระบบเครือข่าย ให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอันไม่คาดฝันในอนาคตกันต่อไป

คุณประคุณ เลาหกิตติกุล Country Manager (Thailand) แห่ง HPE Aruba ได้มาเล่าถึงหัวข้อ “Accelerate Your Business with Network Modernization” ภายในงานสัมมนา TTT 2022 Reinforce ที่ผ่านมา ถึงความจำเป็นและแนวทางในการทำ Network Modernization อย่างเข้มข้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถวางระบบเครือข่ายซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตเป็นอย่างน้อย 4-5 ปีนับถัดจากนี้

4 เป้าหมายหลักของการทำ Network Modernization

คุณประคุณได้เล่าว่าในการทำ Network Modernization นั้น ธุรกิจองค์กรมักมีเป้าหมายหลักด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่

  1. Hybrid Work – การทำงานแบบผสมผสานทั้งจากภายในองค์กรและภายนอกองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์เดียวกัน และความมั่นคงปลอดภัยในระดับสูงที่ไว้วางใจได้
  2. Digital Transformation Acceleration – เร่งความเร็วในการปรับตัวของธุรกิจ รองรับการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้งานเพื่อตอบสนองต่อการเติบโตของธุรกิจได้
  3. Personalized Experiences – นำเสนอประสบการณ์เฉพาะบุคคลให้กับผู้ใช้งานได้ตั้งแต่ระดับของเครือข่าย, ข้อมูล และ Application อย่างครบถ้วน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  4. Need for Efficiencies – ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการเกิดขึ้นของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้บุคลากรฝ่าย IT จำนวนเท่าเดิมในการบริหารจัดการกับเทคโนโลยีที่มีการใช้งานมากขึ้นได้

เพื่อให้ธุรกิจองค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ประการนี้ได้ คุณสมบัติของระบบเครือข่ายแห่งอนาคตจึงต้องครอบคลุมถึงทั้งการทำ Automation เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงาน และช่วยให้ทรัพยากรฝ่าย IT สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการระบบเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนได้ Security ซึ่งถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่าย เพื่อเสริมความมั่นคงปลอดภัยเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น และ Agility มีความยืดหยุ่นรองรับการเปลี่ยนแปลงระบบเครือข่ายที่จะเกิดขึ้นจากการมาของเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้อย่างทันท่วงที

ปรับระบบเครือข่ายให้ทันสมัยด้วย Aruba ESP Solutions

คุณประคุณได้สรุปถึงเทคโนโลยีทั้งหมดที่ HPE Aruba ได้ทำการคิดค้น พัฒนา และนำเสนอสู่ธุรกิจองค์กรทั่วโลกในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมานี้ ด้วยภาพของ Aruba ESP หรือ Edge Services Platform ที่จะเปลี่ยนให้ Network นั้นกลายเป็น Platform สำคัญทั้งสำหรับการทำงานและส่งมอบประสบการณ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ไปยังผู้ใช้งานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ซึ่งมีแนวคิดหลักด้วยกัน 3 ประการ

1. Unified Infrastructure

ผสานรวมระบบ Wired, Wireless และ SD-WAN รวมถึงระบบเครือข่ายสำหรับอุปกรณ์ IoT เข้าเป็นหนึ่งเดียวภายในระบบเครือข่าย โดยสามารถเลือกวิธีการบริหารจัดการได้ทั้งบน Cloud, Centralized หรือแม้แต่ Standalone

2. Security

HPE Aruba นั้นได้ผสานระบบ Security ให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายตั้งแต่แรก และในทุกวันนี้ก็ได้เพิ่มเรื่องของการทำ Automation เข้าไปด้วย เพื่อให้ Security กลายเป็นเรื่องที่ง่ายดายยิ่งขึ้นกว่าเดิม

3. AIOps

ด้วยปริมาณของอุปกรณ์เครือข่ายที่มากยิ่งขึ้น ในขณะที่แต่ละองค์กรนั้นไม่ได้มีทีมผู้ดูแลระบบมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้ดูแลระบบเครือข่ายต้องรับภาระในการดูแลรักษาระบบ IT ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการนำ AIOps เข้ามาช่วย เพื่อให้การบริหารจัดการระบบเหล่านี้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย

คุณประคุณได้เล่าถึงกรณีของลูกค้ารายหนึ่ง ที่ย้ายการบริหารจัดการระบบเครือข่ายจากเดิมที่แยกส่วนอยู่ภายในองค์กร ไปอยู่บน Cloud ของ Aruba โดยตรง ทำให้ข้อมูลของระบบเครือข่ายทั้งหมดในส่วนของ Wired, Wireless และ SD-WAN ถูกรวมอยู่ที่เดียวบน Cloud และ AIOps ก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ตรวจสอบปัญหาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ช่วยให้ลูกค้าของ HPE Aruba ในประเทศไทยสามารถจัดการกับปัญหาภายในระบบเครือข่ายได้อย่างทันท่วงที

ความสามารถใหม่ในระบบเครือข่ายที่น่าจับตามองจาก HPE Aruba

เมื่อมองไปถึงอนาคต คุณประคุณก็ได้เล่าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นภายใน HPE Aruba ที่หลายส่วนก็ได้กลายเป็นฟีเจอร์ใหม่ๆ ในโซลูชันให้พร้อมใช้งานได้แล้ว ได้แก่

1. Aruba CloudAuth

เมื่อธุรกิจองค์กรนั้นมีการใช้งาน Cloud มากขึ้นเรื่อยๆ แนวคิดหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการใช้ Cloud ให้ได้เต็มศักยภาพมากที่สุด และ HPE Aruba เองก็กำลังมุ่งไปทางนั้นด้วยเช่นกัน โดยความสามารถหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ Aruba CloudAuth นั่นเอง

Aruba CloudAuth คือการยกระบบ Network Authentication ขึ้นไปอยู่บน Cloud ด้วยการทำงานร่วมกับ Microsoft Azure AD และ Google Workspace ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม และทำหน้าที่เป็น Cloud Managed NAC ได้ทันที ซึ่งที่ผ่านมาก็มีลูกค้าในไทยใช้งานอยู่แล้วด้วยเช่นกัน

2. Wi-Fi 6E

เพื่อให้ธุรกิจองค์กรรองรับต่อการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT จำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรองรับ Workload ใหม่ๆ ในระบบเครือข่ายได้อย่างเพียงพอ Aruba จึงได้นำ Wi-Fi 6E มานำเสนอในการตอบโจทย์นี้โดยเฉพาะ

Wi-Fi 6E นั้นได้ทำการพัฒนาต่อยอดจาก Wi-Fi 6 ที่รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ปริมาณมหาศาลได้โดยส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพน้อยกว่าในอดีตมาก โดย Wi-Fi 6E ได้เพิ่มย่านความถี่ 6GHz เข้ามาด้วยเพื่อให้การเชื่อมต่อเครือข่ายรองรับอุปกรณ์และ Bandwidth ได้มากยิ่งขึ้นนอกเหนือจากการใช้เพียงแค่ 2.4GHz และ 5GHz ที่ใช้กันอยู่เดิม

อย่างไรก็ดี สำหรับในประเทศไทยก็ยังคงต้องติดตามต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง จากกฎหมายที่ต้องรอให้ระบุชัดเจนว่าจะสามารถใช้ย่านความถี่ 6GHz ได้มากน้อยเพียงใด

3. IoT

HPE Aruba นั้นมีวิสัยทัศน์ที่นอกเหนือจากการเป็นเพียงแค่ Network Platform ไปสู่การเป็น IoT Platform ด้วย ทำให้ Access Point ของ Aruba นั้นสามารถให้บริการ BLE และ ZigBee เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้ รวมถึงยังสามารถติดตั้ง USB ที่เป็น Sensor เพิ่มเติมเข้าไปบน Access Point โดยตรงได้ด้วย

นอกจากนี้ Aruba ก็ยังเปิด API ให้ผู้ใช้งานสามารถทำการเชื่อมต่อนำ RFID Tag ใดๆ ก็ได้มาใช้งาน โดยใช้ Aruba Access Point ทำหน้าที่ในการอ่านค่าการเชื่อมต่อและส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังระบบประมวลผลอื่นๆ ทำให้สามารถพัฒนา Application ได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะในกลุ่มของ Location Services

4. Open Locate

เมื่อ Aruba เปิดให้การทำ Location Services Application ง่ายดายมากยิ่งขึ้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ Aruba เสริมขึ้นมาก็คือการติดตั้ง GPS ลงไปใน Access Point โดยตรง ทำให้ Access Point ทั้งหมดมีข้อมูลพิกัดตำแหน่งที่แม่นยำ และนำข้อมูลพิกัดตำแหน่งนี้ไปใช้ใน Location Services ได้อย่างแม่นยำระดับความคลาดเคลื่อนเพียงแค่ 1 เมตรเท่านั้น

5. Zero Trust

จากเทรนด์ใหญ่ด้าน Zero Trust ที่กำลังกลายเป็นกระแสหลักของธุรกิจองค์กร HPE Aruba ก็ได้นำแนวคิดนี้มาพัฒนาเป็น Aruba Zero Trust Protection สามารถกำหนด Policy ให้กับทุกๆ การเชื่อมต่อและแบ่งหมวดหมู่นโยบายสำหรับอุปกรณ์แต่ละชนิด, ผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม ด้วยแนวคิด Aruba Dynamic Segmentation ที่สามารถจัดการ Security Policy ให้ระบบเครือข่ายทั้งหมดได้อย่างครอบคลุม

6. 4th Generation Data Center

ปัจจุบันนี้ 3rd Generation Data Center ที่ใช้แนวคิดของ Data Center Fabric บนสถาปัตยกรรมแบบ Leaf-Spine เพื่อรองรับการรับส่งข้อมูลระหว่าง Server ภายใน Data Center ดว้ยกันเองให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ก็เริ่มเจอปัญหาในการใช้งานจริงแล้ว จากการที่เมื่อ Data Center มีขนาดใหญ่มากขึ้น แต่ Network Services และ Security Services บางส่วนกลับยังไม่ถูกผนวกรวมเข้าไปใน Fabric และกลายเป็นคอขวด

4th Generation Data Center จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อนำ Network Services และ Security Services เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์เครือข่ายโดยตรง โดย HPE Aruba ได้จับมือกับ Pensando เพื่อนำหน่วยประมวลผลเฉพาะทางด้าน Network และ Security มาใช้งานภายใน Aruba CX10000 ทำให้ภายใน Data Center Fabric มีความสามารถทุกอย่างที่จำเป็นอย่างครบถ้วน และไม่เกิดคอขวดในแบบเดิมๆ อีกต่อไป

7. Unified SD-WAN Fabric

ด้วยกรณีการใช้งานของ SD-WAN ที่มีหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการที่ Application และ Data ถูกย้ายไปอยู่บน Cloud จำนวนมาก และผู้ใช้งานมีการใช้งานทั้งจากในแบบ Remote Work จากบ้านแต่ละหลังหรืออุปกรณ์แต่ละชิ้น, การมีออฟฟิศขนาดเล็กที่บ้าน, ออฟฟิศสาขาขนาดเล็ก ไปจนถึงธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ ทำให้ SD-WAN ได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก

HPE Aruba ได้เข้าซื้อกิจการของ Silver Peak มา และนำจุดเด่นของ Silver Peak อย่างเช่นการทำ WAN Optimization เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อไปยังบริการ Cloud ต่างๆ ที่ธุรกิจมีการใช้งาน อีกทั้งยังได้มีการพัฒนาต่อยอดด้าน Security จนได้รับ ICSA Labs Secure SD-WAN Certification มาแล้วเป็นรายแรกของโลก

8. Network Assurance

เมื่อการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีได้กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของทุกระบบ IT แน่นอนว่าระบบ Network เองก็ต้องตอบสนองในส่วนนี้ด้วย ซึ่ง Aruba UXI ก็สามารถตอบโจทย์นี้ได้ด้วยการนำ UXI Agent/Sensor มาทำหน้าที่จำลองพฤติกรรมของผู้ใช้งาน ในการเชื่อมต่อ Wi-Fi หรือ LAN แล้วทำการเชื่อมต่อไปยัง Cloud Application ที่ธุรกิจองค์กรใช้ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลด้านประสบการณ์ของผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ และตรวจสอบแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

9. Network-as-a-Service (NaaS)

ด้วยวิสัยทัศน์ของ HPE ที่ต้องการเปลี่ยน CapEx ในการลงทุน Server และ Storage มาสู่การเช่าใช้งานแบบ OpEx ภายใต้บริการ HPE GreenLake ทำให้ HPE Aruba เองก็ปรับตัวไปสู่ทิศทางเดียวกัน ด้วยบริการ HPE GreenLake for Aruba ทำให้ธุรกิจองค์กรสามารถเลือกใช้งานระบบเครือข่ายในแบบ OpEx ได้แล้ว และรองรับกรณีการใช้งานดังนี้

  • Indoor Wireless aaS
  • Outdoor Wireless aaS
  • Remote Wireless aaS
  • Wired Access aaS
  • Wired Aggregation aaS
  • Wired Core aaS
  • SD-Branch aaS
  • UXI aaS

ทาง IDC นั้นได้มีผลสำรวจว่า 69% ของธุรกิจองค์กรนั้นได้เริ่มใช้งาน NaaS หรือมีแผนจะใช้งานภายในอีก 2 ปีนับถัดจากนี้แล้ว ก็ถือเป็นทิศทางที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

ท่านใดสนใจโซลูชัน HPE Aruba หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ คุณนวรัตน์ จิตรตระการวงศ์ อีเมล nawarat.ch@hpe.com

from:https://www.techtalkthai.com/ttt-2022-reinforce-network-modernization-by-hpe-aruba/

Advertisement

Cisco เผย 5 แนวโน้มด้าน Enterprise Network ประจำปี 2018

Cisco ได้ออกมาเปิดเผยถึงแนวโน้มด้าน Enterprise Network ประจำปี 2018 หลังจากที่ปี 2017 ทาง Cisco ได้เปิดตัวระบบ Intent-based Networking ไปอย่างเต็มตัว มาดูกันว่า Cisco จะวิเคราะห์แนวโน้มของปี 2018 นี้เอาไว้อย่างไร

 

Credit: Cisco

 

1. ระบบ Next-generation Network Analytics จะกลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน

ในปี 2017 ที่ผ่านมาเรามักจะได้เห็นการใช้ Next Generation Analytics กับระบบ Wireless Network เป็นหลัก แต่เทคโนโลยีดังกล่าวนั้นก็ยังถือว่ายังไม่ได้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากเท่าที่ควร ในปี 2018 นี้เราจึงจะได้เห็นการนำ Next Generation Analytics กับระบบเครือข่ายในแง่มุมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้กับ Switch และ SD-WAN เพื่อให้เห็นภาพรวมของทั้งผู้ใช้งาน, ระบบเครือข่าย และ Application ได้อย่างครบถ้วน

นอกจากนี้การนำระบบ Simulation, Machine Learning และ AI เข้ามาใช้ในการจัดการข้อมูลปริมาณมหาศาลที่เกิดขึ้นจากระบบเครือข่ายเหล่านี้ก็จะทำให้คนทำงาน IT สามารถเปลี่ยนจากการทำงานเชิงรับไปสู่การทำงานเชิงรุกได้มากขึ้น และทำให้แนวคิดของการทำ Network Assurance กลายเป็นแนวปฏิบัติหลักได้ในอนาคต

 

2. งานด้าน SecOps และ NetOps จะเข้าใกล้กันจนเริ่มแยกไม่ออก

Ransomware นั้นจะยังคงเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่ง และการโจมตีระบบ Internet of Things (IoT) นั้นก็จะเป็นภัยคุกคามในลำดับถัดมา โดยเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Bitcoin, Tor หรือ Malware ที่เคยถูกใช้กับ Ransomware ก็ได้ถูกนำมาใช้กับ IoT ด้วย

แนวโน้มอีกอันหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการที่เดิมทีระบบปฏิบัติการหลักๆ ที่มีการใช้งานกันเยอะนั้นมักจะเป็น Windows หรือ macOS แต่ในอนาคตด้วยการมาของ IoT ระบบปฏิบัติการจะมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้การดูแลให้มั่นคงปลอดภัยนั้นยากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน อีกทั้งอุปกรณ์ IoT ยังไม่สามารถติดตั้ง Security Agent หรือทำ Multi-factor Authentication ได้ อีกทั้งยังไม่สามารถ Patch ได้โดยง่าย โจทย์นี้จึงจะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ของบรรดาธุรกิจหลังจากนี้

ส่วนในอนาคต รูปแบบของระบบ Security จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก และระบบ Network เองก็จะเข้าไปมีบทบาทเป็นอย่างมากในแง่มุมของ Security ทั้งในการตรวจจับและการทำ Segmentation ทำให้ฝ่าย Security และ Network นั้นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา

 

3. ปีนี้จะเป็นปีแห่งการหาสมดุลระหว่าง Security และ Privacy

ด้วยความนิยมของ Cloud และ SD-WAN ที่สูงขึ้น ทำให้ปริมาณของ Traffic ที่ถูกเข้ารหัสนั้นมีสูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้เทคโนโลยี Security ในอดีตอย่าง Web Proxy และอื่นๆ ที่ต้องตรวจสอบข้อมูลภายในเครือข่ายนั้นต้องทำการถอดรหัสข้อมูลทั้งหมดออกมาตรวจสอบ หรือไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถตรวจสอบอะไรได้เลย

ประเด็นนี้ทำให้มีปัญหาค่อนข้างมากกับเรื่องของ Privacy หรือความเป็นส่วนตัว, มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเพิ่มขยายระบบ และยังส่งผลเสียต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งานหรือ User Experience อีกด้วย

ในปี 2018 นี้ทาง Cisco เชื่อว่าเหล่าองค์กรจะต้องหันกลับมาคิดกันให้มากขึ้นว่าจะมีการตรวจสอบ Traffic อะไรบ้าง และจะไม่ตรวจสอบ Traffic อะไรบ้าง แล้วหันไปใช้เทคนิคในการตรวจจับภัยคุกคามแบบ Decentralized อย่างเช่นการตรวจสอบ Flow หรือตรวจสอบ DNS แทน เพื่อเลือกว่าจะทำการถอดรหัสข้อมูลใดบ้างเท่าที่จำเป็น ซึ่งความสามารถเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยระบบเครือข่ายที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ง่ายดายและรวดเร็ว รวมถึงสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน และเปลี่ยนแปลงเส้นทางของเครือข่ายเพื่อนำข้อมูลไปตรวจสอบได้ตามต้องการ

 

4. Automation จะกลายเป็นจุดสำคัญสำหรับสร้างความแตกต่างในการแข่งขัน

ที่ผ่านมาเหล่าผู้ดูแลระบบ IT นั้นต่างก็ต้องทำงานต่างๆ ด้วยตนเอง และทำให้เมื่อต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งใดๆ ก็ตามภายในระบบต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่ด้วย Intent Based Networking (IBN) ผู้ดูแลระบบ IT จะสามารถทำการเปลี่ยนแปลงระบบเครือข่ายได้แทบจะ Real-time และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กรเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ง่ายต่อการแข่งขัน

นอกจากนี้ เนื่องจาก IBN นั้นสามารถเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ได้ผ่านทาง API ธุรกิจต่างๆ ก็สามารถทำ Automation เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของตนเองได้มากยิ่งขึ้น

 

5. การประมวลผลจะเริ่มเกิดขึ้นที่ Edge แทนแล้ว

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ อุปรกณ์ Switch และ Router ต่างก็เริ่มมีหน่วยประมวลผล x86 ฝังอยู่ภายในระบบมากขึ้นเรื่อยๆ และในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีระบบที่ทดแทน Server ได้อย่าง Cisco ENCS ถูกใช้งานที่สาขาขององค์กรและรองรับการทำ Virtual Network Functions ได้ในตัว และ Framework ใหม่ๆ อย่าง Cisco Kinetic หรือระบบ Serverless Compute จากเหล่าผู้ให้บริการ IaaS รายใหญ่ๆ นั้นก็จะกลายเป็นอีกทางเลือกสำหรับรองรับ Workload ในอนาคตมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การสร้างระบบ Distributed Computing นั้นสามารถทำได้จริงแล้ว และที่ผ่านมาก็เริ่มถูกนำไปใช้กับระบบ IoT บ้างแล้วในบางส่วน

ส่วนในอนาคต IoT นั้นจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และปริมาณข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT Sensor นี้ก็จะทำให้เกิดความต้องการในการประมวลผลแบบ Real-time ด้วย Latency ที่ต่ำลง และความต้องการเหล่านี้เองก็จะทใำห้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำให้ระบบเครือข่ายนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Compute Fabric อย่างแท้จริง

 

ที่มา: https://blogs.cisco.com/news/networking-trends-for-2018

from:https://www.techtalkthai.com/cisco-5-enterprise-networking-trends-for-2018/

Cisco เผย 10 แนวโน้มด้านเทคโนโลยีระบบเครือข่ายองค์กร 2017: ผู้ดูแลระบบบเครือข่ายต้องปรับตัว

Cisco ผู้ผลิตเทคโนโลยีระบบเครือข่ายและ Data Center ชื่อดัง ได้ออกมาทำนายถึงแนวโน้มในปี 2017 เกี่ยวกับระบบเครือข่ายสำหรับองค์กรเอาไว้ด้วยกัน 10 ประการ ซึ่งมีหลายปประเด็นที่เหล่าผู้ดูแลระบบเครือข่ายต้องเตรียมปรับตัวรับมือกัน ดังนี้

Credit: ShutterStock.com

 

1. จะเกิดการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมของ WAN

ด้วยการมาของ Cloud นั้น ทำให้ WAN ขององค์กรต้องเริ่มเปลี่ยนสถาปัตยกรรมไป โดยการทำ Demilitarized Zone ที่เคยนิยมกันนั้นอาจต้องถูกปรับเปลี่ยนหรือสูญหายไป และตัดการเชื่อมต่อระหว่าง Cloud สู่ Data Center โดยเฉพาะทิ้งไปได้นั่นเอง

 

2. NFV จะเริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดองค์กร

Network Functions Virtualization (NFV) นั้นจะเริ่มขยายจากตลาดของ Service Provider มาสู่ตลาดขององค์กรในส่วนของสาขาก่อนเป็นอันดับแรก และทำให้ผู้ดูแลระบบสามารถบริหารจัดการระบบเครือข่ายที่สาขาได้อย่างง่ายดาย ทั้งในแง่ของการเพิ่มความสามารถใหม่ๆ หรือเพิ่มขยายสาขาใหม่ๆ ก็ตาม

 

3. IoT จะเริ่มถูกนำมาใช้ภายในออฟฟิศที่ทำงาน

เดิมทีนั้น Internet of Things (IoT) เป็นที่นิยมในการใช้ในส่วนของการผลิตและการปฏิบัติการ แต่อนาคต IoT จะเริ่มเข้ามามีบทบาทภายในออฟฟิศที่ทำงานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบ Intelligent Lighting หรือ Location Services ก็ตาม ทั้งนี้อุปกรณ์เหล่านี้ก็จะต้องมีการรักษาความปลอดภัยด้วยวิธีการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำ Segmentation หรือ Profiling ก็ตาม

 

4. SDN จะเริ่มถูกนำมาใช้งานภายนอก Data Center

Software Defined Networking (SDN) นั้นจะขยายออกมาจากการใช้งานภายใน Data Center มาสู่การใช้งานที่ระดับของ WAN และต่อไปก็จะขยายมายังระบบ LAN และ Wireless LAN ขององค์กรด้ววย ทำให้ระบบเครือข่ายทั้งหมดรองรับการพัฒนาโปรแกรมและการทำ Automation ได้อย่างเต็มที่ทั้งระบบเครือข่ายภายในปี 2017

 

5. การทำ Network Assurance จะเติบโต และเกิดขึ้นบน Cloud

การตรวจสอบแนวโน้มที่ระบบเครือข่ายจะเกิดปัญหา, การวิเคราะห์ปัญหา และการหาทางแก้ไขซึ่งถูกเรียกรวมๆ ว่า Network Assurance นั้นจะเริ่มกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นด้วยการนำ Machine Learning เข้ามาใช้ และบริการ Network Assurance นี้ก็จะเกิดขึ้นบน Cloud ให้องค์กรสามารถใช้งานเพื่อวิเคราะห์ระบบเครือข่ายภายในองค์กรได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

 

6. Location-based Services จะกลายเป็นบริการพื้นฐานที่ใช้งานทั่วไป

ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มนำเทคโนโลยี Location-based Analytics ไปใช้งานกับ Wi-Fi และ Beacon ภายในองค์กรกันมากขึ้น ทั้งเพื่อใช้ในการทำแผนที่ภายในอาคาร และการปรับปรุงการใช้งานพื้นที่ส่วนต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นก็ตาม

 

7. Voice over Wi-Fi จะถูกใช้งานกันอย่างแพร่หลาย

ด้วยการที่ Apple iOS นั้นรองรับการทำ Voice over Wi-Fi (VoWi-Fi) อย่างเต็มตัว และเริ่มมีการสนับสนุนจากเหล่า Service Provider หลายราย ทำให้ถัดจากนี้ VoWi-Fi เองก็จะกลายเป็นบริการพื้นฐานที่ส่งประโยชน์ต่อเหล่าผู้ใช้งานได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารระหว่าง Roaming ข้ามประเทศ

 

8. Network Admin ต้องปรับตัวกลายเป็น Network Programmer

ด้วยการแพร่หลายของ SDN ที่จะครอบคลุมระบบเครือข่ายทั้งหมด ซึ่งต้องอาศัยความสามารถในการพัฒนาโปรแกรมเพื่อดึงศักยภาพของระบบออกมาได้อย่างเต็มที่ ผู้ดูแลระบบเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายในเชิงลึกและสามารถพัฒนาโปรแกรมได้นั้นจะสามารถสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการดูแลระบบเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วสำหรับระบบเครือข่ายที่มีขนาดใหญ่ และ Cisco ก็แนะนำให้ปี 2017 นี้เป็นปีที่เหล่าผู้ดูแลระบบควรหันกลับมาเรียนรู้ด้านการเขียนโปรแกรมกันได้แล้ว

 

9. การพัฒนาโปรแกรมจะย้ายจากระดับอุปกรณ์ สู่ระดับ Controller

แต่เดิมนั้นการพัฒนา Script หรือโปรแกรมใดๆ มักเป็นการพัฒนาเอาไว้สำหรับใช้งานเป็นรายอุปกรณ์ แต่ปี 2017 นี้จะเริ่มเป็นการพัฒนาโปรแกรมเพื่อนำไปใช้งานบนอุปกรณ์ Controller เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้กับหลายอุปกรณ์พร้อมๆ กัน และรองรับระบบเครือข่ายขนาดใหญ่ได้

 

10. Low Power Wireless Access จะเริ่มถูกนำมาใช้งาน

Low Power Wireless Access (LPWS) จะเริ่มถูกนำมาใช้กับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT มากขึ้นสำหรับการสื่อสารที่ใช้พลังงานต่ำและส่งข้อมูลขนาดเล็ก โดยโซลูชันหลักนั้นก็จะยังคงเป็น Narrow Band IoT (NB-IoT) และ LoRa เช่นเดิม

 

ที่มา: http://blogs.cisco.com/news/trends-in-enterprise-networking-for-2017

from:https://www.techtalkthai.com/cisco-predicts-10-enterprise-network-trend-for-2017/