คลังเก็บป้ายกำกับ: BBL

ธนาคารพาณิชย์ สำรองเงินสดรวมหลักแสนล้านรับเทศกาลสงกรานต์ แม้ยอดธุรกรรมผ่านมือถือเติบโต

ธนาคารพาณิชย์ไทยสำรองเงินสดรวมหลักแสนล้านบาท ธนาคารกรุงเทพนำโด่ง 40,000 ล้านบาท รับความต้องการถอนเงินสดผ่านตู้ และสาขาเพื่อจับจ่ายช่วงสงกรานต์วันที่ 12-16 เม.ย. 2566 แม้ยอดธุรกรรมผ่านมือถือยังเติบโตต่อเนื่อง

ATM เอทีเอ็ม ธนาคารไทย
ภาพจาก Shutterstock

ธนาคารพาณิชย์ไทยสำรองเงินสดหลักแสนล้าน

ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยต่างประกาศสำรองเงินสดรวมกันหลักแสนล้านบาทเพื่อรับความต้องการจับจ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ นำมาโดย ธนาคารกรุงเทพ ที่สำรองเงินสดไว้ให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มเติมจากภาวะปกติโดยรวมทั้งสิ้นประมาณ 40,000 ล้านบาท ผ่านสาขาธนาคาร และเอทีเอ็มที่มีเกือบ 10,000 จุดทั่วไทย

ตามมาด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สำรองเงินสดไว้ให้บริการกว่า 37,500 ล้านบาท แบ่งเป็นในกรุงเทพ 10,675 ล้านบาท และต่างจังหวัด 26,825 ล้านบาท เป็นการสำรองเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม 31,000 ล้านบาท และสาขา 6,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสำรองเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10% โดยสิ้นเดือน มี.ค. 2566 ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 765 สาขา และมีเครื่องเอทีเอ็มรวม 10,928 เครื่อง

ธนาคารกสิกรไทย สำรองเงินสดสำหรับให้บริการในสาขา และเครื่องเอทีเอ็ม เพื่อรองรับการใช้จ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งสิ้น 29,600 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเงินสดผ่านช่องทางสาขา จำนวน 8,800 ล้านบาท โดยเป็นเงินสำรองสำหรับสาขาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,700 ล้านบาท และสาขาในเขตภูมิภาคจำนวน 5,100 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมี 822 สาขา ทั่วประเทศ

สำหรับการสำรองเงินสดเพื่อเครื่องเอทีเอ็มที่มีอยู่จำนวนกว่า 9,000 เครื่องทั่วประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 20,800 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองเพื่อบรรจุเครื่องเอทีเอ็มในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 8,600 ล้านบาท และเอทีเอ็มในเขตภูมิภาคจำนวน 12,200 ล้านบาท

ด้าน ธนาคารกรุงไทย เตรียมสำรองเงินสดรวม 21,710 ล้านบาท แบ่งเป็นการสำรองในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 3,060 ล้านบาท และเขตภูมิภาค จำนวน 18,650 ล้านบาท โดยสำรองสำหรับสาขาและจุดบริการทั่วประเทศ จำนวน 2,330 ล้านบาท และสำรองสำหรับเครื่อง ATM จำนวน 19,380 ล้านบาท

ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เตรียมสำรองธนบัตรให้บริการผ่านเอทีเอ็ม และสาขาของธนาคารรวม 15,000 ล้านบาท แบ่งธนบัตรสำรองเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็ม จำนวน 10,000 ล้านบาท และช่องทางสาขา จำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวก โดยปัจจุบันทีเอ็มบีธนชาตมีสาขา จำนวน 569 สาขา และเครื่องเอทีเอ็ม จำนวน 3,296 เครื่องทั่วประเทศ

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) สำรองเงินสดจำนวนรวม 7,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดเงินสดที่ลูกค้าใช้จริงในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนราว 6.5% แบ่งเป็นเงินสดสำรองสำหรับบริการผ่านเครื่องเอทีเอ็ม จำนวน 4,713 ล้านบาท และช่องทางสาขาของธนาคารจำนวน 3,081 ล้านบาท โดยปัจจุบันธนาคารมีสาขาจำนวน 564 สาขา และเครื่องกรุงศรี เอทีเอ็ม จำนวน 5,550 เครื่องทั่วประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเตรียมเงินสดเพื่อเตรียมให้บริการในสาขา และตู้เอทีเอ็มยังสำคัญ แม้ปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือจะมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และประเทศไทยเคยติดอันดับ 1 การทำธุรกรรมการเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง รวมถึงทางธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ยังอยู่ระหว่างหารือการคิดค่าธรรมเนียมกดเงินไม่ใช้บัตรเพื่อควบคุมต้นทุนในการให้บริการกดเงินสดเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ธนาคารพาณิชย์ สำรองเงินสดรวมหลักแสนล้านรับเทศกาลสงกรานต์ แม้ยอดธุรกรรมผ่านมือถือเติบโต first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/commercial-bank-thailand-songkran/

ธนาคารกรุงเทพ จับมือ AIS เปิดตัวบัตรเดบิต Be1st Digital AIS POINTS ใช้จ่ายสะดวก สะสมแต้ม AIS Points แลกสิทธิพิเศษสุดคุ้ม!

AIS จับมือ Co-Branding กับ BBL เปิดตัวบัตรเดบิต “Be1st Digital AIS POINTSใหม่ล่าสุดที่ผนึกกำลังระหว่างระบบความปลอดภัยสูงสุดมาตรฐานบริการทางการเงินจากธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับสิทธิพิเศษจากคะแนนสะสมของ AIS Points  เพื่อพลิกโฉมประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้ใช้งาน โดยทุกการช้อปออนไลน์ 200 บาท รับทันที 1 AIS Points สมัครวันนี้ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรกด้วยนะ!

บัตร บีเฟิสต์ ดิจิทัล เอไอเอส พอยท์ ดีอย่างไร

ลายบัตร Be1st Digital AIS POINTS

บัตรเดบิต บีเฟิสต์ ดิจิทัล เอไอเอส พอยท์ มีให้เลือกทั้งหมด 4 ลายคาแรคเตอร์น้องอุ่นใจ มีทั้งแบบบัตรดิจิตอล และบัตรแข็งพลาสติกสามารถชำระเงินค่าสินค้า และบริการผ่านร้านค้าออนไลน์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัยสูงใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับบัตรบีเฟิสต์ดิจิทัล รองรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ครบถ้วน ทั้งเบิก โอน จ่ายที่ตู้ ATM หรือแตะจ่ายแบบ Contactless ก็ทำได้

พิเศษสำหรับบัตรรุ่นนี้ เมื่อใช้จ่ายช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยบัตรเดบิต Be1st Digital AIS POINTS ครบทุก ๆ 200 บาท รับเอไอเอส พอยท์ 1 พอยท์ สะสมได้สูงสุด 100 พอยท์ต่อเดือน สามารถนำคะแนนไปรวมกับ AIS Points ในแอป myAIS ได้เลยทันทีเพียงคลิกเดียว ทำให้เก็บแต้มได้เร็วขึ้น และนำคะแนนไปแลกรับสิทธิพิเศษได้ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงส่วนลดร้านค้าต่าง ๆ จาก 1.8 ล้านร้านค้าได้ทั่วประเทศ

วิธีสมัครใช้บริการ

หากใครสนใจสมัครใช้บริการ สามารถดาวน์โหลดแอป Bualuang mBanking และสมัครใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันได้เลย เพียงทำตามขั้นตอนดังนี้

วิธีสมัคร Be1st Digital AIS POINT

  • เลือกเมนู บัญชี กดเข้าหน้าบัญชีที่ต้องการสมัคร (หรือจะเปิดบัญชี E-Saving ใหม่ผ่านแอปก็ได้)
  • เลือกเมนู จุดไข่ปลา 3 จุด ( ••• ) ที่มุมบนขวามือของหน้าจอ
  • เลือกเมนู จัดการบัตรเดบิต จากนั้น เลือกสมัครบัตรเดบิต

  • เลือกหน้าบัตร 1 จาก 4 ลายที่ชื่นชอบ
  • ตรวจสอบข้อมูลที่อยู่ หากต้องการบัตรแข็งให้กดระบุ (มีค่าธรรมเนียมออกบัตร 100 บาท)  หลังจากนั้นให้ตรวจสอบเงื่อนไข และกดยอมรับเงื่อนไข
  • กรอกเบอร์มือถือ AIS ที่ต้องการผูกกับบัตรเดบิต

  • ตรวจสอบข้อมูลการสมัคร และกดยืนยันจากนั้นใช้งานบัตรได้เลยทันที

เปิดบัตร Be1st Digital AIS POINTS วันนี้ฟรีค่าธรรมเนียมรายปี

สิทธิพิเศษ Be1st Digital AIS POINTS

พิเศษสำหรับผู้ที่สมัครบัตร บีเฟิสต์ ดิจิทัล เอไอเอส พอยท์ ตั้งแต่วันนี้ – 31 สิงหาคม 2566 จะได้รับสิทธิพิเศษมากมาย อาทิเช่น ยกเว้นค่าธรรมเนียมปีแรก 300 บาท และหากเป็นลูกค้าใหม่ที่มีการเปิดบัญชี e-Saving บนแอปธนาคารกรุงเทพ และใช้ช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านบัตรตามเงื่อนไขที่กำหนด ก็จะได้รับ AIS Points 200 แต้มทันที

ส่วนลูกค้าปัจจุบันของธนาคารกรุงเทพก็ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะเมื่อสมัครบัตรพร้อมใช้จ่ายออนไลน์ครั้งแรกก็จะได้รับ 100 AIS Points ด้วยเช่นกัน และทุก ๆ การช้อปออนไลน์ผ่านบัตร 200 บาท จะได้รับ 1 เอไอเอส พอยท์ สูงสุด 100 พอยท์ ต่อบัตร / ต่อเดือนด้วยนะ

ใครสนใจอย่ารอช้าสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ Bangkok Bank และดาวน์โหลดแอป Bualuang mBanking เพื่อสมัครใช้บริการได้เลย

Bualuang mBanking (Free, Google Play) →


‎Bualuang mBanking (Free, App Store) →

 

ที่มา: ข่าวประชาสัมพันธ์

from:https://droidsans.com/be1st-digital-ais-points/

แบงก์กรุงเทพออกแถลงการณ์ กรณีหมอลิลลี่ถูกตัดเงินค่า TikTok ads จากบัตรเครดิต ทั้งที่ไม่ได้ใช้

กรณีหมอลิลลี่ ที่ถูกตัดยอดเงินจากบัตรเครดิตแบงก์กรุงเทพ 2,675 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 90,558 บาทนั้น โดยมีข้อความรุบุว่าตัดจาก TikTok ads เป็นสกุลเงินดอลลาร์ โดยที่หมอลิลลี่ระบุว่า เป็นเรื่องแปลกมากเพราะไม่เคยยิงแอดผ่าน TikTok ด้วยตนเอง ไม่เคยผูกบัตรกับ TikTok เคยแต่ Gen Code ให้คนอื่นบูส 2 ครั้ง ไม่ได้ยิงแอดเอง

Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

หมอลิลลี่เล่าว่า กำลังเล่นมือถืออยู่แล้วตกใจ ทำไมมียอดค่าใช้จ่ายจากบัตร BBL เพราะในรอบ 1 เดือนนี้ไม่เคยใช้บัตรใบนี้เลย พอดูข้อความก็ส่งมาจากธนาคารจริง ดูจากแอปธนาคารเงินก็โดนตัดจริง จึงรีบโทรแจ้งธนาคารให้อายัดบัตรให้ แต่เนื่องจากยอดต้องรอวันทำการที่ไม่ใช่วันเสาร์อาทิตย์ 3-7 วันถึงจะตามเรื่องให้ได้ แต่จะโน๊ตไว้คร่าวๆ ว่าไม่ได้ใช้บัตร แต่ธนาคารยังไม่ได้ปฏิเสธยอดให้นั้น จนสุดท้ายได้คุยกับทางธนาคารและหมอลิลลี่ได้ขอจดหมายยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่ต้องจ่ายยอดหนี้และจะไม่โดนเรียกย้อนหลังและทำให้เสียเครดิตนั้น

ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพออกแถลงการณ์แล้ว ดังนี้

เนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่มีข่าวใน Social Media เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ผู้ถือบัตรเครดิตของธนาคารถูกนำหมายเลขบัตรไปทำรายการในการซื้อโฆษณากับร้านค้าทางอินเตอร์เน็ต และได้รับ SMS จากทางธนาคาร  โดยผู้ถือบัตรได้ปฏิเสธการทำรายการต่อธนาคารในวันเดียวกัน  ธนาคารตรวจสอบแล้วได้ข้อยุติว่าผู้ถือบัตรไม่ต้องรับผิดชอบต่อรายการดังกล่าว

เนื่องจาก ระบบ Card Scheme ของ Visa และ MasterCard ที่ใช้กันในทุกประเทศ ได้อนุญาตให้ร้านค้าเลือกที่จะทำรายการ ทั้งแบบมีการยืนยันตัวตนโดยต้องใส่ OTP และรายการที่ใส่เฉพาะหมายเลขบัตรโดยไม่ใส่ OTP ในกรณีการทำรายการทางอินเตอร์เน็ตที่ใส่เฉพาะหมายเลขบัตรโดยไม่ใส่ OTP หากผู้ถือบัตรไม่ได้ทำรายการ สามารถปฏิเสธต่อธนาคารโดยเร็ว เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบต่อรายการดังกล่าว

กรณีการใช้บัตรเครดิตในการซื้อสินค้าและบริการทางอินเตอร์เน็ต ธนาคารมีระบบแจ้งเตือนลูกค้าที่ทำรายการทางอินเตอร์เน็ตทุกรายการ ด้วยการส่งผ่านทาง SMS และ/หรือ ข้อความแจ้งเตือน (Notification) ผ่าน Mobile Banking

นอกจากนี้  ธนาคารยังมีระบบ Monitor Fraud ดักจับรายการที่ผิดปกติ และบล็อกร้านค้าที่ต้องสงสัย รวมทั้งระบบ Mobile Banking มีฟังก์ชั่นให้ลูกค้าสามารถเปิด ปิดการใช้งานของบัตรได้ด้วยตนเอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ดังนั้น ลูกค้าผู้ถือบัตรของธนาคารควรเช็คสอบทาง SMS และ/หรือ ข้อความแจ้งเตือน (Notification) ผ่าน Mobile Banking ของธนาคารอย่างสม่ำเสมอ

Varanya Nganthavee

ที่มา – BBL

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post แบงก์กรุงเทพออกแถลงการณ์ กรณีหมอลิลลี่ถูกตัดเงินค่า TikTok ads จากบัตรเครดิต ทั้งที่ไม่ได้ใช้ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/bangkok-bank-statement-after-credit-card-hacks/

Google Wallet (Google Pay) เปิดให้บริการในไทย แตะแล้วจ่าย เก็บบัตรส่วนลด ตั๋วเดินทางในแอปเดียว

เทรนด์สังคมไร้เงินสด สแกน QR Code หรือแตะแล้วจ่ายนั้นบูมในไทยมาได้สักพักใหญ่ๆ ซึ่งเราก็รอคอยการมาของระบบที่ใช้มือถือแตะแล้วจ่ายได้ง่ายๆ มันจะได้สะดวก ไม่ต้องพกบัตรอย่าง Google Pay ที่ตอนนี้อัปเกรดใหม่ เป็น Google Wallet แล้ว และก็ได้ฤกษ์เปิดให้บริการในไทยเป็นครั้งแรก ให้เราสามารถย้ายบัตรหลายๆ ใบในกระเป๋า มาอยู่ในมือถือ Android



  • Google Wallet เปิดให้บริการแตะแล้วจ่ายในไทย รวมถึงการเพิ่มบัตรส่วนลด บัตรสะสมแต้ม ตั๋วเดินทาง วัคซีนพาสปอร์ต

  • สามารถเพิ่มบัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพ (บัตรเครดิต Visa และ Mastercard) และธนาคารกรุงไทย (บัตรเครดิต Visa และ Mastercard) ลงใน Google Wallet ได้แล้ววันนี้ ส่วนบัตรทรูมันนี่ (บัตร Prepaid Mastercard) กำลังจะตามมา

  • ตั๋วเดินทางรองรับบอร์ดดิ้งพาสของสายการบินแอร์เอเชีย บัตรสะสมแต้ม OneSiam ของสยามพิวรรธน์ และบัตรเข้าชมงานต่างๆ จากไทยทิคเก็ตเมเจอร์ สามารถเพิ่มและเก็บไว้ใน Google Wallet ได้เช่นกัน

Google Wallet ต่างจาก Google Pay อย่างไร

สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาของ Google Wallet ที่เหนือกว่า Google Pay ก็คือนอกจากบัตรเครดิตที่ใช้แตะแล้วจ่าย เรายังสามารถจะใส่บัตรอื่นๆ เข้ามาได้ด้วย เช่นบัตรส่วนลด บัตรสะสมแต้ม ตั๋วเดินทาง บัตรวัคซีน เรียกง่ายๆ ว่าเหมือนเป็นกระเป๋าสตางค์ดิจิทัลแบบเดียวกับชื่อนั่นเอง

บัตรธนาคารไหนสามารถใช้งาน Google Wallet ได้บ้าง

ในช่วแรกของการเปิดให้บริการ จะรองรับบัตรเครดิต Visa , Mastercard ของ ธนาคารกรุงไทย (KTC) , ธนาคารกรุงเทพ (BBL) โดยสามารถใช้งานกับระบบแตะแล้วจ่ายบนอุปกรณ์ Android และ Wear OS รวมถึงสามารถใช้ Google Wallet ในการจ่ายเงินกับร้านค้าออนไลน์ต่างๆ ได้ด้วย

เร็วๆ นี้จะรองรับ ทรูมันนี่ (บัตร Prepaid Mastercard) เพิ่ม และคาดว่าน่าจะรองรับบัตรธนาคารอื่นๆ ตามมาในภายหลัง

ส่วนบัตรส่วนลด ตั๋วเดินทาง บัตรสะสมแต้มที่รองรับนั้น กรณีตั๋วเดินทาง บัตรคอนเสิร์ตหากมีการส่งเข้ามาใน Gmail ระบบของ Google Wallet จะสามารถดึงมาเก็บในกระเป๋าได้เลย เช่น Air Asia, Thaiticket Major สำหรับบัตรส่วนลดอื่นๆ เช่น OneSiam นั้นสามารถทำการเพิ่มบัตรได้เอง



วิธีการเพิ่มบัตรใน Google Wallet

เราสามารถโหลดแอป Google Wallet จาก Google Play Store แล้วทำการผูกกับ Google Account เพื่อเริ่มใช้งานได้ทันที ส่วนการเพิ่มบัตรก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร แค่กรอกข้อมูลบัตรลงไปในระบบ หรือถ้าใครมีบัตรที่ผูกไว้กับ Google Account อยู่แล้ว ก็สามารถเปิดใช้งาน แตะแล้วจ่าย ได้ทันที

ความปลอดภัยในการใช้งาน Google Wallet

ระบบความปลอดภัยของ Google Wallet นั้นจะมีการแปลง Token ตามมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน โดยสมมติหมายเลขบัตรขึ้นมา (โทเค็น) ซึ่งเป็นหมายเลขเฉพาะของอุปกรณ์นั้นๆ และเชื่อมโยงกับรหัสความปลอดภัยแบบไดนามิกที่จะไม่ซ้ำกันในแต่ละธุรกรรม และเราสามารถเข้าไปตรวจสอบและดูการใช้งานได้ผ่าน myactivity.google.com/product/wallet

 

มือถือและอุปกรณ์ Adroid รุ่นไหนรองรับ Google Wallet บ้าง

สำหรับอุปกรณ์ที่สามารถติดตั้งและใช้งาน Google Wallet ได้ครบทุกฟังก์ชั่น อย่างน้อยต้องเป็น Android 7.0 ขึ้นไป ส่วนการแตะแล้วจ่ายผ่าน NFC นั้นอาจจะขึ้นอยู่กับแต่ละอุปกรณ์ ว่าจะรองรับการจ่ายเงินผ่าน NFC ด้วยหรือไม่

Google Wallet (Free, Google Play) →

 

source : google wallet , google wallet thailand support

from:https://droidsans.com/google-wallet-google-pay-service-available-in-thailand/

BBL ชวนลูกค้าปรับโมเดลธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ด้าน ESG

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เปิดเผยว่า ธนาคารให้ความสำคัญกับดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero Emission) ผ่านเจตนารมณ์ด้าน ESG หรือการคำนึงถึงประเด็นพื้นฐานทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติสิ่งแวดล้อม (Environmental) มิติสังคม (Social) และมิติธรรมาภิบาล (Governance)

โดยได้ประยุกต์แนวทางดังกล่าวเข้ากับรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้านการเงินธนาคาร รวมถึงประสานการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการเพื่อพัฒนาเครื่องมือสำหรับการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพของภาวะโลกร้อน (Physical risk) และความเสี่ยงจากการปรับเปลี่ยนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Transition risk)

ขณะเดียวกัน ธนาคารยังได้ทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อปรับเปลี่ยน Business Model ที่จะนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยธนาคารให้การสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการให้คำแนะนำที่จะช่วยให้ลูกค้าพัฒนากระบวนการทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของกิจการ

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพได้ดำเนินการในหลากหลายด้าน เพื่อสนับสนุนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งลูกค้าและสังคม ให้สามารถมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกันใน 8 มิติ ประกอบด้วย 

1.) การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการพัฒนากระบวนการบริหารและเครื่องมือที่ช่วยประเมินความเสี่ยงด้าน ESG 

2.) การสนับสนุนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในปี 2564 ที่ธนาคารผู้รับประกันการจัดจำหน่าย (Underwriter) ตราสารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Bond ในสัดส่วนถึง 66% ของมูลค่าตราสารดังกล่าว

3.) บริการสินเชื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมสำหรับเอสเอ็มอี เป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับธุรกิจที่ต้องการลงทุนด้านธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ 

4.) การสนับสนุนเอสเอ็มอี ภาคเกษตรกรรมและชุมชน ผ่านการสร้างเครือข่าย ‘บัวหลวงเอสเอ็มอี’ และ ‘โครงการเกษตรก้าวหน้า’ 

5.) การสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน สนับสนุนตั้งแต่การสร้างโรงเรียนในพื้นที่ชนบท การพัฒนาศักยภาพบุคลากรครู และความรู้ด้านการเงิน 

6.) การดูแลกลุ่มเปราะบาง ด้วยการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเท่าเทียมสำหรับผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ

7.) การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยการจัดกิจกรรมและประกวดเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนตระหนักและเห็นคุณค่าด้านศิลปะและวัฒนธรรมของไทย

8.) การทำนุบำรุงศาสนา โดยในด้านพิธีการทางศาสนาและการสนับสนุนการศึกษาตามหลักสูตรคณะสงฆ์

“ธนาคารกรุงเทพมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ในด้าน ESG แต่กระบวนการเหล่านี้ธนาคารคงไม่สามารถทำตามลำพังได้ หากแต่เราได้พยายามประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการที่มีข้อมูลความรู้ ทั้งลูกค้าที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญถึงประเด็นเหล่านี้และยินดีปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจไปด้วยกัน เพราะแน่นอนว่า ในหลายๆ กระบวนการทำงานแบบใหม่ อาจมีต้นทุนเพิ่มและสุดท้ายก็ต้องถูกส่งต่อไปถึงลูกค้าที่ปลายทางของห่วงโซ่อุปทานในที่สุด รวมถึงอาจทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย”

from:https://www.thumbsup.in.th/bbl-to-esg?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=bbl-to-esg

เจาะลึกปัญหาและทางรอดการทำธุรกิจที่ SME ต้องรู้ ในช่วงวิกฤต

cpf

นาทีนี้ หลายธุรกิจเริ่มรับรู้ได้ถึงสภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งในไทยและทั่วโลกว่ามีปัญหาอยู่ไม่น้อย สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยเงินทุนและการวางแผนระยะยาว อาจช่วยให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้ แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หรือ SME อาจจะเป็นคนละเรื่องกัน

ลองดูกันว่า มีปัจจัยลบอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจ สรุปแบบเข้าใจง่าย ดังนี้

cpf

วิกฤตความขัดแย้งและสงคราม

สำหรับ SME ที่ติดตามข่าวสารรอบโลกจะเห็นว่า ความขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุดคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบไม่ใช่เฉพาะในยุโรป แต่ไปถึงทั่วโลกรวมถึงไทยด้วย ตั้งแต่มิติของการนำเข้า-ส่งออก สินค้าไปรัสเซีย-ยูเครน และประเทศใกล้เคียง บรรยากาศ ความเชื่อมั่น ราคาต้นทุนวัตถุดิบสินค้าที่มีแนวโน้มขาดแคลน

ต่อให้ SME ไม่ได้ส่งออก ไม่ได้นำเข้าวัตถุดิบ แต่ก็ได้รับผลกระทบทางอ้อมอยู่ไม่น้อยจากบรรยากาศของสงคราม

cpf

ยิ่งล่าสุด มีความขัดแย้งที่ระอุขึ้นมาของ จีน-ไต้หวัน จากกรณีที่สหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ กรณีนี้หลายคนอาจไม่เข้าใจ อธิบายสั้นๆ ว่า จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังนั้นสหรัฐอเมริกาจะมาพบไต้หวันโดยตรงไม่ได้ ดังนั้นความขัดแย้งจึงเพิ่มดีกรีขึ้น จนมีข่าวว่าจีนจะซ้อมรบในพื้นที่ใกล้กับไต้หวัน ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก

จากโควิดจนถึงกำลังซื้อที่หดตัว

โรคระบาดอย่างโควิด-19 อยู่กับเรามาหลายปีแล้ว และคาดว่าจะอยู่ต่อไปอีกหลายปีด้วย แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง ความรุนแรงของโรคจะลดลง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นยังส่งผลอยู่ มองย้อนกลับไป ปี 2020-2021 หลายธุรกิจปิดตัว SME หลายแห่งต้องหยุดการทำธุรกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อจำกัดผลกระทบจากโควิด

cpf

จนถึงปัจจุบันหลายธุรกิจฟื้นตัวแล้ว หลายธุรกิจยังอยู่ระหว่างการพยายามกลับมา และหลายธุรกิจปิดตัวลงไป สิ่งที่เป็นผลตามมาคือ คนตกงาน มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่ตกงาน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 แม้ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นจากช่วงโควิดระบาดก่อนหน้านี้ แต่พบว่ามีผู้ว่างงานกว่า 0.76 ล้านคน คิดเป็น 2.0% ของอัตราการว่างงานเทียบกับก่อนหน้านี้ ถือเป็นอัตราการจ้างงานที่ลดลง คิดเป็นสัดส่วน 2.2% นอกจากนี้เวลาในการจ้างงานก็น้อยลง แปลว่ามีคนกว่า 3 ล้านที่ทำงานน้อยลงจากเดิม ทำให้รายได้น้อยลงส่งผลให้กำลังซื้อหดตัว

กำลังซื้อที่หดตัว ก็เหมือนลูกค้าไม่มีเงินมาจับจ่ายใช้สอย การตัดสินใจซื้อยากขึ้นอาจชะลอออกไปถ้าไม่จำเป็น ย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของ SME เช่นกัน

cpf

เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

ถ้าเงินเฟ้อเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจดี แปลว่าคนมีเงินแต่ราคาสินค้าสูงขึ้น คนก็ยังซื้ออยู่ แต่เวลานี้ตัวเลขเงินเฟ้อสูงขึ้น ไทยอยู่ที่ระดับ 6-7% ทั่วโลกก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่เศรษฐกิชะลอตัว เป็นไปได้ว่าเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้สินค้าราคาแพง แต่คนก็ยังไม่มีเงิน

และนั่นทำให้หลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงไทยต้องตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.75% ซึ่งคาดว่าจะมีผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลง แต่เศรษฐกิจก็ชะลอตัวด้วยเช่นกัน เพราะดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ลดลง

เรื่องนี้จะส่งผลต่อ SME โดยตรง เพราะอัตราดอกเบี้ยจากการขอสินเชื่อหรือกู้เงินจะสูงขึ้น โอกาสเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินก็มากขึ้นตามไปด้วย

cpf

สภาพคล่องทางการเงินที่เสียไป ปัญหาใหญ่ของ SME

สำหรับ SME ซึ่งมีสายป่านที่จำกัดหากเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ เมื่อเจอปัญหาหลายด้านเข้ามาพร้อมกัน อยากทำธุรกิจต่อแต่ก็ทำไม่ได้ เมื่อถึงเวลาที่จะทำได้แต่เศรษฐกิจก็ชะลอตัว

แต่ SME จำนวนไม่น้อยที่สามารถปรับตัวได้ ยืนหยัด ต่อสู้ และอยู่รอดวิกฤตที่ผ่านมา แต่สุดท้ายจะเจอปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้นต่อให้อยากได้โอกาสพลิกสถานการณ์ก็ทำได้ยาก เพราะไม่มีเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ เงินทุนไม่หนาแบบรายใหญ่ รายจ่ายประจำยังอยู่ จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็ไม่ได้ง่าย

เรียกว่าต่อให้ SME ที่เตรียมตัวมาอย่างดี เคยธุรกิจเติบโตในช่วงก่อนหน้านี้ ก็มีโอกาสล้มได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น หนึ่งในทางออกของปัญหาทั้งหมด นอกจากแผนธุรกิจรับมือสิ่งที่เกิดขึ้น การปรับตัวที่รวดเร็วแล้ว การมีเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง คือ โอกาสในการยืดชีวิตของ SME ที่จะกลับมาพลิกฟื้นได้อีกครั้ง

cpf

CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง… เคียงข้างคู่ค้า

เมื่อรู้แล้วว่าหนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้ SME อยู่รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ คือ การมีสภาพคล่องเงินหมุนเวียน ดังนั้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มอบสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นให้กับ SME คู่ค้าของ CPF มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ต้นทุนต่ำ ให้วงเงินสูง อนุมัติไวภายใน 3 วัน โดยสามารถเบิกใช้วงเงินได้มากถึง 90% ตามข้อมูลการค้าที่ธนาคารได้รับ และที่สำคัญไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ดังที่กล่าวมาทั้งหมด อุปสรรคของ SME คือ ขาดเงินทุนหมุนเวียน และยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ลำบาก นี่จึงเป็นโครงการที่มาแก้ Pain point ได้ตรงจุด เพราะจุดเด่นคือ รับเงินเร็วเบิกใช้ได้ทันที ทยอยเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ชำระหนี้ได้ทุกวันไม่ต้องกังวลเรื่องดอกเบี้ย และสามารถตรวจสอบวงเงินสินเชื่อออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลโครงการได้ที่: https://www.cpfworldwide.com/th/media-center/list/cpfxbbl 

cpf

สรุป

หลายธุรกิจยากที่จะฟื้นตัว แม้จะมีแผนธุรกิจที่พร้อม มีการปรับตัวเป็นอย่างดี แต่ขาดแรงสนับสนุนทางการเงิน ดังนั้น นี่จึงเป็นโครงการที่ให้โอกาส และต่อยอดให้ SME ที่เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยอยู่รอดและกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เจาะลึกปัญหาและทางรอดการทำธุรกิจที่ SME ต้องรู้ ในช่วงวิกฤต first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cpf-bbl-solution-for-sme/

CPF จับมือ BBL ธนาคารกรุงเทพ หนุนคู่ค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้นทุนต่ำ ดอกเบี้ยพิเศษ

ธนาคารกรุงเทพ จับมือกับ CPF ให้คู่ค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนวงเงินสูง ต้นทุนต่ำ ดอกเบี้ยพิเศษ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

BBL x CPF

ธนาคารกรุงเทพ​ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีเอฟ เปิดตัวโครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” มอบสินเชื่อหมุนเวียนด้วยดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับคู่ค้า CPF

จรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ระบุ ธนาคารกรุงเทพมีความยินดียิ่งที่ได้ร่วมพัฒนาต่อยอดความร่วมมือกับ CPF เพื่อสนับสนุนคู่ค้าให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำ เสริมสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านบริการสินเชื่อหมุนเวียนของธนาคารกรุงเทพ โดยธนาคารจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาและระบบงานดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนคู่ค้าสามารถใช้บริการได้สะดวก รวดเร็วและได้รับประโยชน์เต็มที่

ด้านพิพัฒน์ อัสสมงคล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า ภายใต้ความร่วมมือาดังกล่าว ธนาคารได้ออกแบบสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ ด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับคู่ค้าของ CPF ให้วงเงินสูง อนุมัติไว ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ลูกค้าสามารถเบิกใช้วงเงินได้ง่าย ชำระคืนได้ทุกวัน ตรวจสอบวงเงินออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เบาใจได้เรื่องภาระดอกเบี้ย

ขณะที่ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารมีคู่ค้าที่ผลิตวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ กว่า 10,000 ราย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลิตและส่งมอบอาหารคุณภาพปลอดภัยให้ผู้บริโภคได้ต่อเนื่อง การร่วมมือกันระหว่าง CPF x BBL นี้ จะช่วยให้คู่ค้าสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ

จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนดีขึ้น สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME คิดเป็น 60% ของจำนวนคู่ค้าทั้งหมด เป็นกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสน้อยในการเข้าถึงเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษได้มีโอกาส เติบโตและยกระดับเป็นผู้ผลิตขนาดใหญ่ในอนาคต

BBL x CPF

ธิดารัตน์ เดชายนต์บัญชา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ ซีพีเอฟ ระบุ โครงการ CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า เป็นอีกแนวทางที่ช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินในการดำเนินธุรกิจให้แก่คู่ค้าได้เข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น เป็นสินเชื่อหมุนเวียนที่มีอัตราดอกเบี้ยพิเศษโดยเฉพาะธุรกิจ SME

โครงการ “CPF x BBL เสริมสภาพคล่อง…เคียงข้างคู่ค้า” คือการต่อยอดจากโครงการ Faster Payment ที่ CPF ดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2563 ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2565 นี้ เป็นโครงการที่คู่ค้าของ CPF ลดระยะเวลาเครดิตเทอมเหลือภายใน 30 วัน เพื่อช่วยเหลือคู่ค้า SME จำนวน 6,000 รายที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมีสภาพคล่อง มีเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจโดยไม่หยุดชะงัก รักษาการจ้างงานและฟื้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้ดีขึ้น

ที่มา – BBL

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post CPF จับมือ BBL ธนาคารกรุงเทพ หนุนคู่ค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุน ต้นทุนต่ำ ดอกเบี้ยพิเศษ first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/cpf-collaboration-bbl-support-sme/

ธนาคารกำไรกระฉูด! กสิกรไทย ปิดปีทะลุ 38,000 ล้านบาท กรุงเทพ-กรุงศรี กำไรเติบโตราว 50%

ธุรกิจธนาคารปิดปี 2564 กำไรสุทธิกระฉูด ธนาคารกสิกรไทย ปิด 38,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.05% ธนาคารกรุงเทพ ทำได้ 26,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.3% ส่วน ธนาคารกรุงศรี อยู่ที่ 33,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.7%

ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย กำไรสุทธิ 38,053 ล้านบาท

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคาร และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 38,053 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิสำหรับไตรมาส 4 ปี 2564 จำนวน 9,901 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8,566 ล้านบาท หรือ 29.05%

ส่วนหนึ่งเกิดจากการลดลงของสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 3,216 ล้านบาท หรือ 7.38% โดยธนาคารและบริษัทย่อยพิจารณาตั้งสำรองฯ ในปี 2564 จำนวน 40,332 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง

นอกจากนี้ ธนาคาร และบริษัทย่อยมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 7,822 ล้านบาท หรือ 6.13% หลัก ๆ เกิดจากการให้สินเชื่อใหม่ตามยุทธศาสตร์ของธนาคารแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ

ธนาคารกรุงเทพ กำไรสุทธิ 25,507 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพ และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับปี 2564 จำนวน 26,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.6% จากปีก่อน เป็นผลจากการรวมรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพอร์มาตาเต็มปี และการลดลงของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยจากการบริหารต้นทุนเงินรับฝาก

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังแ ละรอบคอบ เพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังต้องใช้เวลาและเตรียมพร้อมสำหรับการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจภายหลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลาย

ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,588,339 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.3% จากสิ้นปี 2563 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 3,156,940 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3 % จากสิ้นปีก่อน

ธนาคารกรุงศรี กำไรสุทธิ 33,794 ล้านบาท

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) เผยผลประกอบการของปี 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 33,794 ล้านบาท โดยกรุงศรียังคงรักษาระดับการตั้งเงินสำรองตามหลักเกณฑ์รอบคอบระมัดระวังเพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต

ส่งผลให้อัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดที่เคยบันทึกที่ 184.2% ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ขณะที่อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ในระดับต่ำที่ 2.20% อนึ่ง สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขยายตัวอย่างแข็งแกร่งที่ 6.6% และ 3.9% ตามลำดับ

สรุปผลประกอบการ และฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับปี 2564 ของกรุงศรี มีดังนี้

  • กำไรสุทธิ จำนวน 33,794 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.7% หรือจำนวน 10,754 ล้านบาท จากปี 2563 มีปัจจัยหลักคือกำไรพิเศษจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นใน บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในไตรมาสที่ 2/2564 หากไม่รวมรายการพิเศษ กำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติในปี 2564 อยู่ที่จำนวน 25,609 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.1% หรือจำนวน 2,569 ล้านบาท จากปีก่อนหน้า
  • เงินให้สินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3.1% หรือจำนวน 57,441 ล้านบาท จากเดือนธันวาคม 2563 สินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขยายตัว 6.6% และ 3.9% ตามลำดับ
  • เงินรับฝาก ลดลง 3.0% จากสิ้นเดือนธันวาคม 2563 สะท้อนประสิทธิภาพการบริหารจัดการสภาพคล่องเชิงรุก ในการลดสัดส่วนเงินรับฝากประจำ และชดเชยด้วยเงินรับฝากออมทรัพย์และจ่ายคืนเมื่อทวงถาม

“การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หลายระลอกในระหว่างปีที่ผ่านมา และมาตรการควบคุมโรคที่เกี่ยวเนื่อง ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจชะลอตัวลง ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเกิดความล่าช้า โดยคาดว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.2% และจะขยายตัว 3.7% ในปี 2565” เซอิจิโระ อาคิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post ธนาคารกำไรกระฉูด! กสิกรไทย ปิดปีทะลุ 38,000 ล้านบาท กรุงเทพ-กรุงศรี กำไรเติบโตราว 50% first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/kbank-krungsri-bbl-net-2021/

ธนาคารกรุงเทพ แจ้งเลื่อนปิดปรับปรุงระบบ บริการทุกประเภทของธนาคารสามารถใช้งานได้ตามปกติ

สืบเนื่องจากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งขอปิดให้บริการชั่วคราว เพื่อปรับปรุงระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ที่ได้กำหนดไว้เดิมในคืนวันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 22.30 น. ถึง เช้าวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.30 น. นั้น

ธนาคารขอเลื่อนการปิดปรับปรุงระบบดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและตอบรับกับมาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ ตามแนวทางควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กำหนดไว้ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยธนาคารจะแจ้งกำหนดการใหม่ในโอกาสต่อไป

โดย บริการทุกประเภทของธนาคาร สามารถใช้งานตามปกติ   

ธนาคารขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ กรณีมีความประสงค์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อ บัวหลวงโฟน โทร.1333 หรือ 0 2645 5555./

from:https://www.thumbsup.in.th/bbl-annoucement?utm_source=rss&utm_medium=rss&utm_campaign=bbl-annoucement

เปิดรายได้ครึ่งปีแรก 6 ธนาคารใหญ่ของไทย กำไรรวมระดับหมื่นล้านบาทท่ามกลางสถานการณ์โควิด

bank 2h2021

ผ่านครึ่งปี 2021 ไปเรียบร้อย ธนาคารใหญ่ของไทยส่งผลประกอบการกันเรียบร้อยหมดแล้ว ต้องบอกว่าส่วนใหญ่กำไรเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกัน มาดูกันว่า ธนาคารแต่ละแห่งทำรายได้และกำไรไปเท่าไรจากปัจจัยอะไรบ้าง

Bangkok Bank ธนาคารกรุงเทพ
ภาพจาก Shutterstock

BBL ครึ่งปีแรกกำไร 13,280 ล้านบาท

ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิครึ่งแรกของปี 2564 จำนวน 13,280 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 10,765 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.4% ทั้งนี้มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 หลักๆ จากผลของการรวมธนาคารเพอร์มาตาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 2.12 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในครึ่งแรกของปีก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 จากค่าธรรมเนียมบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม และค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงการรวมรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารเพอร์มาตา สำหรับอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 49.5 ทั้งนี้ ธนาคารมีการตั้งสำรองตามหลักความระมัดระวังโดยคาดการณ์ปัจจัยผลกระทบสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า

KBank ครึ่งปีแรกกำไร 19,521 ล้านบาท

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย บอกว่า ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิสำหรับงวดครึ่งปีแรกปี 2564 จำนวน 19,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.40% โดยในงวดครึ่งปีแรกปี 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss: ECL) ลดลง 39.32% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยงวดครึ่งปีแรกของปีก่อนธนาคารและบริษัทย่อยได้ตั้งสำรองฯ ในระดับที่สูงเป็นจำนวนถึง 32,064 ล้านบาท ภายใต้หลักความระมัดระวัง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยงวดนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยจึงได้พิจารณาตั้งสำรองฯ จำนวน 19,457 ล้านบาท ซึ่งยังคงเป็นระดับสำรองฯ ภายใต้หลักความระมัดระวัง ทั้งนี้หากเปรียบเทียบไตรมาส 2 ปี 2564 กับไตรมาสก่อน ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 24.93%

SCB ครึ่งปีแรกกำไร 18,902 ล้านบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์และบริษัทย่อย ครึ่งปีแรกของปี 2564 ธนาคารมีกำไรสุทธิจำนวน 18,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 20,036 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรก อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ทรงตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ 3.79% สะท้อนถึงการบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพเชิงรุกของธนาคาร อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 142.3% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 17.9%

BAY กำไรครึ่งปีแรก 21,048 ล้านบาท เพิ่มสูงขึ้นจากการขายหุ้นเงินติดล้อ

กรุงศรี เผยผลประกอบการครึ่งแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิจำนวน 21,048 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55.5% สำหรับครึ่งแรกของปี 2564 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย จากการบันทึกกำไรจากเงินลงทุนจากการขายหุ้นในบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (เงินติดล้อ) ในไตรมาสสองของปี 2564
หากไม่รวมการบันทึกกำไรพิเศษ กำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจปกติสำหรับครึ่งแรกของปี 2564 ลดลง 5.0% หรือจำนวน 678 ล้านบาท โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ

ttb กำไรครึ่งปีแรก 5,316 ล้านบาท หลังรวมกิจการ TMB-TBank

ทีเอ็มบีธนชาต และบริษัทย่อย แจ้งผลกำไรครึ่งปีแรก 5,316 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา -27% เนื่องจากปีที่ผ่านมารายได้และกำไรได้รวมของธนาคารธนชาตเข้ามาแล้ว อย่างไรก็ตามภารกิจสำคัญของทีเอ็มบีธนชาต คือการรวมธนาคาร ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เป็นไปตามกรอบระยะเวลา 18 เดือนที่วางไว้ ส่วนกลยุทธ์ของธนาคารเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง ไม่เร่งการเติบโตสวนทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วยอดหนี้เสียและสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) จะยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2 ธนาคารมียอดหนี้เสียอยู่ที่ 43,543 ล้านบาท ใกล้เคียงกับ 43,400 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน แต่เนื่องจากสินเชื่อชะลอลง สัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมจึงขยับจาก 2.75% มาอยู่ที่ 2.89%

ktb

KTB กำไรครึ่งปีแรก 11,589 ล้านบาท

ธนาคารกรุงไทย แจ้งผลกำไรครึ่งปีแรก 11,589 ล้านบาท เติบโตขึ้น 13.38% จากสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว ติดตามคุณภาพหนี้ใกล้ชิด รักษาระดับสำรองต่อ NPLs เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

The post เปิดรายได้ครึ่งปีแรก 6 ธนาคารใหญ่ของไทย กำไรรวมระดับหมื่นล้านบาทท่ามกลางสถานการณ์โควิด first appeared on Brand Inside.
from:https://brandinside.asia/6-thai-bank-2h2021/