คลังเก็บป้ายกำกับ: รถไฟฟ้าใต้ดิน

หันหลังให้รถไฟฟ้า หันหน้าเข้าหาตุ๊กตุ๊ก แฟนคลับศิลปินเกาหลีหันมาโปรโมตท้ายรถมากขึ้น

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ บรรดาแฟนคลับสายซัพพอร์ตศิลปินเกาหลีซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ออกมาประท้วงในปัจจุบัน ตามข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคาพยพลาออก ตลอดจนแก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการศึกษา การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ พวกเขาคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ประสบปัญหาขณะเดินทางเพื่อไปชุมนุมประท้วง เนื่องจาก รถไฟฟ้าส่วนใหญ่ทั้งรถไฟฟ้าลอยฟ้า BTS และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ต่างระงับการให้บริการหลังรัฐบาลขอความร่วมมือ ทำให้เกิดความไม่สะดวกขณะเดินทาง 

ล่าสุด กลุ่มแฟนคลับเหล่านี้เริ่มหันหลังให้รถไฟฟ้า ที่เคยเป็นแหล่งโปรโมตศิลปินเกาหลีจำนวนมาก ด้วยการหันมาโปรโมตศิลปินผ่านรถโดยสารประเภทตุ๊กตุ๊กแทน โดยข้อมูลจากผู้ใช้ Twitter แอคเคาท์ @ferorina36 ระบุข้อมูลการรวบรวมราคาป้ายโปรโมตศิลปินท้ายรถตุ๊กตุ๊ก เพื่อเปลี่ยนมือจากการสนับสนุนนายทุนใหญ่ เป็นการกระจายรายได้สู่รายย่อยแทน โดยมีอัตราค่าบริการคร่าวๆ ดังนี้

วินรถตุ๊กตุ๊ก สถานีหัวลำโพง 

  • ราคาอยู่ที่ 300-400 บาทต่อคัน (รวมค่าติดป้าย)
  • ไม่มีหัวคิว ป้ายให้ทำมาเอง
  • เช่าเป็นระยะเวลา 1 เดือน 
  • ไม่มีขั้นต่ำในการติดป้าย จะติดกี่คันก็ได้ มีรถให้ติดป้ายประมาณ 30 คัน

วินข้าง MBK 

  • ผ่านหัวหัวหน้าวิน (เป็นคนจัดการ)
  • ทำป้ายมาติดเอง ขนาด 1 x 0.50 เมตร
  • อัตราค่าติดป้ายอยู่ที่ 600 บาท (รวมค่าติดป้าย) 
  • เช่าเป็นระยะเวลา 1 ดือน 
  • ไม่มีขั้นต่ำในการติดป้าย
  • มีรถติดป้ายจำนวนมากกว่า 100 คัน 

วินรถสองแถว BTS อุดมสุข 

  • ผ่านหัวหน้าวิน
  • อัตราราคาอยู่ที่ 300 บาท
  • เช่าเป็นระยะเวลา 1 เดือน
  • ไม่มีขั้นต่ำในการติด 
  • มีรถจำนวน 15 คัน 
  • เป็นป้ายติดร่วมกับป้ายอื่น ไม่สามารถจองติดเดี่ยวทั้งคันได้
  • ขนาด 1.80 x 0.40 เมตร
  • อาจเรียกเก็บเพิ่ม*

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจเคยรายงานไว้ในช่วงกลางปี 2561 ที่กำลังเป็นช่วงที่แฟนคลับมีความนิยมลงขันเช่าป้ายในพื้นที่รถไฟฟ้าใต้ดินนั้น ระบุว่า อัตราค่าใช้จ่ายจัดทำป้ายโฆษณาหรือค่าเช่าโฆษณาต่อเดือนของป้าย 3 ขนาด มีราคาดังนี้

  • ขนาดใหญ่มีความกว้าง 6.12 x 2.12 เมตร ราคาอยู่ที่ 54,000 บาท 
  • ขนาดกลางมีความกว้างอยู่ที่ 3.06 x 1.56 เมตร ราคาอยู่ที่ 48,500 บาท
  • ขนาดเล็กมีราคาอยู่ที่ 15,000 บาท 

ราคาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับทำเลของสถานี จองล่วงหน้าได้ไม่เกิน 2 เดือน เช่าป้ายมีระยะเวลา 1 เดือน 

Bangkok MRT COVID-19 Social Distancing รถไฟฟ้าใต้ดิน
ภาพจาก Shutterstock

รายได้สื่อโฆษณา MRT คิดเป็นสัดส่วน 5% ของธุรกิจหลัก แต่รายได้หลักมาจากการบริหารค่าทางด่วน

ถ้าพูดถึงรายได้สื่อโฆษณา MRT หรือรถไฟฟ้าใต้ดินนี้ เป็นรายได้ส่วนย่อยที่อยู่ภายใต้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM (Bangkok Expressway and Metro) ซึ่ง BEM ก่อตั้งในปี 2015 เป็นการควบรวมกิจการของบริษัททางด่วนกรุงเทพจำกัด (บริษัทร่วมของ บมจ. ช.การช่าง) และ บมจ. รถไฟฟ้ากรุงเทพ

ธุรกิจของ BEM มี 4 ประเภท คือ ทางพิเศษในเขต กทม. และปริมณฑลระยะทางรวม 88 กิโลเมตร, บริการรถไฟใต้ดิน (MRT) มีระยะทางรวม 70 กิโลเมตร จำนวน 54 สถานี, การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และสื่อโฆษณาในสถานี MRT ในเครือข่ายรถไฟฟ้ากรุงเทพหรือ BMN และการลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภค คือ บมจ. TTW และ บมจ. CK Power

รายได้ของ BEM แบ่งได้ดังนี้ 

  • BEM เป็นผู้ให้บริการทางพิเศษครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เส้นทางเหล่านี้คิดเป็น 65% ของรายได้หลักทั้งหมดของบริษัท 
  • ธุรกิจรถไฟฟ้าใต้ดินคิดเป็น 30% ของรายได้ทั้งหมด ปัจจุบันให้บริการ 2 เส้นทางคือรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง เอกชนรับสัมปทานจัดเก็บรายได้จากการบริการทั้งหมดและจ่ายตอบแทนคืนรัฐตามที่ตกลง 
  • บริษัทและบริษัทย่อย (BMN) ปล่อยพื้นที่ให้เอกชนใช้ในการพาณิชย์และการโฆษณาในพื้นที่ โดยการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Development: CD) สร้างรายได้เป็นสัดส่วน 5% (ปี 2018)

รายได้หลักของบริษัท BEM มาจากการดำเนินงานทางพิเศษภายใต้สัมปทาน 30 ปี สิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 จากรายงาน BEM: ผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนที่กำลังจะเติบโต ระบุไว้ว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงการบริหารของพรรคการเมืองที่รับผิดชอบอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งจะมีผลต่อการสัมปทาน

ผลการประชุมของ ครม. ชุดปัจจุบันในช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็สรุปว่าเห็นชอบให้มีการต่อสัมปทาน BEM บริหารค่าผ่านทางด่วน 3 ฉบับเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน สิ้นสุด 31 ตุลาคม 2578 ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกกับการยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นทั้งหมดรวม 17 คดี

ภาพจาก Shutterstock

รายได้สื่อโฆษณาใน BTS เป็นอย่างไร?

เมื่อพูดถึงรายได้สื่อโฆษณา BTS ก็เป็นธุรกิจที่แตกออกมาจากการก่อตั้งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสรายแรกในไทยเมื่อปี 2533 มีผู้ก่อตั้งคือคีรี กาญจนพาสน์ 

จากนั้นในปี 2541 กวิน กาญจนพาสน์ ลูกชายของคีรีก็สร้างธุรกิจสื่อโฆษณาสำหรับรถไฟฟ้า BTS จึงก่อตั้งบริษัท วีจีไอ (VGI) ซึ่งปี 2542 วีจีไอได้รับสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในการบริหารพื้นที่โฆษณาและพื้นที่เชิงพาณิชย์บนเครือข่ายบีทีเอสทั้งหมด สิทธิ์นี้หมดอายุเดือนธันวาคม 2572 จากนั้นจึงขยายธุรกิจสื่อโฆษณาไปยังรถโดยสารประจำทาง BRT ทั่ว กทม. ในปี 2553

รายได้ของ VGI แบ่งได้ดังนี้

    • ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน ที่แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 
      • สื่อโฆษณาในระบบขนส่งมวลชน 
      • สื่อโฆษณากลางแจ้ง 
      • สื่อโฆษณาในอาคารและสำนักงานอื่นๆ 
  • ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล 
ปี 2560/61 ปี 2561/62 ปี 2562/63
รายได้จากบริการ 3,936 ล้านบาท 3,611 ล้านบาท 4,000 ล้านบาท
ธุรกิจสื่อโฆษณานอกบ้าน
สื่อโฆษณาขนส่งมวลชน 2,262 ล้านบาท 2,405 ล้านบาท 2,184 ล้านบาท (-9.2% YOY)
สื่อโฆษณากลางแจ้ง 958 ล้านบาท 265 ล้านบาท 294 ล้านบาท (+11.1% YOY) 
สื่อโฆษณาในอาคารฯ 338 ล้านบาท 412 ล้านบาท 371 ล้านบาท  (-9.9% YOY)
ธุรกิจบริการดิจิทัล 378 ล้านบาท 529 ล้านบาท 1,151 ล้านบาท (+117.5% YOY)

 

บริษัท VGI พลิกธุรกิจในช่วงปี 2560 จากการให้เช่าพื้นที่สื่อโฆษณา กลายเป็นผู้ให้บริการ Offline-to-Online (O2O) ผ่านแพลตฟอร์มธุรกิจสื่อโฆษณา บริการชำระเงินและโลจิสติกส์แบบ ecosystem ทำให้ปี 2562/2563 สร้างรายได้อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 1,424 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.8% YOY 

อย่างไรก็ดี แนวโน้มสำหรับปี 2563/2564 คาดว่าธุรกิจสื่อโฆษณาของ VGI จะได้รับผลกระทบจากโควิดระบาด สื่อออนไลน์จะได้รับผลบวกมากขึ้น ธุรกิจชำระเงินทั้งออฟไลน์และออนไลน์จะได้รับผลกระทบที่มีผู้โดยสาร BTS ลดลง ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์ผ่านการบริหารของ Kerry Express คาดว่าจะเติบโตหลังคนหันมาใช้บริการอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

Photo by Lauren Kay on Unsplash

สรุป 

รายได้บริษัทแม่ที่ดูแล MRT ส่วนใหญ่รายได้หลักมาจากการบริหารการทางพิเศษไม่ใช่รายได้จากสื่อโฆษณา ขณะเดียวกัน BTS ก็มีรายได้สื่อโฆษณาขนส่งมวลชนมีทิศทางลดลง เหตุผลสำคัญมาจากโควิดระบาด อีกทั้งคนลดการใช้งานลงด้วย แต่รายได้ใหม่ที่เป็นธุรกิจดิจิทัลก็พลิกมาเป็นบวกเติบโตอย่างก้าวกระโดดเกิน 100% ทำให้ได้กำไรและมีรายได้สูงกว่าที่เคยมีมา 

การกระจายรายได้ของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีน่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจรายย่อยที่มีรายได้ไม่มากนักหากเทียบกับการเช่าพื้นที่ใน MRT และ BTS ที่ต้องเสียค่าเช่าในจำนวนมาก อีกทั้ง รถตุ๊กตุ๊กยังถือเป็นสัญลักษณ์หลักที่นักท่องเที่ยวมักจะนึกถึงเมืองไทยเสมอ เหมือนที่เรามักจะคุ้นตากับสัญลักษณ์รถตุ๊กตุ๊กที่ส่วนใหญ่คนนำมาขายเป็นของที่ระลึกว่ามาจากเมืองไทย และครั้งหนึ่งที่มีการประกวด Miss Universe ประจำปี 2015 ก็เคยได้รางวัลชนะเลิศชุดแต่งกายประจำชาติเป็นชุดตุ๊กตุ๊ก ไทยแลนด์มาแล้ว

ที่มา – BEM, ประชาชาติธุรกิจ, กรุงเทพธุรกิจ, VGI (1), (2)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/korean-artist-fan-club-shift-to-promote-at-tuk-tuk/

อ่านเกม Metro Mall มากกว่าพื้นที่ค้าปลีกใน MRT แต่เป็น Rest Area ให้คนกรุง

เมื่อ Metro Mall กลายเป็นอีกหนึ่งเกมรุกของรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT จุดรวมร้านค้าปลีก เพิ่มทราฟิกให้เข้าสถานีมากขึ้น กลายเป็นจุด Rest Area ที่ตอบโจทย์คนกรุงได้ครบ

เทรนด์การใช้ชีวิตกับการเดินทางมาแรง Metro Mall จึงมีที่ยืน

คนกรุงที่ได้สัญจรด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินอยู่เป็นประจำ คงจะคุ้นเคยกับ Metro Mall หรือพื้นที่ค้าปลีกภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT บริหารงานโดย บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด หรือ BMN ได้หมายมั่นปั้นมือให้เป็นแม็คเน็ตที่ดึงคนเข้าสถานีให้มากขึ้น

จริงๆ แล้ว Metro Mall ได้มีมาเป็น 10 แล้ว แต่เดิมจะเป็นในส่วนของร้านค้า SME และร้านขายอุปกรณ์ไอที แก็ดเจ็ตเสียมากกว่า จนเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมานี้ได้ทำการรีแบรนด์ และรีโนเวทปรับโฉมใหม่ เพิ่มร้านค้าให้มากขึ้น จนมีทราฟิกผู้ใช้บริการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

Metro Mall ได้เปิดใน 11 สถานีของ MRT ได้แก่ คลองเตย, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, สุขุมวิท, เพชรบุรี, พระราม 9, ศูนย์วัฒนธรรม, รัชดาภิเษก, ลาดพร้าว, พหลโยธิน, จตุจักร และกำแพงเพชร หลักการเลือกที่จะเปิดก็ดูทราฟิกคนใช้บริการ และกลุ่มเป้าหมายในระแวกนั้นว่ามีศักยภาพมากแค่ไหน

ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด ผู้ที่เข้ามารีโนเวท Metro Mall ให้มีสีสันมากยิ่งขึ้น ได้เล่าว่า

“จริงๆ Metro Mall เปิดมาแล้ว 10 ปี แต่เริ่มมาบุกจริงจังเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ผมเข้ามาบริหาร ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในตลาดอย่างมาก เห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป มีการใช้ชีวิตกับรถไฟฟ้าอยู่ตลอด เป็นเทรนด์การใช้ชีวิตกับการเดินทาง

ในยุคแรกๆ ใน Metro Mall จะมีร้าน SME และร้านขายแก็ดเจ็ตต่างๆ แต่คิดว่าไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค ยุคนี้ต้องเรื่องอาหารการกิน ซึ่งก็มี Lawson108 กับ Cafe Amazon ที่เป็นพาร์ทเนอร์ตั้งแต่แรกเริ่ม เปิดทุกสาขา ตอนนี้ก็พยายามเพิ่มร้านอาหารมากขึ้น”

ณัฐวุฒิบอกว่า ได้มอง Role Model ของพื้นที่ค้าปลีกในรถไฟฟ้าใต้ดินก็คือประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีในส่วนของร้านอาหารเยอะมาก ซึ่งมีการเติบโตสูง ต้องปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

เมื่อมีการปรับเปลี่ยน รีโนเวทใหม่ ก็ทำให้ Metro Mall มีทิศทางในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2016 เติบโต 40% และในปี 2018 เติบโตถึง 50%

เป็น Rest Area ที่มากกว่าห้างฯ เปิดเร็ว มีห้องน้ำ พร้อมไวไฟ

ปัจจุบัน Metro Mall มีพื้นที่สำหรับค้าปลีกรวมทั้งหมด 10,000 ตารางเมตร เฉลี่ยสถานีละ 1,000 ตารางเมตร มีบางสถานีที่ยังเปิดเพียงแค่บางส่วนเท่านั้นอย่าง ลาดพร้าว รัชดา และศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในช่วงรีโนเวทได้ทำการเพิ่มร้านอาหารใหม่ๆ ร้านกาแฟ เบเกอรี่ ร้านอาหารแบบ Grab & Go รวมถึงร้านค้าไลฟ์สไตล์ต่างๆ เพิ่มห้องน้ำ และอินเตอร์เน็ตไวไฟ

ณัฐวุฒิบอกว่า ในอดีตนั้น Pain Point สำคัญที่ทำให้ Metro Mall ยังไม่แจ้งเกิด เพราะยังจับจับความต้องการของผู้บริโภคไม่ได้ ยังเป็นภาพเทาๆ รวมถึงผู้บริหารของแบรนด์ต่างๆ ที่เป็นพาร์ทเนอร์อาจจะไม่ได้ใช้บริการ MRT ไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค Awareness ในตลาดเลยน้อย แต่ตอนนี้ผู้บริโภคเริ่มเข้าใจมากขึ้น

ซึ่งทาง BMN ได้พยายามสร้างจุดยืนให้ Metro Mall เป็น Rest Area จุดพักคอยเพื่อตอบโจทย์คนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน รวมถึงคนอื่นๆ แต่มีจุดแข็งที่มากกว่าห้างคือเปิดตั้งแต่ 6.30-21.00 น. มีพื้นที่นั่ง มีห้องน้ำ และไวไฟฟรี

กลายเป็นว่า Metro Mall นั้นทำให้แบรนด์ต่างๆ ที่มาเป็นพาร์ทเนอร์เปิดร้านในโมเดลใหม่ๆ เพื่อจับกลุ่มคนที่เดินทางรถไฟฟ้าจริงๆ ล่าสุดร้าน A&W ก็ออกโมเดล A&W Express เป็นรูปแบบ Grab & Go รับประทานอาหารได้ง่าย ถ้ามาเปิดแบบร้านใหญ่ๆ ทีเปิดในห้างก็ไม่รอดเช่นกัน เพราพฤติกรรมต่างกัน

ชากาแฟขายดีสุด สถานีพระรามเก้าทราฟิกดีสุด

ทำให้ในตอนนี้ Metro Mall มีสัดส่วนร้านค้าแบ่งเป็น อาหาร 60% แฟชั่น 10% SME 10% และอื่นๆ เช่น สถาบันการเงิน ร้านตัดผม ทำเล็บ ทำผม 20%

ได้ทำการเพิ่มพาร์ทเนอร์รายใหม่ๆ อย่างตอ่เนื่อง เช่น สตาร์บัคส์, กูร์เมต์ มาร์เก็ต, ราเม็งบอย สิ่งที่มองหาเพื่อมาตอบโจทย์เพิ่มเติมก็คือกลุ่มสถาบันการเงิน เพื่อให้ผู้บริโภคสะดวกมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารในรูปแบบ Grab & Go แต่อยากได้กลุ่มอาหารไทยเข้ามามากขึ้นเช่นกัน เน้นร้านค้าที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันในทุกๆ วัน

ถ้าพูดถึงทราฟิกผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT 5 สถานีที่มีผู้ใช้มากที่สุด ได้แก่ สุขุมวิท พระรามเก้า เพชรบุรี จตุจักร และสีลม อย่างสถานีสุขุมวิทมีทราฟิกเฉลี่ย 80,000-90,000 คน/วัน มีสัดส่วนคนใช้บริการ Metro Mall 25% เติบโตเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการรีโนเวท จากแต่ก่อนมีสัดส่วนใช้บริการแค่ 10% เท่านั้น

ส่วนสถานีพระราม 9 มีทราฟิกการใช้บริการ Metro Mall มากที่สุด เพราะมีทางเชื่อมทั้งศูนย์การค้า และอาคารสำนักงานต่างๆ มีทราฟิกเข้าสถานี 50,000 คน แต่เข้าใช้บริการ Metro Mall 20,000 คน

ส่วนแผนในปีนี้ได้เตรียมรีโนเวท Metro Mall สถานีจตุจักร ใช้งบลงทุน 25 ล้านบาท มีแผนที่จะรีโนเวทสถานีพหลโยธินเพิ่มเติมด้วย ส่วนในปีหน้ามีแผนที่จะเปิดพื้นที่ในสถานีลาดพร้าวเพิ่มเติม หลังจากที่เปิดกูร์เมต์ มาร์เก็ตไป รวมถึงสถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย

เป้ารายได้ 650 ล้าน เข้าตลาดอีก 3 ปี

ปัจจุบัน BMN มีสัดส่วนรายได้ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1. โฆษณา 60% 2. ให้บริการโครงข่ายและติดตั้งอุปกรณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคมภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT 30% และพื้นที่ค้าปลีก 10% ซึ่งรายได้จากค้าปลีกเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 3 ปีก่อนมีสัดส่วน 5-6% มีการตั้งเป้าให้มีสัดส่วน 10-20% ในอนาคต

ตอนนี้ MRT มีทราฟิกรวม 350,000 เที่ยว/วัน หรือคิดเป็น 700,000 ครั้งในการแตะบัตรเข้าระบบ ปีหน้าจะเปิดสายหัวลำโพง-บางแค ยิ่งทำให้ีผู้โดยสารมากขึ้น คาดว่าจะเพิ่มทราฟิกเป็น 500,000 เที่ยว/วัน

ในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 650 ล้านบาท และมีการศึกษาในการพาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอีก 3 ปีข้างหน้านี้

สรุป

ธุรกิจค้าปลีกยังไม่ตาย เพียงแค่เปลี่ยนรูปแบบไปตามแพลตฟอร์มต่างๆ ยังอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคตลอดเวลา ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้อยู่กับการเดินทาง การที่ Metro Mall ทำการบ้าน แล้วจับตลาดอย่างจริงจัง จะทำให้มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/metro-mall-retail-space-bmn/

ไขรหัส! ป้าย HBD นักร้องเกาหลีใน MRT มีที่มาอย่างไร แค่หมื่นบาทก็มีป้ายได้!

เมื่อป้ายโฆษณาในรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT ได้แปลงร่างกลายเป็นป้ายสำหรับอวยพรวันเกิดให้บรรดาศิลปินเกาหลี เทรนด์นี้มีที่มาอย่างไร เราจะพาไปหาคำตอบ

ที่มา https://pantip.com/topic/37412966

เทรนด์มาจากเกาหลี เริ่มกระจายสู่นักร้องไทย

ใครที่เดินทางสัญจรด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT เป็นประจำคงจะเคยได้เห็นป้ายโฆษณาต่างๆ ในระบบรถไฟฟ้าที่เต็มไปด้วยแบรนด์ต่างๆ แต่ความน่าสนใจคือในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เริ่มเห็นป้ายโฆษณาเปลี่ยนเป็นป้ายสำหรับอวยพรวันเกิดแก่ศิลปินเกาหลีกันถ้วนหน้า

ไม่ว่าจะป้ายเล็กหรือป้ายใหญ่ เหล่าบรรดาแฟนคลับต่างยอมควักกระเป๋าเพื่อที่จะได้สื่อในการอวยพรศิลปินที่ตัวเองชอบ

ถ้าถามว่าทำไมอยู่ดีๆ ป้ายโฆษณาในรถไฟฟ้าใต้ดินจึงกลายเป็นพื้นที่ได้แสดงความรักของแฟนคลับมากมายขนาดนี้ ต้องบอกว่าเทรนด์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเกาหลี แฟนคลับที่เกาหลีก็นิยมอวยพรศิลปินผ่านป้ายโฆษณานอกบ้านทั้งในระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือป้ายสื่อนอกบ้าน จอใหญ่ จอดิจิทัล

ที่มา https://pantip.com/topic/35948537

เทรนด์นี้ก็ได้แผ่เข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงแรกก็เห็นแต่ป้ายอวยพรวันเกิดนักร้องเกาหลีอย่างเดียว แต่ในปัจจุบันเริ่มได้เห็นนักร้องไทย ศิลปินไทยเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน หรือแม้แต่ BNK48 ก็มี

ณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์  จำกัด ได้เล่าถึงปรากฎการณ์นี้ว่า

“เทรนด์นี้ได้เริ่มเห็นมาแล้ว 2 ปี มีทิศทางโตขึ้นเรื่อยๆ เป็นวัฒนธรรมที่มาจากประเทศเกาหลี เขามองว่าเป็นจุดรวมตัวของแฟนคลับ เป็นจุดที่แสดงความรักต่อศิลปินได้ ซึ่งสื่อในรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าถึงคนได้ง่าย สร้างอิมแพ็คได้ดี เลือกโลเคชั่นลงได้ด้วย”

ควักกระเป๋าแค่หมื่นเดียวก็มีป้ายแล้ว

ที่สำคัญคือราคาในการซื้อสื่อโฆษณาใน MRT ไม่ได้แพงอย่างที่คิด เริ่มต้นแค่ 10,000 บาท ก็ได้ป้ายอวยพรวันเกิดศิลปินที่ตัวเองชอบได้แล้ว ราคาสูงสุดมีถึง 50,000 บาท

โดยราคาจะขึ้นอยู่กับสถานี และขนาด สามารถอยู่ได้ 1 เดือน สถานียอดนิยมที่สุดได้ได้สุขุมวิท พระรามเก้า เพชรบุรี และจตุจักร

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของป้ายอวยพรวันเกิดศิลปินที่สร้างผลดีให้แก่ MRT ก็คือ ได้ภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัยขึ้น เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้มากขึ้น แถมยังได้ฟรีมีเดียในการแชร์ต่อกันบนโลกออนไลน์ เพรามีแฟนคลับช่วยกันแชร์ผลงานของตัวเองอยู่แล้ว

สรุป

ป้ายโฆษณาไม่จำเป็นต้องโฆษณาสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเป็นสื่ออะไรก็ได้ที่เข้าถึงผู้บริโภค ซึ่งการที่กลายเป็นป้ายโฆษณาอวยพรวันเกิดก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ในการสร้างอิมแพ็คได้อย่างเต็มที่

ที่มาภาพ Pantip1, Pantip 2

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

from:https://brandinside.asia/bilbboards-hbd-singer-mrt/