คลังเก็บป้ายกำกับ: ENDPOINT_SECURITY

Group-IB ประกาศแผนเปิดศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมดิจิทัลขึ้นในประเทศไทย และลงนามสัญญาพันธมิตรกับ nForce ผู้นำด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศไทย [Guest Post]

กรุงเทพมหานคร,วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2566 — Group-IB บริษัทผู้นำระดับโลกด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ ประเทศสิงคโปร์ ได้จัดแถลงข่าวประกาศแผนการที่จะเปิดศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมดิจิทัล (Digital Crime Resistance Center) ขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งการลงนามในสัญญาความร่วมมือเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด (มหาชน) ผู้แทนจำหน่ายและผู้เชี่ยวชาญทางด้านผลิตภัณฑ์และบริการครบวงจรในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity)

ภายใต้ความร่วมมือนี้ nForce จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของ Group-IB ที่รวมกันอยู่ภายใต้ชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ Unified Risk Platform ของ Group-IB ซึ่งเป็นระบบนิเวศของโซลูชันที่เข้าใจโปรไฟล์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ของแต่ละองค์กรและสามารถปรับแต่งการป้องกันให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรได้แบบเรียลไทม์โดยผ่านการติดต่อกับผู้ใช้งานเพียงอินเทอร์เฟซรูปแบบเดียว (A Single Interface)

nForce จะจัดตั้งทีมรับมือและตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Incident Response : IR) ทีมแรกของตนขึ้นในประเทศไทย โดยได้รับความช่วยเหลือจาก Group-IB Digital Forensics & Incident Response ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สะสมยาวนานมากกว่า 70,000 ชั่วโมงในการดำเนินการรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั่วโลกที่ทาง Group-IB ดูแลอยู่

Group-IB จะให้การฝึกอบรมและการสนับสนุนช่วยเหลือโดยเฉพาะแก่ทีมรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ของ nForce เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานการรับมือและตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (IR) ในประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและทำให้กระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลหลักฐานสำหรับการวิเคราะห์เชิงนิติวิทยา (Forensic Analysis) ง่ายขึ้น โดยทีมงานของ nFroce จะได้รับการติดตั้งโซลูชัน Managed Extended Detection and Response ของ Group-IB เพื่อการนี้

nForce เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแกร่งในประเทศไทย โดยเป็นผู้นำในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในประเทศ และ nForce ยังมีพันธมิตรมากกว่า 100 รายครอบคลุมทุกกลุ่มตลาด โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายที่มีสถานะที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษในตลาดภาคการเงิน ส่วน Group-IB มีเป้าหมายที่จะขยายส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยและร่วมช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยให้สามารถจัดการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่พัฒนาความซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากขึ้นทุกวัน

จากรายงานแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขั้นสูงประจำปี 2565/2566 (Hi-Tech Crime Trends Report 2022/2023) พบว่าบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยตกเป็นเป้าการคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยตกอยู่ในอันดับที่ 5 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีบริษัทถึง 27 แห่งที่เป็นเหยื่อถูกขโมยข้อมูลโดยแรนซั่มแวร์นำขึ้นไปโพสต์เผยแพร่ไว้บนเว็บไซต์ที่เปิดเผยข้อมูลรั่วไหลโดยเฉพาะ (dedicated leak sites) ระหว่างช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 เนื่องจากไม่ยอมจ่ายค่าไถ่ เป็นที่น่าสังเกตว่าจำนวนจริงของการโจมตีโดยแรนซั่มแวร์นั้นน่าจะสูงกว่านี้มาก เนื่องจากหลายบริษัทเลือกที่จะจ่ายค่าไถ่ แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือความสนใจที่เพิ่มขึ้นของอาชญากรที่ทำตัวเป็นนายหน้าขายบริการเจาะการเข้าถึงระบบเครือข่าย (Initial Access Brokers : IABs) ขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย ตามข้อมูลการค้นพบจากทีมข่าวกรองภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Threat Intelligence) ของ Group-IB พบว่า IABs มีความพยายามขายการเข้าถึงระบบเครือข่ายบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยถึง 28 แห่งในช่วงเวลาเดียวกัน

ในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมดิจิทัลของ Group-IB ที่จะจัดตั้งขึ้นที่ประเทศไทยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ช่ำชองในด้าน Threat Intelligence, Digital Forensics & Incident Response, Cyber ​​Investigations, Digital Risk Protection รวมถึงนักวิเคราะห์จาก Computer Emergency Response Team  ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรซึ่งได้ถูกทดลองและทดสอบมาแล้วหลายครั้งในกว่า 60 ประเทศ พร้อมทั้งทีมงานของ Group-IB ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของ nForce จะผสานร่วมกันเสริมความแข็งแกร่งให้กับการป้องกันทางดิจิทัลของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยด้วยการจัดตั้งทีมงานนิติวิทยาดิจิทัลและการตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยคุกคามไซเบอร์ (Digital Forensics and Incident Response : DFIR) ระดับแนวหน้าขึ้น

การรวบรวมข้อมูลหลักฐานทางดิจิทัลได้อย่างครบถ้วนและถูกต้องจะทำให้เข้าใจขอบเขตของภัยคุกคามได้อย่างชัดเจนและสามารถพัฒนามาตรการที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งภัยคุกคามนั้น รวมทั้งยังสามารถป้องกันเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนิติวิทยาดิจิทัลและการตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ที่มีทักษะสูงของ Group-IB จะทำการฝึกอบรมบุคลากรของ nForce เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่หลากหลาย ทีมงานของ Group-IB ใช้เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วย Threat Intelligence อันล้ำสมัย และมีประวัติผลสำเร็จในการทำงานที่ถูกพิสูจน์แล้วในเรื่องของการสืบสวนและแก้ไขคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างเช่น ตัวถอดรหัส (Decryptor) ของ Group-IB ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมงาน DFIR ของบริษัทเองสามารถทำการถอดรหัส Hive Ransomware รุ่น 4 ที่อื้อฉาว และสามารถช่วยถอดรหัสปลดล็อคระบบเครือข่ายขององค์กรทางการแพทย์ในประเทศไทยที่เคยถูกโจมตีจากแรนซั่มแวร์ตัวนี้ได้สำเร็จ

นายนักรบ เนียมนามธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

“nForce ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Group-IB ซึ่งเป็นผู้นำด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก สำหรับการจัดตั้งทีม Incident Response ในครั้งนี้ จะช่วยให้องค์กรในประเทศไทยสามารถยับยั้งและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันถ่วงที ด้วยทีมช่วยเหลือในการตอบโต้เหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายแก่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างปลอดภัยในยุคดิจิทัล ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์และบริการของ Group-IB จะทำให้ nForce มีความแข็งแกร่งทางธุรกิจมากขึ้น ด้วยบริการจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพจาก nForce ร่วมกับ Group-IB รวมถึงโซลูชันต่างๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์ทางด้าน Cybersecurity สำหรับปี 2566 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตอยู่ที่ 15-20% จากการลงทุนโปรเจ็กต์ต่างๆ ของลูกค้าภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย ประกอบกับการที่หลายธุรกิจเดินหน้าทำ Digital Transformation ทำให้ดีมานด์การใช้เทคโนโลยีมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน” 

“เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมมือกับ nForce ซึ่งมีชื่อเสียงอย่างมากในตลาดประเทศไทยและจะช่วยเราขยายธุรกิจในภูมิภาคนี้ การเปิดศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมดิจิทัลและความร่วมมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายพันธกิจระดับโลกของเราในการต่อสู้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่กำลังคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทย เราเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกันกับ nForce และเรามุ่งมั่นที่จะสร้างทีมรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ประกอบด้วยมืออาชีพที่กระตือรือร้นซึ่งมุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่ไซเบอร์ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น” Dmitry Volkov ซีอีโอของ Group-IB กล่าว

เกี่ยวกับ nForce Secure

บริษัท เอ็นฟอร์ซ ซีเคียว จำกัด (มหาชน) มุ่งเน้นการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยนำเสนอ สินค้าที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงในแต่ละหมวดสินค้า ซึ่งจำแนกได้ 4 ประเภท ได้แก่ (1) End Point Security, (2) Network Security, (3) Network Performance and Monitoring และ (4) อื่นๆ เช่น Encryption Solution, Software ที่เกี่ยวข้องกับ Authentication และ Software ที่เกี่ยวข้องกับ Archiving เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกด้วย เช่น บริการด้านการติดตั้ง (Installation) บริการบำรุงรักษา (Maintenance) รวมไปถึงบริการปรึกษาปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากการใช้งานระบบ หรือซอฟต์แวร์ที่บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่าย และบริการฝึกอบรมการใช้งานระบบ (Training)

กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัท คือ ผู้รับเหมารวบรวมระบบและเทคโนโลยี (System Integrator หรือ SI) ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมความต้องการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ของผู้ใช้งานโดยตรง (End User) และออกแบบติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ โดยนำเสนอในรูปแบบโซลูชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานโดยตรงในระดับองค์กร ซึ่งผู้ใช้งานโดยตรงประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในการนี้ผู้รับเหมารวบรวมระบบและเทคโนโลยีจะทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Distributor) ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ โดยตัวแทนจำหน่ายจะทำหน้าที่จัดหาและจัดส่งผลิตภัณฑ์ให้ได้ตรงตามระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผู้รับเหมารวบรวมระบบออกแบบตามความต้องการ ทั้งนี้ผู้รับเหมารวบรวมระบบและเทคโนโลยี (SI) ที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทนั้น ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพทางธุรกิจ จึงทำให้เป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้ทำโครงการต่างๆ ขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน

เราภาคภูมิใจที่ได้นำเข้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์การรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำเข้ามาจัดจำหน่ายภายในประเทศ ด้วยอัตราการเติบโตของธุรกิจอย่างต่อเนื่องและตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ ตลอดจนการสร้างความสำเร็จให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Vendor) รวมไปถึงลูกค้าที่เป็น ผู้รับเหมารวบรวมระบบและเทคโนโลยี (System Integrator) ผ่านการให้บริการแบบครบวงจร ด้วยบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในระดับมาตรฐานสากล

เกี่ยวกับ Group-IB

Group-IB มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโซลูชั่นชั้นนำที่ทุ่มเทให้กับการตรวจจับและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ การสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขั้นสูง การระบุการฉ้อโกงทางออนไลน์ และการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีศูนย์ข่าวกรองและการวิจัยภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Threat Intelligence and Research Centers) ของบริษัทตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง (ดูไบ) เอเชียแปซิฟิก (สิงคโปร์) และยุโรป (อัมสเตอร์ดัม)

Unified Risk Platform ของ Group-IB เป็นระบบนิเวศของโซลูชันที่เข้าใจโปรไฟล์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ของแต่ละองค์กรและสามารถปรับแต่งการป้องกันให้เหมาะสมกับแต่ละองค์กรได้แบบเรียลไทม์โดยผ่านการติดต่อกับผู้ใช้งานเพียงเพียงอินเทอร์เฟซรูปแบบเดียว (A Single Interface)  

Unified Risk Platform ให้ความคุ้มครองที่สมบูรณ์แบบครบถ้วนตลอดห่วงโซ่การรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผลิตภัณฑ์และบริการของ Group-IB ที่รวมอยู่ภายใต้ Unified Risk Platform ของ Group-IB ได้แก่ Threat Intelligence, Managed XDR, Digital Risk Protection, Fraud Protection, Attack, Surface Management, Business Email Protection, Audit & Consulting, Education & Training, Digital Forensics & Incident Response, Managed Detection & Response, and Cyber Investigations.

ระบบ Threat Intelligence ของ Group-IB ได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในประเภทเดียวกันโดย Gartner, Forrester และ IDC ส่วนผลิตภัณฑ์ Managed XDR ของ Group-IB ซึ่งมีเป้าหมายสำหรับการค้นหาเชิงรุกและป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนและไม่เคยรู้จักมาก่อน ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดในประเภทผลิตภัณฑ์ทางด้าน Network Detection and Response โดย KuppingerCole Analysts AG ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ชั้นแนวหน้าของยุโรป และในขณะเดียวกันก็ได้ให้การยอมรับ Group -IB ในฐานะเป็น Product Leader และ Innovation Leader  อีกด้วย

อีกทั้งผลิตภัณฑ์ Fraud Protection ของ Group-IB ยังได้รับการเสนอชื่อ (Representative Vendor) ให้อยู่ในรายงานผลิตภัณฑ์การตรวจจับการฉ้อโกงออนไลน์ของ Gartner นอกจากนี้ Group-IB ยังได้รับรางวัล Innovation Excellence Award จาก Frost & Sullivan สำหรับผลิตภัณฑ์ Digital Risk Protection (DRP) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI-driven) สำหรับการระบุและบรรเทาความเสี่ยงทางดิจิทัล และต่อต้านการโจมตีการแอบอ้างแบรนด์ โดยใช้เทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตรของบริษัทเป็นแกนหลัก ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของ Group-IB สร้างขึ้นจากประสบการณ์จริงถึง 19 ปีของบริษัทในการสืบสวนอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั่วโลก และมากกว่า 70,000 ชั่วโมงของการรับมือและตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สะสมอยู่ในห้องปฏิบัติการ DFIR ชั้นนำของบริษัท, รวมถึงแผนกสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขั้นสูง และทีมงาน CERT-GIB ของบริษัทที่บริการช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินทางเทคนิคโดยสามารถให้การดูแลได้ตลอดเวลา

Group-IB เป็นพันธมิตรที่ทำงานอย่างแข็งขันในการสืบสวนสอบสวนระดับโลกที่นำโดยองค์กรบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศ เช่น Europol และ INTERPOL นอกจากนั้น Group-IB ยังเป็นสมาชิกของ EuropolEuropean Cybercrime Centre’s (EC3) Advisory Group on Internet Security ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่าง Europol และพันธมิตรชั้นนำที่ไม่ใช่ผู้บังคับใช้กฎหมาย

ประสบการณ์ของ Group-IB ในการตามล่าภัยคุกคามและแสวงหาข่าวกรองทางไซเบอร์ได้หลอมรวมกันเป็นระบบนิเวศของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่มีความซับซ้อนสูง ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อตรวจสอบ ระบุ และป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ ภารกิจของ Group-IB คือการปกป้องลูกค้าในไซเบอร์สเปซให้มีความมั่นคงปลอดภัยทุกวัน ด้วยการสร้างและใช้ประโยชน์จากโซลูชันและบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ

from:https://www.techtalkthai.com/group-ib-announces-plan-to-open-anti-criminal-center-in-thailand-and-signed-a-partnership-agreement-with-nforce/

Advertisement

Veeam แพตช์แก้ไขช่องโหว่รุนแรงที่เปิดทางสู่การแฮ็กได้

Veeam Backup & Replication (VBR) ทุกรุ่นได้รับผลกระทบจากช่องโหว่ CVE-2023-27532 ซึ่งคนร้ายสามารถใช้เพื่อเข้าถึง Credentials ของการเข้ารหัสได้

ไอเดียคือบั๊กบน Veeam.Backup.Service.exe (ใช้พอร์ต TCP 9401) อนุญาตให้ใครก็ตามที่ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ตัวตนเข้ามาร้องขอ Credential ที่ใช้เข้ารหัสซึ่งเก็บอยู่ใน VeeamVBR Database ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการออกแพตช์ให้ VBR เวอร์ชัน V11 และ V12 ซึ่งสำหรับใครที่ยังไม่สะดวกแพตช์ทันที แนะนำให้ใช้ Firewall ป้องกันพอร์ต TCP 9401 สู่เซิร์ฟเวอร์ อย่างไรก็ดีวิธีการนี้จะใช้ได้ในกรณีที่ไม่มีการกระจายการเซิร์ฟเวอร์เท่านั้นเพราะจะกระทบต่อการเชื่อมต่อ

Veeam ชี้ว่า “เมื่อช่องโหว่ถูกเปิดเผยแล้ว ผู้โจมตีจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อย้อนกลับแพตช์ให้เข้าใจถึงช่องโหว่ และใช้โจมตีเหยื่อที่ไร้การแพตช์” ผู้ใช้งานสามารถติดตาม Advisory ได้ที่ https://www.veeam.com/kb4424

ที่มา : https://www.bleepingcomputer.com/news/security/veeam-fixes-bug-that-lets-hackers-breach-backup-infrastructure/

from:https://www.techtalkthai.com/veeam-patches-cve-2023-27532/

[NCSA THNCW 2023] NIST Cybersecurity Framework in Practice โดย Huawei

หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทั่วโลกได้ส่งผลให้องค์กรล้วนดำเนินการ Digital Transformation กันอย่างเร่งรีบ ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) อาจจะเป็นสิ่งที่หลายองค์กรให้คำสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น สิ่งนี้อาจส่งผลให้องค์กรธุรกิจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยคุกคามได้ในหลากหลายรูปแบบจนอาจเกิดความเสียหายให้กับองค์กรได้อย่างมหาศาล

เหตุนี้เอง สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Standards and Technology) หรือที่รู้จักกันในนาม NIST จึงได้กำหนดเฟรมเวิร์ก (Framework) ในด้านความมั่นคงปลอดภัยออกมาเป็น “NIST Cybersecurity Framework” เพื่อให้เป็นมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติสำหรับทุกองค์กรธุรกิจในการลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งภายใน NIST Cybersecurity Framework นั้นมีกรอบแนวคิดอะไรบ้าง และ Huawei Cloud ผู้ให้บริการ Cloud ชั้นนำระดับโลกนั้นช่วยสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ

ความท้าทายของ Cybersecurity ในโลกดิจิทัล

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านได้มีวิวัฒนาการมากมายในหลาย ๆ ด้านทั่วโลก จนทำให้การใช้ชีวิตในปัจจุบันและในโลกดิจิทัลนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น

  • ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ด้วยเทรนด์ Digital Transformation ได้ส่งผลให้สถาปัตยกรรมของโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย เช่น การใช้งาน Cloud หรือ SaaS 
  • Work From Anywhere การทำงานในหลังยุค COVID-19 ที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่ออฟฟิศอีกต่อไป โดยอาจทำงานจากที่บ้านหรือร้านกาแฟผ่านการรีโมท (Remote) เข้าไปที่เครือข่ายองค์กรมากขึ้น
  • Bring Your Own Device (BYOD) การใช้เครื่องอุปกรณ์ส่วนตัวของพนักงานในการทำงานมากขึ้น สืบเนื่องมาจากเทรนด์ Hybrid Work หรือ Work From Home 
  • Phishing และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การหลอกลวงเพื่อเอาข้อมูลส่วนบุคคลด้วยจิตวิทยาเพื่อนำไปใช้โจมตีในขั้นตอนถัด ๆ ไป ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ 

การขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ คนทำงานด้าน Cybersecurity ที่มีจำนวนน้อย เนื่องจากต้องมีความรู้ทั้งเรื่อง Security และ Application อย่างครอบคลุม

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ทำให้ทั้งโลกมีความท้าทายในการรักษา Cybersecurity มากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยช่องโหว่รูปแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทุกองค์กรจึงจำเป็นต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเรื่อง Cybersecurity เพื่อปกป้องระบบ บริการ และข้อมูลอันเป็นสินทรัพย์ขององค์กรไม่ให้ถูกโจมตีหรือรั่วไหลออกไป พร้อมทั้งเสริมความรู้ให้กับบุคคลากรให้รู้เท่าทันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในมาตรฐานอันเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก นั่นคือ NIST Cybersecurity Framework

NIST Cybersecurity Framework แนวทางปฏิบัติยอดนิยมระดับโลก

NIST Cybersecurity Framework” คือเฟรมเวิร์กที่กำหนดแนวทางปฏิบัติ (Pratices) เป็นมาตรฐานด้าน Cybersecurity ที่แนะนำให้กับทุกองค์กร ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กที่ออกโดยสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Institute of Standards and Technology) หรือ NIST โดยเฟรมเวิร์กนี้ได้เริ่มต้นใช้งานในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2014 ในเวอร์ชัน 1.0 ก่อนที่จะเริ่มกลายเป็นที่นิยมระดับโลกในเวลาต่อมา ซึ่งปัจจุบัน NIST Cybersecurity Framework เวอร์ชันล่าสุดคือเวอร์ชัน 1.1 ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 16 เมษายน 2018

เป้าหมายของ NIST Cybersecurity Framework คือต้องการให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความยืดหยุ่น (Resilience) ให้กับองค์กรได้ดีขึ้น ไม่ว่าองค์กรจะมีขนาดเล็กกลางหรือว่าใหญ่ก็ล้วนสามารถดำเนินการตาม NIST Cybersecurity Framework ได้ทั้งสิ้น และที่สำคัญคือ “ต้องทำอย่างต่อเนื่อง” ไม่ใช่การทำครั้งเดียวแล้วจบ เพราะเรื่องของ Cybersecurity เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างไม่มีที่สิ้นสุดตามวิวัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

5 ฟังก์ชันแกนหลักใน NIST Cybersecurity Framework

แม้ว่า NIST Cybersecurity Framework จะเปลี่ยนเป็นเวอร์ชัน 1.1 แล้ว แต่ฟังก์ชันแกนหลักก็ยังคงเป็น 5 ด้านนี้ ได้แก่

  • Identify การสร้างความเข้าใจในองค์กรว่ามีสินทรัพย์ (Asset) หรือกระบวนการ (Process) อะไรอยู่บ้าง พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญตามลำดับความเสี่ยง เพื่อให้มีรายละเอียดครบถ้วนว่าองค์กรจะต้องปกป้องอะไรบ้าง อยู่ที่ไหน และอะไรสำคัญที่สุด เช่น การสร้างระบบ Asset Management การทำ Governance และ Risk Management
  • Protect การสร้างระบบที่ช่วยปกป้อง Asset หรือ Process เหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอและเหมาะสม ซึ่งองค์กรต้องเตรียมระบบให้พร้อมใช้งานเพื่อปกป้องระบบองค์กรอยู่เสมอ เช่น การปรับใช้ระบบ Access Control, Identity Management 
  • Detect การสร้างแนวทางการตรวจจับเหตุการณ์ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีระบบใช้งานแล้วแต่ความสามารถในการระบุ (Identify) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นภัยคุกคามจริง ๆ ได้อย่างฉับไวคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
  • Respond การสร้างแนวทางแผนการตอบสนองต่อแต่ละการโจมตีได้อย่างฉับไว นอกจากองค์กรจะต้องสามารถกระชับพื้นที่ (Contain) ความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ยังต้องเตรียมการสื่อสารต่อสิ่งที่เกิดขึ้นไว้แล้วล่วงหน้า และแนวทางในการบรรเทาต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและแก้ไขได้ทันที
  • Recover การสร้างแนวทางหรือแผนการกู้คืนสิ่งต่าง ๆ หลังจากถูกภัยคุกคามโจมตี เพื่อทำให้ทุกอย่างกลับมาสู่สถานการณ์ปกติให้ได้เร็วที่สุด พร้อมทั้งการสื่อสารหลังจากแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เสร็จสิ้น

นอกจากนี้ ในแต่ละด้านของ NIST Cybersecurity Framework นั้นจะมีรายละเอียดแยกย่อยเป็น Category และ Subcategory โดยมีทั้งหมดรวม 108 ข้อที่ NIST กำหนดไว้เป็นมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ ซึ่งคุณสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ Country Cyber Security & Privacy Officer แห่ง Huawei Technologies (Thailand) เน้นย้ำชัดเจนว่าเฟรมเวิร์กนี้เป็นการ “ช่วยจัดการความเสี่ยงเท่านั้น และองค์กรไม่จำเป็นต้องทำทุกข้อครบทั้งหมด” โดยจะขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่องค์กรประเมินไว้ และเลือกปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมซึ่งถ้าองค์กรเสี่ยงมากก็อาจทำมากข้อหน่อย เป็นต้น

Huawei Cloud ครอบคลุมทั้ง 5 ด้านใน NIST

สำหรับองค์กรที่ต้องการดำเนินตาม NIST Cybersecurity Framework ได้อย่างรวดเร็ว ภายใน Huawei Cloud ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Cloud ระดับโลกนั้นได้ดำเนินการ (Comply) ตามทั้ง 5 ด้านของเฟรมเวิร์กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในแต่ละด้าน Huawei Cloud จะมีระบบสนับสนุน เช่น ระบบ Web Application Firewall (WAF) ที่เหนือกว่า Firewall ทั่วไปช่วยป้องกันการโจมตีใน Layer 7 ได้ ระบบ Situation Awareness (SA) ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เข้ามาให้อัตโนมัติ หรือระบบ Data Encryption Workshop (DEW) ที่จัดการเข้ารหัสข้อมูลในฐานข้อมูล เป็นต้น ซึ่งระบบต่าง ๆ ได้สนับสนุนให้องค์กรมี Security ที่มั่นใจมากกว่าเดิม อีกทั้ง Huawei Cloud ยังได้รับใบรับรอง (Certification) จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลกมากมาย ดังนั้น ผู้ที่ใช้งานมั่นใจในเรื่อง Cybersecurity ของ Huawei Cloud ได้เลย

บทส่งท้าย

“ผมเชื่อว่าบริษัททั่วโลกมีอยู่ 2 แบบ คือบริษัทที่โดนแฮ็กกับบริษัทที่ยังไม่โดนแฮ็ก” คุณสุรชัยกล่าว “ยังไงก็โดนแฮ็กแน่นอน แต่จะทำอย่างไรที่จะทำให้องค์กรเกิดสภาวะ Cyber Resilience เสมือนตุ๊กตาล้มลุก ที่จะสามารถกลับมาสู่สภาวะปกติให้ได้เร็วที่สุด” ดังนั้น ทุกองค์กรจึงควรพิจารณาปรับใช้แนวทางปฏิบัติ NIST Cybersecurity Framework เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและทำให้มั่นใจในเรื่อง Cybersecurty ขององค์กรได้มากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อม รับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา

สำหรับผู้ที่สนใจเซสชัน “NIST Cybersecurity Framework in Practice” บรรยายโดยคุณสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ Country Cyber Security & Privacy Officer แห่ง Huawei Technologies (Thailand) จากงาน Thailand National Cyber Week 2023 สามารถฟังย้อนหลังได้ที่นี่

from:https://www.techtalkthai.com/ncsa-thncw-2023-nist-csf-by-huawei/

Black Hat Asia 2023 (In-person & Virtual Event) เปิดลงทะเบียนแบบ Early แล้ว ใส่โค้ดรับส่วนลดทันที 6,300 บาท

Black Hat เตรียมจัดงานสัมมนาด้าน Cybersecurity ระดับนานาชาติ “Black Hat Asia 2023” ในรูปแบบ Hybrid Event วันที่ 9 – 12 พฤษภาคม 2023 ณ Marina Bay Sands, Singapore หรือรับชม LIVE สดผ่านระบบออนไลน์ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้แล้วในราคาพิเศษ กรอกโค้ด TechTalkThai23 รับส่วนลดเพิ่มอีกทันที S$250 (ประมาณ 6,300 บาท)

เกี่ยวกับงานสัมมนา Black Hat Asia 2023

Black Hat เป็นงานอบรมและสัมมนากึ่งวิชาการระดับนานาชาติที่หมุนเวียนผลัดกันจัดที่สหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย โดยที่กำลังจะจัดล่าสุด คือ Black Hat Asia 2023 ในรูปแบบ Hybrid Event (สามารถเลือกเข้าร่วมได้ทั้งแบบ In-person และ Virtual) ในวันที่ 9 – 12 พฤษภาคม 2023 รวมระยะเวลา 4 วัน โดย 2 วันแรกจะเป็นการจัดคอร์สอบรมซึ่งจะเน้นไปทาง Offensive Security และ 2 วันหลังจะเป็นงานสัมมนาที่รวบรวมเนื้อหางานวิจัย ช่องโหว่ และเทรนด์ด้าน Cybersecurity หลากหลายแขนงไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ท่านจะได้พบเจ้าของผลิตภัณฑ์ บริษัท IT ชั้นนำ หน่วยงาน และที่ปรึกษาด้าน Cybersecurity จากทั่วโลกมาให้คำแนะนำ อัปเดตเทคโนโลยี แนวโน้ม และเทคนิคการโจมตีและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์รูปแบบใหม่ๆ อีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://www.blackhat.com/asia-23/

วันอบรม 9 – 10 พฤษภาคม 2023 (ดูรายละเอียดตารางอบรม)
วันสัมมนา 11 – 12 พฤษภาคม 2023 (ดูหัวข้อและเนื้อหาการบรรยาย)
เวลา 9.00 – 17.00 น.
สถานที่ Marina Bay Sands, Singapore หรือรับชม LIVE สดผ่านระบบออนไลน์
ค่าอบรม เริ่มต้นที่ S$3,699 (ประมาณ 94,000 บาท)
ค่าร่วมงานสัมมนา เริ่มต้น S$999 (ประมาณ 25,000 บาท)
ลิงค์ลงทะเบียน https://www.blackhat.com/asia-23/registration.html
โค้ดส่วนลด S$250 TechTalkThai23 (สำหรับการลงทะเบียนแบบ In-person Event เท่านั้น)

เลือกเข้าร่วมงานได้ทั้งแบบ In-person หรือ Virtual Event

Black Hat Asia 2023 นี้จัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid Event คือ สามารถเลือกเข้าร่วมงานสัมมนาได้ 2 แบบ ดังนี้

  • In-person Event: เข้าร่วมงานจริงที่ Marina Bay Sands, Singapore โดยสามารถเข้าฟังการบรรยายได้ทั้งส่วน In-person Briefings, Arsenal Demos, Business Hall และอื่นๆ พร้อมรับสิทธิประโยชน์ของการเข้าร่วมงานแบบ Virtual Event ทั้งหมด

** ราคาช่วง Early ลดเหลือ S$1,800 (ประมาณ 46,000 บาท) จนถึงวันที่ 17 มีนาคมนี้เท่านั้น สามารถใช้โค้ด “TechTalkThai23” เพื่อลดราคาลงได้อีก S$250

  • Virtual Event: เข้าร่วมงานในรูปแบบออนไลน์ โดยสามารถเข้าฟังการบรรยายแบบ LIVE สดได้ทั้งส่วน Online Briefings, Business Hall และอื่นๆ รวมไปถึงรับชมบันทึกวิดีโอย้อนหลังของเซสชันต่างๆ ได้เป็นระยะเวลา 30 วันนับตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมเป็นต้นไป

** ราคาช่วง Early ลดเหลือ S$999 (ประมาณ 25,000 บาท) จนถึงวันที่ 17 มีนาคมนี้เท่านั้น

งานสัมมนานี้เหมาะกับใคร

Black Hat ถือว่าเป็นหนึ่งในงานสัมมนาด้าน Cybersecurity ชั้นนำระดับโลก โดยปีนี้เนื้อหาจะแบ่งออกเป็น 18 ธีมครอบคลุมศาสตร์ด้าน Cybersecurity ต่างๆ ได้แก่ AI/ML & Data Science, Application Security, Cloud & Platform Security, Community & Career, Cryptography, Cyber-Physical Systems, Data Forensics & Incident Response, Defense, Enterprise Security, Exploit Development, Hardware/Embedded, Human Factors, Lessons Learned, Malware, Mobile, Network Security, Privacy และ Reverse Engineering

งานสัมมนานี้เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ในสายงานด้าน Cybersecurity ที่มีประสบการณ์และความรู้พื้นฐานมาแล้วในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่สนใจด้าน Offensive Security เพราะส่วนมากเป็นการนำเสนอเทคนิค ช่องโหว่ หรือวิธีการเจาะระบบรูปแบบใหม่ๆ รวมไปถึงการทำ Reverse Engineering สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีถือว่าค่อนข้างท้าทายในการทำความเข้าใจเนื้อหา แต่ระดับปริญญาโทขึ้นไปที่เคยเรียนหรือมีประสบการณ์ทางด้าน Cybersecurity มาแล้วสามารถเลือกฟังเซสชันที่ตนเองเชี่ยวชาญได้ไม่มีปัญหา นอกจากนี้เนื้อหาบางหัวข้อก็เป็นงานวิจัยเชิงวิชาการที่สามารถนำมาต่อยอดหรือใช้เป็นแหล่งอ้างอิงให้แก่งานวิจัยของตนได้อีกด้วย

ตัวอย่างเนื้อหาภายในงาน Black Hat Asia ปีก่อนๆ https://www.techtalkthai.com/tag/black-hat-asia-2021/

ติดตามข่าวสารล่าสุดจาก Black Hat ได้ที่

Twitter: https://twitter.com/BlackHatEvents
Facebook: https://www.facebook.com/Black-Hat-Events-107691635153/
LinkedIn: https://www.linkedin.com/groups/37658/
YouTube: https://www.youtube.com/user/BlackHatOfficialYT
Flickr: https://www.flickr.com/photos/blackhatevents/albums/

from:https://www.techtalkthai.com/black-hat-asia-2023-early-registration/

[NCSA THNCW 2023] ความมั่นคงทางพลังงานและสาธารณูปโภคกับการเสริมแกร่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

จากกรณีภัยคุกคามไซเบอร์ครั้งใหญ่ที่โจมตีโรงงานผลิตพลังงานหรือระบบสาธารณูปโภคในต่างประเทศจนกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง ลองจินตนาการว่า หากเหตุการณ์ลักษณะนั้นเกิดขึ้นในประเทศไทย เราเตรียมพร้อมรับมือแล้วหรือยัง?

บทความนี้ขอพาทุกท่านไปร่วมเรียนรู้ถึงแนวโน้มภัยคุกคามไซเบอร์กับอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค ความท้าทายครั้งใหม่จากการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานการทำงานในภาคพลังงาน พร้อมแนวทางการป้องกันความเสี่ยง เพื่อเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและสาธารณูปโภคของประเทศ

ร่วมถอดบทเรียนจากเสวนากลุ่มย่อยจากงาน Thailand National Cyber Week 2023 ในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานและสาธารณูปโภคกับการเสริมแกร่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” โดย พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ คุณอรอนุตตร์ สุทธิ์เสงี่ยม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน

คุณนันทวรรณ ธรรมวิไลวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และธรรมาภิบาลข้อมูล การไฟฟ้านครหลวง และคุณปิยธิดา ตันตระกูล Country Manager (Thailand) ประจำบริษัท Trend Micro

แนวโน้มภัยคุกคามไซเบอร์กับอุตสาหกรรมพลังงาน

อุตสาหกรรมด้านพลังงานและสาธารณูปโภคนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างแข็งแกร่งในภาคส่วนนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นในการบริหารจัดการภายในโรงงานผลิตพลังงาน เพราะหากเกิดเหตุภัยคุกคามไซเบอร์ภายในโรงงาน ย่อมกระทบต่อทุกภาคส่วนและสร้างความเสียหายมหาศาลต่อประชาชนทั่วไป รวมไปถึงประเทศชาติด้วย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นมีเหตุอาชญากรรมไซเบอร์ที่มุ่งโจมตีอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินงานของผู้คนในระดับมหภาค เช่น 

  • การโจมตีโรงไฟฟ้าในยูเครนผ่าน Phishing Email ทำให้ประชาชนกว่า 2 แสนคน ไม่มีไฟฟ้าใช้นานถึง 6 ชั่วโมง 
  • การโจมตีเรียกค่าไถ่ Colonial Pipeline บริษัทท่อส่งน้ำมันรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ทำให้การส่งน้ำมันทางท่อต้องหยุดชะงักลง

พลตรี ธีรวุฒิ จาก สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เผยว่า อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคมักตกเป็นเป้าโจมตีของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของประเทศ และสร้างผลกระทบได้ในวงกว้าง บรรดาแฮกเกอร์จึงสามารถเรียกค่าไถ่ได้สูง หรือในกรณีที่มีเหตุความขัดแย้งระหว่างประเทศเกิดขึ้น การโจมตีภาคพลังงานและสาธารณูปโภคของประเทศตู่กรณีฝั่งตรงข้ามจึงเป็นการสร้างข้อได้เปรียบในการต่อรองด้วย

Credit: ShutterStock.com

เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงานกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่ตามมา

เมื่อแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าไปสู่เทรนด์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) โรงงานพลังงานต่างล้วนนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรม ตั้งแต่การสำรวจ การจัดหาเชื้อเพลิงธรรมชาติสู่กระบวนการผลิต ไปจนถึงการขนส่งกระจายพลังงานสู่ครัวเรือนหรือสถานีให้บริการ

คุณอรอนุตตร์ จากสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ต้องทำควบคู่ไปกับ Digital Transformation ซึ่งจุดนี้เองที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับโรงงานผลิตพลังงาน ดังตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้กลายเป็น “โรงไฟฟ้ายืดหยุ่น (Flexible Power Plant)” เพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด การใช้คลาวด์เพื่อการประมวลผล รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น ระบบอัตโนมัติ (Automation) และ IoT มาผสานรวมกับระบบการผลิตพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Credit: ShutterStock.com

เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโรงงานผลิตพลังงานมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือความเสี่ยงด้านภัยคุกคามไซเบอร์หลากหลายรูปแบบที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งการมุ่งโจมตีห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม กระบวนการผลิตพลังงานในโรงงานจากช่องว่างระหว่าง Information Technology (IT) และ Operational Technology (OT) รวมถึงการโจมตีแบบ Ransomware ด้วย

คุณนันทวรรณ จากการไฟฟ้านครหลวง เสริมว่า ภัยคุกคามไซเบอร์ต่อระบบพลังงานไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประชาชน เนื่องด้วยความนิยมในการใช้พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์หรือรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีเทคโนโลยีโครงข่ายที่ซับซ้อนอยู่เบื้องหลังเพื่อทำให้ข้อมูลเชื่อมโยงถึงกัน เช่น การติดตั้ง Smart Meter เพื่อตรวจสอบปริมาณการใช้งานไฟฟ้า ดังนั้น การเชื่อมต่อของข้อมูลเหล่านี้อาจเป็นช่องทางที่เพิ่มความเสี่ยงด้านภัยคุกคามไซเบอร์ตามมาในทันที

Credit: ShutterStock.com

การป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ในภาคพลังงาน

จากการที่อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคตกเป็นเป้าโจมตีทางไซเบอร์อันดับต้น ๆ นั้น ในภาพรวมแล้ว โรงงานผลิตพลังงานและให้บริการสาธารณูปโภคในประเทศไทยก็มีการตื่นตัวและเตรียมความพร้อมในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตั้งแต่การเปลี่ยนระบบ SCADA ภายในโรงผลิตพลังงานให้ทันสมัยขึ้นและการแบ่ง Segment ของเครือข่าย (Network Segmentation) เพื่อรองรับการทำงานร่วมกันอย่างมั่นคงปลอดภัยของระบบ IT และ OT ไปจนถึงการจัดการการเข้าถึงข้อมูลภายในโรงงาน พร้อมการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสนับสนุนดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ก็เข้ามามีบทบาทในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ภาคพลังงานด้วยแนวทางเชิงรุกและเชิงรับ โดยแนวทางเชิงรุกประกอบด้วยการจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ แก่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านการบริหารจัดการผลิตพลังงาน การออกประมวลแนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมสุขภาพทางไซเบอร์ (Cyber Hygiene) ในส่วนแนวทางเชิงรับนั้น สกมช. ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ได้ก่อตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Sectoral CERT) เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์และประสานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลแก่หน่วยงานภาคพลังงานต่าง ๆ

Credit: ShutterStock.com

กระทรวงพลังงานมีวิสัยทัศน์ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ต่อภาคพลังงาน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ แผนบริหารจัดการความสมดุลด้านพลังงานและแผนบริหารเชิงกลยุทธ์ โดยภายในแผนส่วนแรกนั้น กระทรวงพลังงานตั้งเป้าสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานให้ดำเนินการไปตามแนวทางปฏิบัติด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมส่งเสริมการปรับตัวและการรับนำนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามา ส่วนแผนบริหารเชิงกลยุทธ์นั้นจะมุ่งเน้นไปที่การติดอาวุธจัดอบรมแนวทางปฏิบัติและการป้องกันภัยคุกคามให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ตลอดจนการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับประชาชนทั่วไปด้วย

ด้านการไฟฟ้านครหลวงเองก็มีนโยบายที่สอดคล้องกับ สกมช. และกระทรวงพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบุคลากร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเฟ้นหาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจแก่บุคลากรทั้งหมดภายในองค์กรด้วย

Credit: ShutterStock.com

People, Process, Technology: สร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภค

การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เกิดขึ้นภายในอุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่ธุรกิจองค์กรและหน่วยงานด้านพลังงานต่างต้องเผชิญ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับคน (People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology)

People

ความพร้อมของบุคลากรกลายเป็นโจทย์ครั้งใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมพลังงานต้องให้ความสนใจและดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งการอบรมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายกระทบต่อภาคพลังงาน การสื่อสารไปยังผู้บริหารระดับสูงเพื่อพิจารณางบประมาณเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ภายในหน่วยงานและองค์กร ไปจนถึงแนวทางการวางแผนการศึกษาและพัฒนาบุคลากรในระยะยาว เพื่อสร้าง Security Mindset เสริมเกราะป้องกันความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เกิดขึ้นแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงด้วย

Credit: ShutterStock.com

Process

กระบวนการดำเนินงานภายในองค์กรและหน่วยงานด้านพลังงานและสาธารณูปโภคยิ่งต้องทำงานอย่างสอดประสานกันให้พร้อมตั้งรับกับภัยคุกคามที่เข้ามาในหลายรูปแบบจากหลายช่องทาง ยิ่งหากมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันแล้ว ก็ยิ่งเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แข็งแกร่งขึ้นในภาคอุตสาหกรรมพลังงานด้วย

Technology

ในด้านเทคโนโลยีนั้น คุณปิยธิดา จากบริษัท Trend Micro ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้บริการวางระบบด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เสริมว่า การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติการนั้นนับว่าเป็นการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยอีกขั้น อย่างในปัจจุบัน Trend Micro มีโซลูชันอย่าง Cybersecurity Platform ที่เข้ามาผสานรวมการทำงานได้แบบ End-to-end และประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง IT และ OT เพื่อสร้าง Visibility ในการมองเห็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้น พร้อมคาดการณ์ เฝ้าระวัง และป้องกันภัยไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นในโรงงานผลิตพลังงานได้

Credit: ShutterStock.com

โดยสรุปแล้ว การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แก่อุตสาหกรรมพลังงานและสาธารณูปโภคล้วนต้องอาศัยการทำงานอย่างสอดประสานกัน ตั้งแต่ระดับบุคลากร (People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology) ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การสร้าง Cyber Hygiene หรือสุขลักษณะทางไซเบอร์ที่ดี สร้าง Cybersecurity Mindset ภายในองค์กร และพึงตระหนักไว้เสมอว่า ภัยคุกคามไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป

from:https://www.techtalkthai.com/ncsa-thncw-2023-cybersecurity-for-energy-by-trend-micro/

ผู้เชี่ยวชาญเผยโค้ดสาธิตช่องโหว่ร้ายแรงบน Microsoft Word ที่เพิ่งมีแพตช์ไปเดือนก่อน

ช่องโหว่ RCE ที่เกิดขึ้นกับ Word นี้ได้ถูกทำให้เข้าใจและใช้ง่ายอีกขึ้นด้วยโค้ดสาธิตสั้นๆ ทั้งนี้ช่องโหว่เพิ่งจะถูกแพตช์ป้องกันไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ที่ผ่านมา จึงเตรียมระวังไว้ได้เลยถึงความเป็นไปได้ที่คนร้ายอาจเริ่มติดอาวุธช่องโหว่ใหม่นี้

Credit: ShutterStock.com

CVE-2023-21716 เป็นช่องโหว่ที่ถูกพบโดยผู้เชี่ยวชาญที่ชื่อ Joshua Drake โดยเขาพบ Heap Corruption ซึ่งอาจเกิดปัญหาได้หาก RTF parser ในโปรแกรม Word เจอกับตารางฟอนต์ที่มากเกินไป กล่าวคือคนร้ายสามารถส่งไฟล์ RTF ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาพิเศษสู่เหยื่อและนำไปสู่การลอบรันโค้ดได้ ทั้งนี้ความรุนแรงอยู่ที่ 9.8/10 อันที่จริงเหยื่อไม่จำเป็นต้องเปิดซะทีเดียว เพียงแค่เกิดการโหลดในส่วน Preview ก็เกิดการปฏิบัติการได้แล้ว

โดยโค้ดสาธิตของ Joshua ได้ถูกย่นย่อจากรายงานฉบับเต็มเมื่อพฤศจิกายนปีก่อนมาอยู่ในโค้ดสั้นๆบนทวิตเตอร์ที่นี่ ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการโจมตีแต่ด้วยความง่ายของการใช้งาน จึงมีแนวโน้มที่คนร้ายอาจนำไปต่อยอดสู่แคมเปญการโจมตีในวงกว้างในอนาคต อย่างไรก็ดีใครไม่สามารถอัปเดตแพตช์ได้ด้วยสาเหตุต่างๆ สามารถบรรเทาเหตุได้เบื้องต้นตามคำแนะนำคือ อ่านอีเมลในรูปแบบของ Plain text หรือทำ Policy บล็อกไฟล์ RTF จากแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ

ที่มา : https://www.bleepingcomputer.com/news/security/proof-of-concept-released-for-critical-microsoft-word-rce-bug/

from:https://www.techtalkthai.com/poc-of-cve-2023-21716-critical-vulnerability/

Microsoft เปิดตัว Intune Suite ชุด Endpoint Management ใหม่

Microsoft เปิดตัว Microsoft Intune Suite ชุด Endpoint Management ใหม่ มาพร้อมความสามารถแบบครบถ้วนสำหรับองค์กร

Microsoft ได้รวมความสามารถของ Microsoft Security และ Microsoft 365 เข้าด้วยกันเปิดตัวเป็นชุด Intune Suite ระบบ Cloud-based Endpoint Management โดยมีฟีเจอร์ที่จำเป็นสำหรับการใช้งานในองค์กรมาให้อย่างครบถ้วน สำหรับจุดเด่นที่เพิ่มเติมเข้ามามีดังนี้

  • Remote Help รองรับอุปกรณ์ Android และ Mac แล้ว เพิ่มเติมจากการรองรับ Remote Help บน Windows ภายใต้ Domain เดียวกัน
  • เพิ่ม Microsoft Tunnel for Mobile App Management ระบบ micro-VPN ช่วยให้แอพพลิเคชันสามารถเข้าถึงเครือข่ายภายในองค์กรได้ รองรับการใช้งานกับอุปกรณ์ส่วนตัว (BYOD) มีระบบ User Privacy และ Data Protection
  • เพิ่ม Advanced Endpoint Analytics ใช้งาน AI ในการวิเคราะห์ปัญหาและ Insight แบบ Real-time ช่วยให้ผู้ดูแลระบบแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
  • เพิ่ม Advanced App Management ช่วยให้ผู้ดูแลระบบบริหารจัดการแอพพลิเคชันได้ง่ายยิ่งขึ้น รองรับการ Deploy และ Automatic Update แอพพลิเคชันบนอุปกรณ์ นอกจากนี้ยังมีแผนในการเพิ่ม Cloud Certificate Management เข้ามาในอนาคตเพื่อใช้ในการบริหารจัดการระบบ VPN และ WiFi อีกด้วย

Microsoft Intune Suite พร้อมใช้งานแล้วสำหรับลูกค้าที่ใช้งาน Microsoft Intune แบบ Subscribe รวมถึง Microsoft 365 E3 และ E5

ที่มา: https://petri.com/microsoft-launches-new-intune-suite/

from:https://www.techtalkthai.com/microsoft-launches-intune-suite-endpoint-management/

Trend Micro เข้าซื้อ Anlyz ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี SOC

ข้อตกลงนี้ไม่ได้เปิดเผยมูลค่าการเข้าซื้อ ซึ่งครอบคลุมทรัพย์สินทางปัญญา ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และพนักงานด้านเทคนิคกว่า 40 คน ซึ่งทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนกลยุทธ์แพลตฟอร์มความปลอดภัยของ Trend Micro ประโยชน์จากดีลนี้จะช่วยสนับสนุนแผนการขยายทีมวิศวกรกว่า 3,000 คน เพื่อเพิ่มศูนย์วิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย

Trend Micro และ Anlyz เป็นพันธมิตรด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 2564 และมีลูกค้าร่วมกันมากกว่า 30 ราย ซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสที่รออยู่ข้างหน้า
 
Trend Micro เป็นผู้นำด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลก ได้ประกาศการลงนามในข้อตกลงขั้นสุดท้ายเพื่อซื้อกิจการ Anlyz ซึ่งเป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านเทคโนโลยีศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัย (SOC)
 
Anlyz มุ่งเน้นที่การจัดการ Security Orchestration และ Case Management เป็นหลัก ซึ่งมอบความสามารถ SOAR อันทรงพลังสำหรับ MSSP เพื่อจัดการกระบวนการตอบสนองต่อเหตุการณ์ในระดับไคลเอ็นต์ นอกจากนี้ยังมี Intelligent Log ที่ช่วยให้สามารถนำเข้าข้อมูลและเพิ่มความสมบูรณ์ในแหล่งข้อมูลและโซลูชันการรักษาความปลอดภัยต่างๆ โดยใช้สถาปัตยกรรมประสิทธิภาพสูงและปรับขนาดได้
 
Trend Micro จะใช้ประโยชน์จากโซลูชัน SOAR ของ Anlyz และชุดตัวเชื่อมต่อผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อขยายแพลตฟอร์มและเปิดใช้ตัวเลือกการผสานรวมและการทำงานอัตโนมัติเพิ่มเติมในระบบนิเวศไอทีของลูกค้า การเข้าซื้อกิจการจะช่วยขยายความสามารถในการประสานการทำงาน ระบบอัตโนมัติ และการผสานรวมของ Trend Micro ซึ่งองค์กรและ Managed Security Service Providers (MSSPs) สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ความคุ้มทุน และได้ผลลัพธ์ด้านความปลอดภัยที่ยอดเยี่ยม สู่บริการ SOC เชิงกลยุทธ์ ในขณะเดียวกันก็สามารถลดความซับซ้อนของชุดความปลอดภัยพื้นฐานโดยการลดจำนวนผู้จำหน่ายเทคโนโลยีที่จำเป็น ทำให้ลูกค้าระดับองค์กรของ Trend Micro ได้รับประโยชน์จาก Extended Detection and Response (XDR) ที่ครอบคลุมและแพลตฟอร์มการประสานการตอบสนองเหตุการณ์ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของนักวิเคราะห์และช่วยลดข้อจำกัดด้านทรัพยากร
 
ผลการวิจัยของ Gartner ระบุว่า ผู้ซื้อจะแสวงหาโซลูชันที่ดีที่สุดและครบวงจรมากกว่าโซลูชันเฉพาะจุดที่ดีที่สุด ทั้งลูกค้าปลายทางและผู้ให้บริการยังคงรวมผู้ขาย/ผู้ให้บริการ บทบาทของผู้จำหน่ายเทคโนโลยีจะเป็นผู้ช่วยให้การผสานรวมเข้ากับเทคโนโลยีและเครื่องมือด้านไอทีและความปลอดภัยอื่นๆ ง่ายขึ้น ตามกรณีการใช้งานต่างๆ
 

from:https://www.techtalkthai.com/trend-micro-acquires-anlyz-soc-technology-specialist/

“Thailand National Cyber Week 2023” ครั้งแรกของไทย

เร่งพัฒนาขับเคลื่อนความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มศักยภาพหนุนปกป้องประชาชนและประเทศ

(17 กุมภาพันธ์ 2566) ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์  กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) จัดพิธีเปิดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” กำหนดจัดระหว่างวันที่ 17 – 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 – 17.00 น. ณ สามย่านมิตรทาวน์ฮอลล์ ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพมหานคร เร่งพัฒนาขับเคลื่อนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฯ พร้อมด้วย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และ พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ
เพื่อพัฒนาศักยภาพและขับเคลื่อนการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการและสร้างมาตรการและกลไกเพื่อพัฒนาศักยภาพหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ ตื่นตัว เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ สร้างเครือข่ายและศักยภาพให้กับผู้ประกอบการในการป้องกัน รับมือ ลดความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ รวมถึงปกป้องเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวว่า

“ในโลกปัจจุบันการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก จากผลสำรวจของ National Cyber Security Index หรือ NCSI ได้จัดอันดับความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 41 จากทั้งหมด 161 ประเทศ และเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน วัดจากความสามารถในการจัดการภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยได้คะแนนการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ 100 % ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา สกมช. ได้ให้ความสำคัญในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศเป็นอย่างมาก เห็นได้จากมีการกำหนดนโยบายในการเตรียมความพร้อมและการขับเคลื่อนนโยบายและแผนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การจัดทำกฎหมายลำดับรอง การส่งเสริมความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ การเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากที่กล่าวมานี้ ทำให้เกิดแนวคิดในการจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” ในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้คำขวัญที่ว่า Secure your cyber, Secure your future” การปกป้องโลกไซเบอร์ ก็เป็นการปกป้องอนาคตของคุณด้วยเช่นกัน  อีกทั้ง  ยังจะช่วยส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับ”

ดูแล  หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย คณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนที่สนใจ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยี และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วนในการป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันกับต่างประเทศ และสร้างโอกาสในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อีกทั้งยังเผยแพร่และสื่อสาร เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงจะได้ร่วมกันบูรณาการความรู้และใช้ประโยชน์จากงานในครั้งนี้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นการปกป้องตนเองและต่อยอดธุรกิจด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์พร้อมทั้งสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ทุกภาคส่วนในการแข่งขันกับต่างประเทศและภัยคุกคามในอนาคตต่อไป

(ซ้าย) พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) และ
(ขวา) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า

“ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เป็นหน่วยงานที่มุ่งขับเคลื่อนการจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศที่มีประสิทธิภาพ พร้อมตอบสนองต่อภัยคุกคามไซเบอร์ทุกมิติ รวมไปถึงนโยบายในการยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure: CII) ให้มีประสิทธิภาพ และผลักดันให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ของประเทศ เพื่อให้ประเทศและประชาชนมีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ที่เข้มแข็ง จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรจัดงาน “นิทรรศการสัปดาห์วิชาการด้านความมั่นคงปลอดภัย   ไซเบอร์ปี 2566 (Thailand National Cyber Week 2023)” ซึ่งเดือนพฤศจิกายน 2565  ถึงต้นกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา สกมช. ได้จัดให้มีการเสวนาด้านความมั่นคงปลอดภัยผ่าน Webinar จำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 การเสวนา “NCSA Virtual Summit:  Cybersecurity & Privacy Trends” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำให้กับผู้ที่สนใจได้รับความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและแนวโน้มของความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต,  ครั้งที่ 2 การเสวนา NCSA Virtual Summit: แนวโน้มและแผนการพัฒนาบุคลากรด้านไซเบอร์ของไทยปี 2566 (Cybersecurity Certificates & Careers) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และครั้งที่ 3 การประชุมออนไลน์ (Virtual Conference) NCSA Thailand National Cyber Week 2023 ซึ่งรวมหัวข้อการบรรยายเกี่ยวกับแนวทางและนวัตกรรมล่าสุดด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลกว่า 10 หัวข้อ โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยภายในงานนี้จะมีการแสดงนิทรรศการผลงานงานวิจัยและผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยบริษัทสตาร์ตอัป นิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาของไทย การให้คำปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พร้อมกับการประชุม-สัมมนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยการนำเสนอความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีความมั่นคงปลอดภัยจากบริษัทและหน่วยงานชั้นนำทั้งในและต่างประเทศมากกว่า 80 บริษัท มาร่วมกัน อับเดตภัยคุกคาม”

ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ Cybersecurity & Privacy Trends ในปี 2023 และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลล่าสุดที่หน่วยงานรัฐและองค์กรธุรกิจควรตระหนักรู้ รวมถึงประเด็นด้านไซเบอร์ที่น่าสนใจที่จะเกิดขึ้นในปี 2023 เช่น กฎหมายด้านไซเบอร์ การเปลี่ยนผ่านสู่ Cyber Resilience, Cyber Risk VS. Digital Risk และ Digital Divide VS. Digital Inequality Enter รวมถึงการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างเจ้าของผลิตภัณฑ์/บริการและบริษัทที่สนใจนำผลิตภัณฑ์/บริการมาจัดจำหน่ายให้แก่ธุรกิจและบุคคลทั่วไป

นอกจากนี้ พบกับมิติใหม่ของมหกรรมรับสมัครงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Job Fair) เปิดโอกาสในการสมัครงานแบบไร้ข้อจำกัดกับองค์กรที่มีคุณภาพ หน่วยงานภาครัฐ และบริษัทเอกชนชั้นนำที่จะเปิดบูธรับสมัครงานรวมกว่า  10  ราย และพบกับชหัวข้อสัมมนาเพื่ออัปเดตแนวโน้มตลาดแรงงานด้าน Cybersecurity ของไทย ไขข้อข้องใจว่าสายงานด้านไหนที่กำลังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งนักศึกษาที่จบใหม่และผู้ที่มีประสบการณ์ใบรับรอง และทักษะสำคัญใดที่ควรมีเพื่อให้เป็นที่สนใจของเหล่า HR รวมถึงร่วมฟังการเสวนาและแชร์ประสบการณ์กับเหล่าบริษัทไอทีชั้นนำ และสถาบันฝึกอบรมและออกใบรับรองระดับโลก อีกทั้งการเสวนาด้านความมั่นคงปลอดภัยโดย สกมช. และผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ครอบคลุมทั้งหน่วยงานความมั่นคงภาครัฐ บริการสำคัญภาครัฐ สาธารณสุข การเงินการธนาคาร พลังงาน และขนส่งโลจิสติกส์
ที่มาร่วมให้ความรู้ในการรับมือด้านความมั่นคงปลอดภัย

ภาพบรรยากาศพิธีเปิด

กิจกรรมที่สำคัญที่พลาดไม่ได้จริง ๆ กับการสาธิตวิธีการ “รู้ทันกลโกงมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์”  พร้อมเทคนิควิธีการทางการตลาดของเหล่ามิจฉาชีพที่ใช้หลอกลวงประชาชนบนโลกออนไลน์ ในเวทีของ สกมช. Live Hacking Demo: “แอปดูดเงิน VS เจาะระบบองค์กรขนาดใหญ่” ชม Live Hacking Demo: “ลองเป็นเหยื่อแอปดูดเงินเพื่อถอดรหัสโจร” เพื่อจะได้รู้เท่าทันป้องกันเงินในกระเป๋าของเรา และ “เจาะช่องโหว่ระบบ Active Directory ขององค์กรขนาดใหญ่” สัมผัสประสบการณ์พร้อมเรียนรู้พื้นฐานการเจาะระบบและการตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัย (Ethical Hacking & Security) เบื้องต้น จากหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญอันดับต้น ๆ ของไทย เปิดโอกาสสำหรับก้าวแรกสู่สาย Offensive Security และร่วมสนุกในเกมการแข่งขันทำโจทย์ตะลุยด่านด้าน Cybersecurity ชิงรางวัลรวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท พร้อมรับประกาศนียบัตรจาก สกมช. และเปิดเวทีให้บริษัทสตาร์ตอัปและสถาบันการศึกษานำผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์มานำเสนอโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย ซึ่งทุกหน่วยงานจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในด้านเทคโนโลยีและการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ รวมถึงส่งเสริมการสร้างความตระหนัก รู้ตื่นตัว  เห็นความสำคัญในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์   เพิ่มขีดความสามารถให้กับทุกภาคส่วนในการป้องกันตนเองจากภัยคุกคามไซเบอร์ และส่งเสริมผู้ประกอบการในการแข่งขันและสร้างโอกาสในการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อีกด้วย

ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลได้ที่ http://www.thncw.com หรือ Facebook THNCW และ Facebook NCSA Thailand

from:https://www.techtalkthai.com/thailand-national-cyber-week-2023-first-time-in-thailand/

[Video Webinar] เพิ่มประสิทธิภาพ รู้ทันพฤติกรรมมัลแวร์ ด้วยนวัตกรรมใหม่ผสาน AI จาก BlackBerry EDR

สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าฟังการบรรยายออนไลน์เรื่อง “เพิ่มประสิทธิภาพ รู้ทันพฤติกรรมมัลแวร์ ด้วยนวัตกรรมใหม่ผสาน AI จาก BlackBerry EDR” ที่เพิ่งจัดไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หรือต้องการรับชมการบรรยายซ้ำอีกครั้ง สามารถเข้าชมวิดีโอบันทึกย้อนหลังได้ที่บทความนี้ครับ

ผู้บรรยาย: คุณกิตติพงษ์ เปียมาลัย System Engineer จาก Bangkok Systems

เข้าร่วม Webinar นี้เพื่อรู้จักกับภาพรวมของโซลูชัน BlackBerry EDR รวมถึงวิธีการทำงานของแต่ละฟังก์ชันในการตรวจจับและตอบสนองต่อภัยคุกคามในระดับ Endpoint ซึ่งจะช่วยยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรได้อย่างแท้จริง

from:https://www.techtalkthai.com/bss-webinar-blackberry-edr-with-ai-technology-video/